ไม่พบผลการค้นหา
นสพ.ออสเตรเลียเผยข้อมูลบ่งชี้ว่า 'ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า' รมช.รัฐบาลประยุทธ์ 2 เคยติดคุกที่ซิดนีย์ในข้อหา 'ลักลอบขนเฮโรอีน' ระบุ เป็นการสอบสวนเพิ่มหลัง ร.อ.ธรรมนัส ท้าสื่อมวลชนให้ตรวจสอบหลักฐานต่างๆ จากศาลของออสเตรเลียว่าสิ่งที่ตนเองพูดเป็นความจริงหรือไม่

ไมเคิล รัฟเฟิลส์ บรรณาธิการข่าว และไมเคิล เอแวนส์ บรรณาธิการข่าวสืบสวนสอบสวนของหนังสือพิมพ์ซิดนีย์ มอร์นิง เฮรัลด์ (SMH) สื่อออสเตรเลีย รายงานผลการสอบสวนข้อมูลเพิ่มเติมกรณี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ผู้เคยเกี่ยวพันกับคดียาเสพติดในออสเตรเลีย กลายเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในรัฐบาลชุดปัจจุบันของไทย

ทั้งนี้ บทความชื่อ From sinister to minister: politician's drug trafficking jail time revealed (จากผู้ร้ายกลายเป็นรัฐมนตรี: เปิดโปงโทษจำคุกคดียาเสพติดของนักการเมือง) ระบุว่าเป็นการสอบสวนข้อมูลเพิ่มเติมจากคำกล่าวของ ร.อ.ธรรมนัส ที่ยืนยันว่าตนเองไม่ได้รู้เห็นกับการขนยาเสพติดเข้าประเทศออสเตรเลีย แต่ SMH ระบุว่า ร.อ.ธรรมนัส ถูกดำเนินคดีและตัดสินลงโทษจำคุก 4 ปีในซิดนีย์ด้วยข้อหาลักลอบขนยาเสพติด

SMH สืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับการจับกุมและการดำเนินคดียาเสพติดในซิดนีย์ ช่วงปี 1993 กล่าวอ้างว่า ร.อ.ธรรมนัส ใช้ชื่อในขณะนั้นว่า 'มนัส โบพรหม' (Manat Bophlom) โดยเปรียบเทียบจากสัญชาติ อายุ วัน-เดือน-ปีเกิด ช่วงเวลาที่เดินทางเข้าและออกจากประเทศออสเตรเลีย รวมถึงระยะเวลา 4 ปีที่ ร.อ.ธรรมนัส (ชื่อและยศปัจจุบัน) ระบุว่าใช้ชีวิตตามปกติอยู่ในออสเตรเลียก่อนจะเดินทางกลับประเทศไทย สอดคล้องกับผู้ต้องหาชายรายนี้ที่ปรากฏในรายงานข่าวของสื่อออสเตรเลีย โดยชายคนดังกล่าวถูกตัดสินจำคุก 4 ปี ที่เรือนจำพาร์คลีย์ของนครซิดนีย์ ในข้อหาร่วมกันลักลอบขนเฮโรอีนเข้าประเทศ

รายละเอียดเพิ่มเติมของคดีระบุว่า 'มนัส' วัย 27 ปี เป็นทหารยศร้อยตรีจากกรุงเทพฯ ถูกนำตัวขึ้นศาลแขวงรัฐนิวเซาท์เวลส์เมื่อวันที่ 16 เม.ย.1993 พร้อมกับ 'ศรศาสตร์ เทียมทัศน์' ชายวัย 39 ปี สัญชาติไทย นายแซม แคลาบรีส ชาวออสเตรเลียจากบอนไดบีช และนายมาริโอ คอนสแตนติโน จากร็อกเดล ในคดีที่พวกเขาถูกจับกุม ข้อหาร่วมกันลักลอบขนยาเสพติดเข้าออสเตรเลีย และพบของกลางเป็นเฮโรอีน 3.2 กิโลกรัม มูลค่าราว 4.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในห้องพักโรงแรมแห่งหนึ่งที่ซิดนีย์

https://static.ffx.io/images/$zoom_0.384%2C$multiply_1.35%2C$ratio_1.5%2C$width_756%2C$x_17%2C$y_32/t_crop_custom/w_1024/q_86%2Cf_auto/9680c37e1ba2cc69fdebfbcbefd643770f82c7f1

SMH รายงานอ้างอิงข้อมูลของศาลออสเตรเลีย ซึ่งระบุว่าเป็นคำให้การของ ร.ต.มนัส เพื่อแลกเปลี่ยนกับการผ่อนผันโทษ โดยระบุว่า เขาเคยทำงานเป็นผู้อารักขาสมาชิกราชวงศ์ของไทย เคยเป็นสายลับทหาร ใช้ชื่อว่า 'ยุทธภูมิ โบพรหม' และทำธุรกิจอื่นเพื่อหารายได้พิเศษในช่วงที่ช่วยงานนายทหารชั้นนายพลคนหนึ่ง ทั้งยังระบุชื่ออดีตนายทหาร 3 ราย คือ วีระ, มานพ และพิศาล แต่ไม่ได้บอกนามสกุล ในฐานะเป็นผู้มีส่วนรู้เห็นในการลักลอบขนยาเสพติดครั้งนั้นด้วย

แม้ ร.ต.มนัสจะให้การว่าเขาไม่รู้ด้วยว่าสิ่งที่นำเข้ามาในออสเตรเลียเป็นเฮโรอีน แต่เอกสารประกอบการสืบสวนของศาลออสเตรเลียระบุว่า เขาเป็นผู้จัดหาหลักในไทย เพื่อให้ได้มาซึ่งเฮโรอีนที่จะส่งไปยังออสเตรเลีย และมีส่วนร่วมกับนายศรศาสตร์ดำเนินการเรื่องวีซ่าและซื้อตั๋วเครื่องบินของสายการบินแควนตัสให้กับผู้หญิงไทยอีกคนหนึ่งซึ่งเป็นผู้รับหน้าที่ลอบขนเฮโรอีนเข้าประเทศออสเตรเลีย และเป็นผู้ช่วยเหลือในการนำยาเสพติดไปส่งให้แก่ผู้ซื้อชาวออสเตรเลียที่โรงแรมในย่านบอนไดบีช

ผู้หญิงที่รับขนยาเสพติดในเหตุการณ์ที่นำไปสู่การจับกุม ร.ต.มนัส และนายศรศาสตร์ ชื่อว่า 'ปา' หรือ 'ภา' (Pa) โดยการขนส่งเฮโรอีนเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 8 เม.ย.1993 ซึ่งศรศาสตร์เป็นผู้เดินทางไปยังออสเตรเลียเป็นคนแรก และได้เข้าพักที่โรงแรมพาเลจ บอนได ในนครซิดนีย์ หลังจากนั้นสองวัน Pa จึงเดินทางไปยังออสเตรเลีย แต่ศรศาสตร์ไม่พบเธอที่สนามบิน จึงได้โทรศัพท์ไปคุยกับ ร.ต.มนัสที่ยังอยู่ประเทศไทย 

ในเวลาต่อมา ผู้หญิงชื่อ Pa ได้ติดต่อกลับไปยังศรศาสตร์ โดยระบุว่าเธอเข้าพักที่โรงแรมกาซีโบในย่านคิงส์ครอส แต่ของที่ขนมาด้วยอยู่ในห้อง 713 โรงแรมพาร์ครอแยล ในย่านดาร์ลิงฮาร์เบอร์ ซึ่งในช่วงที่ของไม่ได้อยู่กับปานี้เองที่ตำรวจออสเตรเลียมีโอกาสแกะรอยและติดตั้งอุปกรณ์ดักฟังในกระเป๋าบรรจุเฮโรอีนที่เป็นของกลาง

9พรรคเล็ก ธรรมนัส
  • ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นหนึ่งใน ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ

เมื่อศรศาสตร์ไปพบกับ Pa เขาได้รับกุญแจห้องและกล่องไม้ขีด ซึ่งระบุที่อยู่ของโรงแรมพาร์ครอแยล และในวันที่ 14 เม.ย.1993 ร.ต.มนัสเดินทางมาถึงออสเตรเลียเป็นคนที่ 3 ส่วนอดีตทหารชื่อ 'มานพ' หนึ่งในผู้สมรู้ร่วมคิดที่สำคัญอีกรายหนึ่ง เปลี่ยนใจไม่ไปออสเตรเลีย หลังจากศรศาสตร์ไม่พบผู้หญิงชื่อปาที่สนามบิน

หลังจากที่ศรศาสตร์พบกับ ร.ต.มนัส ที่โรงแรมพาเลจ ทั้งสองคนได้ขึ้นรถแท็กซี่ไปยังโรงแรมพาร์ครอแยลเพื่อไปรับของที่ Pa ขนมา และ ร.ต.มนัสเป็นผู้เข้าไปเอากระเป๋ายาเสพติดที่ซ่อนไว้ใต้เตียงในห้อง 713 มาไว้กับตัว จากนั้นทั้งสองคนจึงย้อนกลับไปที่โรงแรมพาเลจ และข้อความที่ตำรวจออสเตรเลียดักฟังในตอนนี้บ่งชี้ว่า ร.ต.มนัสพูดกับนายศรศาสตร์ว่า "ของอยู่กับเรานานๆ แบบนี้ไม่ดีแน่"

ตำรวจออสเตรเลียรอจนกระทั่งคอนสแตนติโนและแคลาบรีสมาถึงจุดนัดพบกับ ร.ต.มนัสและศรศาสตร์ ทั้งหมดพูดคุยกันอยู่พักหนึ่ง จนกระทั่งหลังเที่ยงคืนวันดังกล่าว เจ้าหน้าที่ทีมปฏิบัติการโดรฟเวอร์ ซึ่งติดตามความเคลื่อนไหวของคนทั้งหมดมานานกว่าสัปดาห์ จึงได้นำกำลังบุกเข้าไปในห้องพักเพื่อจับกุม พร้อมแจ้งข้อหาแก่ ร.ต.มนัส, ศรศาสตร์, คอนสแตนติโน และแคลาบรีส ในข้อหาสมคบกันนำเข้าเฮโรอีน และไม่อนุญาตให้ประกันตัว 

กระบวนการไต่สวนดำเนินการอยู่นานหลายเดือน โดยนายศรศาสตร์รับสารภาพเป็นคนแรกในเดือน พ.ย.1993 ขณะที่ ร.ต.มนัสยืนยันว่าจะต่อสู้ในชั้นศาล แต่เมื่อมีการเสนอบทลงโทษจำคุก 9 ปี ร.ต.มนัสจึงได้ยินยอมให้ปากคำที่เป็นประโยชน์ต่อการสอบสวนคดีของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และยอมรับสารภาพ โดยระบุว่าจะให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับอดีตนายทหารที่ชื่อ 'วีระ' โดยอ้างว่าวีระเกี่ยวพันกับการสั่งฆ่าคน

ในที่สุด ศาลพิพากษาจำคุก ร.ต.มนัสและนายศรศาสตร์เป็นเวลา 6 ปี โดยกำหนดให้จำคุกแบบห้ามปล่อยตัวก่อนกำหนดเป็นเวลา 4 ปี ขณะที่คอนสแตนติโนถูกลงโทษจำคุก 2 ปี 6 เดือน แต่แคลาบรีสพ้นข้อกล่าวหา เพราะให้การที่เป็นประโยชน์ต่อการสอบสวนคดี

แม้ว่า ร.ต.มนัสกับนายศรศาสตร์จะพยายามยื่นเรื่องอุทธรณ์คำตัดสินลงโทษดังกล่าว แต่ศาลอุทธรณ์ยกคำร้อง โดยให้เหตุผลว่ามีหลักฐานบ่งชี้ชัดเจนว่าจำเลยมีบทบาทในการขนเฮโรอีน และเป็นผู้จัดหาหลักในประเทศไทย

หลังจากจำคุกได้ 4 ปี ทั้งสองคนก็ได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำพาร์คลีย์เมื่อวันที่ 14 เม.ย.1997 และทางการออสเตรเลียสั่งเนรเทศออกนอกประเทศโดยทันที

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: