ไม่พบผลการค้นหา
เลขาธิการ คปภ. ลงนามในคำสั่งนายทะเบียนเพิ่มความคุ้มครอง ประกันภัยรถยนต์ทั้งภาคบังคับและภาคสมัครใจ มีผลบังคับใช้ 1 เม.ย.นี้ ภาคบังคับคุ้มครอง 200,000-500,000 บาท ส่วนภาคสมัครใจ 500,000-2,000,000 บาท พร้อมปรับปรุงเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยและพิกัดอัตราเบี้ยให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน

นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เป็นประธานเปิดการประชุมชี้แจงการปรับปรุงกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์และคู่มือตีความกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ครั้งที่ 1 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำความเข้าใจ ในแนวทางปฏิบัติให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งจาก สำนักงาน คปภ. และบริษัทประกันวินาศภัย

เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า การประกันภัยรถยนต์มีบทบาทสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการขับเคลื่อนธุรกิจประกันวินาศภัยของไทย ดังจะเห็นได้จากเบี้ยประกันภัยรับตรงต่อปีมีมูลค่ามากกว่าแสนล้านบาท นับตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา หรือคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 60 หรือ 3 ใน 5 ของเบี้ยประกันภัยรับในธุรกิจประกันวินาศภัยทั้งระบบ แต่ปัจจุบันสภาวะเศรษฐกิจไทยเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ภาคธุรกิจประกันภัย มีการแข่งขันทางการค้าค่อนข้างสูง โดยเฉพาะธุรกิจประกันภัยรถยนต์ ซึ่งส่วนใหญ่จะเน้นทางด้านการตลาด และการบริการด้านสินไหมทดแทนที่จะต้องมีความถูกต้อง และรวดเร็ว โดยภาคธุรกิจประกันภัยพยายามที่จะพัฒนา รวมทั้งลดปัญหาและอุปสรรคในการปฏิบัติ เพื่อให้การชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้เอาประกันภัย รวมถึงการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้เอาประกันภัย ผู้ที่ได้รับประโยชน์ หรือคู่กรณี

ดังนั้น สำนักงาน คปภ. จึงได้บูรณาการความร่วมมือกับสมาคมประกันวินาศภัยไทย โดยเห็นชอบร่วมกันในการปรับปรุงกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์และคู่มือตีความกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ให้เหมาะสม เพื่อให้การพิจารณาค่าสินไหมทดแทนเป็นไปโดยถูกต้อง ชัดเจน ครบถ้วนและเป็นธรรม ตลอดจนเพื่อลดปัญหาข้อโต้แย้งระหว่างบริษัทประกันภัยและผู้เอาประกันภัย สำนักงาน คปภ. จึงได้มีคำสั่งสำนักงาน คปภ. ที่ 346/2562 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ และคู่มือตีความกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ เพื่อดำเนินการพิจารณาปรับปรุงข้อมูล สำหรับการปรับปรุงกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์และคู่มือตีความกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ให้เหมาะสมกับสภาวะปัจจุบัน และเป็นไปตามความเสี่ยงภัยที่แท้จริง

ผลจากการดำเนินงานข้างต้นนำไปสู่ข้อยุติร่วมกันในการปรับปรุงกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ โดยเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ตนในฐานะนายทะเบียนได้ลงนามคำสั่งนายทะเบียนที่ 10/2563 เรื่อง ให้ใช้แบบ ข้อความกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์รวมการคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถเอกสารประกอบ เอกสารแนบท้ายกรมธรรม์ประกันภัย และพิกัดอัตราเบี้ยประกันภัยรถยนต์ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 เม.ย. 2563

โดยสาระสำคัญของการปรับปรุงในครั้งนี้ คือ การเพิ่มความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ (พ.ร.บ.- ภาคบังคับ) กรณีเสียชีวิต ทุพพลภาพ และสูญเสียอวัยวะ จากเดิมที่คุ้มครอง 200,000 - 300,000 บาท เพิ่มเป็น 200,000 - 500,000 บาท แล้วแต่กรณี และการปรับเพิ่มความคุ้มครองการประกันภัยรถยนต์ (ภาคสมัครใจ) กรณีบุคคลภายนอกเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง โดยให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเต็มจำนวนเงินเอาประกันภัยสำหรับจำนวนเงินเอาประกันภัยตั้งแต่ 500,000-2,000,000 บาท สำหรับจำนวนเงินเอาประกันภัยส่วนที่เกินจาก 2,000,000 บาท ให้ชดใช้ตามความเสียหายที่แท้จริง

นอกจากนี้ ยังมีการปรับปรุงเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยและพิกัดอัตราเบี้ยประกันภัย เพื่อให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบันอีกด้วย อาทิเช่น การกำหนดรหัสรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า การกำหนดมาตรฐานราคาค่าซ่อมรถยนต์ รวมถึงการปรับปรุงข้อยกเว้นต่างๆ เป็นต้น

เลขาธิการ คปภ. กล่าวด้วยว่า การแก้ไขปรับปรุงเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยในครั้งนี้จะเกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชนโดยรวม ใน 3 ประการหลักๆ คือประการที่แรก เป็นการปรับปรุงเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ที่ใช้มานานกว่า 12 ปี ให้ทันสมัยเป็นปัจจุบัน และลดปัญหาความขัดแย้งในการตีความเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยประการที่สอง เป็นการเพิ่มความคุ้มครองในส่วนของชีวิต ร่างกาย ทั้งภาคบังคับและภาคสมัครใจ โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2563 เป็นต้นไป

และประการที่สาม มีการปรับปรุงคำอธิบายความในคู่มือตีความกรมธรรม์ประกันภัย ทั้งภาคบังคับและภาคสมัครใจให้มีความชัดเจนและเป็นธรรมต่อประชาชนผู้เอาประกันภัยและใช้เป็นคู่มือของประชาชนได้

ดังนั้น เพื่อเป็นการทำความเข้าใจให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งจาก สำนักงาน คปภ. และบริษัทประกันวินาศภัย ในการปฏิบัติตามกติกาใหม่ และเพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน สำนักงาน คปภ. ร่วมกับ สมาคมประกันวินาศภัยไทย จึงได้จัดการประชุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศจำนวน 5 ครั้ง เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจแก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องซึ่งครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งแรก