ไม่พบผลการค้นหา
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ชวนชมความงดงามดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์และดาวอังคาร เคียงดวงจันทร์ต้อนรับปี๋ใหม่เมือง 15–16 เม.ย. 2563 นี้ สังเกตได้ด้วยตาเปล่า

นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือ สดร. เปิดเผยว่าช่วงเช้ามืดของวันที่ 15 และ 16 เม.ย. 2563 จะเกิดปรากฏการณ์ "ดาวเคียงเดือน" โดยในวันที่ 15 เม.ย. 2563 เวลาประมาณ 01.30 น. ดาวพฤหัสบดีจะปรากฏเคียงดวงจันทร์ห่างกันประมาณ 3 องศาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ บริเวณกลุ่มดาวคนยิงธนู ช่วงเวลาเดียวกันยังมีดาวเสาร์ปรากฏถัดลงมาด้านล่าง สังเกตได้จนถึงรุ่งเช้าก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น

จากนั้นวันที่ 16 เม.ย. 2563 ดวงจันทร์จะเปลี่ยนตำแหน่งเคลื่อนลงมาเคียงดาวอังคารห่างกันประมาณ 4.6 องศาปรากฏบนท้องฟ้าทางทิศตะวันออกบริเวณกลุ่มดาวแพะทะเล ช่วงเวลาเดียวกันยังมีดาวเสาร์และดาวพฤหัสบดีปรากฏถัดสูงขึ้นไปเริ่มสังเกตได้ตั้งแต่เวลาประมาณ 02.20 น. จนถึงรุ่งเช้าก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น

ปรากฏการณ์ดาวเคียงเดือน เป็นปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์อย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นเป็นประจำเนื่องจากดวงจันทร์และดาวเคราะห์เปลี่ยนตำแหน่งไปเรื่อยๆ ตามคาบการโคจรรอบดวงอาทิตย์ ดังนั้นการที่ดวงจันทร์และดาวเคราะห์ปรากฏบนท้องฟ้าในทิศเดียวกันหรือเคลื่อนที่มาอยู่ในตำแหน่งใกล้เคียงกัน จึงถือเป็นเรื่องปกติสามารถอธิบายได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์

จึงอยากเชิญชวนผู้ที่สนใจตื่นเช้าร่วมชมความงดงามของปรากฏการณ์บนท้องฟ้าตามวันและเวลาดังกล่าวข้างต้นหากทัศนวิสัยท้องฟ้าดีสังเกตได้ด้วยตาเปล่าทุกพื้นที่ทั่วประเทศ