ไม่พบผลการค้นหา
หลัง รมว.เศรษฐกิจตบเท้า 'ลาออก' สื่อต่างชาติประเมิน ไทยอาจเจอเหตุขัดแย้งทางการเมืองรอบใหม่ รัฐบาลเล็งต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อ้างคุมโควิด-19 แต่มีการชุมนุมต่อต้านเกิดขึ้นหลายพื้นที่ ขณะที่รัฐหวังเปิดรับต่างชาติเพิ่ม เน้นท่องเที่ยวเชิงการแพทย์-ถ่ายภาพยนตร์

เว็บไซต์ CNBC รายงานข่าว Thailand is losing key economic ministers as country tries to recover from coronavirus-induced slump ระบุว่า รัฐบาลไทยเสียรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจไปหลายรายในช่วงหลายวันที่ผ่านมา ทั้งที่เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยจะฟื้นตัวหรือไม่ หลังจากต้องระงับกิจการหลายประเภทไปนานนับเดือน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 

CNBC รายงานอ้างอิงข้อมูลของนักวิเคราะห์แห่งบริษัทหลักทรัพย์ 'โนมูระ' ระบุว่าการลาออกของ 'สมคิด จาตุศรีพิทักษ์' ซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็นผู้ออกแบบนโยบายเศรษฐกิจให้กับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม อาจทำให้เกิดความไม่แน่นอนต่อนโยบายเศรษฐกิจ เพราะขณะนี้เป็นช่วงเวลาวิกฤตที่เศรษฐกิจไทยเสี่ยงต่อภาวะถดถอยอย่างหนัก

ขณะที่ 'แฮริสัน เฉิง' นักวิเคราะห์อาวุโสของบริษัทที่ปรึกษา 'คอนโทรลริสก์' ระบุว่า การปรับคณะรัฐมนตรีอาจส่งผลให้เกิดความแตกแยกหรือภาวะตึงเครียดทางการเมืองภายในพรรคร่วมรัฐบาล และกว่าจะตกลงกันได้ก็อาจต้องใช้เวลานานราว 2 เดือน แต่เชื่อว่า ท้ายที่สุดแล้วทุกฝ่ายจะตกลงกันได้ เพราะพรรครัฐบาลจะไม่ได้ประโยชน์อะไรเลยถ้าแตกหักภายในกันเอง 

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ของธนาคาร ANZ แห่งออสเตรเลีย มองว่า ไทยเผชิญกับความผันผวนทางการเมืองมาตลอด การลาออกของ รมว.เศรษฐกิจอาจสะท้อนความไม่ลงรอยทางการเมือง แต่ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร และแม้ว่า รมว.เศรษฐกิจจะจากไป แต่นโยบายเศรษฐกิจไทยก็จะยังพุ่งเป้าไปที่ความพยายามฟื้นฟูเศรษฐกิจเป็นหลัก

แฟลชม็อบ-เครือข่ายราชมงคล-ชุมนุม

ต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กระทบคนในประเทศ - แต่เปิดรับต่างชาติเพิ่มขึ้น

เว็บไซต์ The Straits Times รายงานข่าว Thailand set to extend state of emergency to end of August โดยระบุว่า รัฐบาลไทยจะขยายเวลาพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ต่อไปจนถึงสิ้นเดือน ส.ค.โดยย้ำว่าเพื่อป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 เนื่องจากไทยจะค่อยๆ ทยอยเปิดชายแดน และเปิดรับชาวต่างชาติให้เดินทางเข้ามาในประเทศเพิ่มขึ้นตามนโยบายฟื้นฟูการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ

สเตรทส์ไทม์สรายงานอ้างอิง พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) โดยระบุว่า รัฐบาลไทยจำเป็นต้องเปิดประเทศรับชาวต่างชาติเพิ่มขึ้น เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ จึงจำเป็นต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินจัดการกับสถานการณ์ในประเทศช่วงที่กำลังจะเปลี่ยนผ่านนโยบาย แต่ก็ย้ำว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินห้ามการชุมนุมสาธารณะของประชาชน

อย่างไรก็ตาม สเตรทส์ไทม์ส รายงานว่า ไทยไม่พบผู้ติดเชื้อในประเทศมานานต่อเนื่องนับเดือน จนกระทั่งพบผู้ติดเชื้อที่เป็นการนำเข้าเชื้อจากต่างประเทศรายล่าสุด คือ ทหารอียิปต์ที่แวะมายังไทยระหว่างฏิบัติภารกิจทางทหารในภูมิภาค โดยได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าประเทศแบบวีไอพี ทำให้ประชาชนจำนวนมากไม่พอใจ

ส่วนการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลที่นำโดยกลุ่มนักศึกษาได้เริ่มขึ้นครั้งแรกเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังมีคำสั่งล็อกดาวน์ ระงับการเดินทางและเคลื่อนย้ายของคนทั่วประเทศตั้งแต่เดือน มี.ค. เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยการชุมนุมวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลในกรุงเทพฯ มีผู้เข้าร่วมประมาณ 2,000 คน ทั้งยังมีการชุมนุมในจังหวัดอื่นๆ ทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนืออีกด้วย

สนามบินจีน_reuters

ต่างชาติลงทะเบียนมาไทยเพิ่ม - นำหน้าชาติอื่นๆ คือ 'จีน'

เว็บไซต์ Bloomberg เผยแพร่รายงาน Thailand to Extend Emergency Order While Allowing More Foreigners โดยระบุว่า ไทยต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ขณะเดียวกันก็จะอนุญาตชาวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศเพิ่มขึ้น โดยกลุ่มชาวต่างชาติที่จะพิจารณาอนุญาตให้เดินทางเข้าประเทศเป็นกลุ่มต่อไป คือ แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งเมียนมา ลาว และกัมพูชา ราว 100,000 คน

ส่วนชาวต่างชาติกลุ่มอื่นที่รัฐบาลจะผ่อนผันให้เดินทางเข้าประเทศได้ คือ นักท่องเที่ยวที่มีวัตถุประสงค์ในด้านการแพทย์ (Medical Tourism) นักธุรกิจ-นักลงทุน และกองถ่ายภาพยนตร์

บลูมเบิร์กรายงานว่า บริษัทที่ยื่นเรื่องขอเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ในไทย ได้แก่ Netflix มีภาพยนตร์รอถ่ายทำอย่างน้อย 7 เรื่อง และบริษัท Universal Studios Inc. ซึ่งมีกำหนดจะถ่ายทำภาพยนตร์ Mrs.Churchill’s War โดยมีนักแสดงชื่อดังอย่าง 'นิโคล คิดแมน' และ 'โคลิน เฟิร์ธ' เป็นผู้แสดงนำ โดยระยะเวลาการถ่ายทำจะอยู่ภายในช่วงเวลา 8 เดือนต่อจากนี้ ซึ่งจะส่งเสริมการลงทุนกว่า 1,700 ล้านบาท

ขณะที่ นิกเคอิเอเชี่ยนรีวิว รายงานข่าว Thailand attracts hordes of Chinese patients despite COVID โดยระบุว่า สถานการณ์โควิด-19 ไม่ได้ทำให้ชาวจีนที่สนใจท่องเที่ยวด้านการแพทย์หลีกเลี่ยงการเดินทางไปต่างประเทศ และไทยยังเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ชาวจีนอยู่เหมือนเดิม

ขณะนี้มีชาวต่างชาติอย่างน้อย 1,200 คน จาก 34 ประเทศทั่วโลก ยื่นเรื่องลงทะเบียนขอเดินทางเข้าประเทศไทย เพื่อเข้าร่วมโครงการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ รวมถึงเข้ารับการรักษาพยาบาลในไทย ซึ่งชาวต่างชาติเหล่านี้ระบุว่าจะเดินทางมายังไทยพร้อมด้วยสมาชิกครอบครัวรวมเป็น 1,500 คน

ในจำนวนชาวต่างชาติที่ลงทะเบียนเข้าไทยทั้งหมดในตอนนี้ 'ชาวจีน' ถือเป็นอันดับหนึ่ง เพราะมีชาวจีนมากกว่า 300 คน ยื่นเรื่องลงทะเบียนเพื่อรอคิวเดินทางเข้าประเทศไทยเพื่อร่วมโปรแกรมการแพทย์และส่งเสริมสุขภาพ แม้ว่าจะต้องเจอกับการตรวจร่างกายและกักตัวอย่างน้อย 2 สัปดาห์ และเงื่อนไขว่าจะต้องใช้จ่ายเงินในโครงการท่องเที่ยวขั้นต่ำ 500,000 บาท 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: