ไม่พบผลการค้นหา
งานวิจัยชี้ การชุมนุมกระทบเศรษฐกิจจริง แต่ไม่ใช่ปัจจัยเดียว ศก.ไทยตอนนี้ยังเสียหายจากมาตรการปิดประเทศไม่รับนักท่องเที่ยว ไปจนถึงนโยบายช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่ไม่ถึงมือผู้เดือดร้อนจริง

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เผยในแถลงการณ์การแพร่ระบาดโควิดระลอกใหม่ เมื่อวันที่ 17 ก.ย.ที่ผ่านมา มีใจความหลักระบุว่า ขณะนี้หลายประเทศกำลังเผชิญหน้ากับการระบาดระลอกที่ 2 ของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยเฉพาะฝั่งยุโรปรวมไปถึงเมืองใหญ่แห่งหนึ่งในออสเตรเลีย 

ด้วยเหตุดังกล่าว ตนเองในฐานะผู้นำประเทศ จึงอยากวิงวอนให้ประชาชนที่ต้องการออกไปชุมนุมละทิ้งแนวคิดดังกล่าวไปก่อนเพราะจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้กับสถานการณ์การดูแลโรคระบาดในประเทศ ไปจนถึงการทำลายเศรษฐกิจภาพรวมให้ตกต่ำลง ฟื้นตัวยากขึ้น กระทบความเป็นอยู่ของผู้ร่วมประเทศคนอื่นๆ 

"ผมขอใช้โอกาสนี้ พูดกับคนกลุ่มต่างๆ ที่อยากจะออกมารวมตัวกันประท้วงด้วยเหตุผลต่างๆ ของท่าน เมื่อเวลาที่ท่านมารวมตัวกัน ท่านกำลังเพิ่มความเสี่ยงอย่างมหาศาลที่จะทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิดระลอกใหม่ในประเทศไทย และขณะเดียวกัน ท่านกำลังเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำลายการทำมาหากินของคนไทยด้วยกันอีกสิบๆ ล้านคน การจุดชนวนการแพร่ระบาดโควิดให้เสี่ยงที่จะลุกโชนขึ้นมาอีกนั้นจะส่งผลกระทบที่เลวร้ายและทวีคูณปัญหาเศรษฐกิจให้กับประเทศไทย ไปสู่ระดับที่เรายังไม่เคยเจอมาก่อน ผมขอให้ทุกท่านคำนึงถึงเรื่องนี้ให้มาก" 

"การชุมนุมจะทำให้การฟื้นเศรษฐกิจเกิดความล่าช้าเพราะจะทำร้ายความเชื่อมั่นของนักธุรกิจและสร้างความลังเลใจให้กับนักท่องเที่ยวที่จะมาเมืองไทย เมื่อถึงเวลาที่เราพร้อมจะเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติอีกครั้งนึง การชุมนุมจะสร้างความวุ่นวายในประเทศ และทำลายสมาธิการทำงานของภาครัฐในการจัดการกับโควิด และปัญหาเศรษฐกิจปากท้องของประชาชน"


หันดูข้อมูลจากข้อเท็จจริง

คำกล่าวอ้างว่าม็อบทำเศรษฐกิจพังและโยนความผิดให้กับประชาชนที่ออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองเป็นเรื่องที่เห็นได้บ่อยและอยู่คู่กับทุกการชุมนุมประท้วงในประเทศไทยตลอดมา ไม่ว่าจะเป็นครั้ง 'กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย' (พธม.) ในสมัยที่ ทักษิณ ชินวัตร นั่งเป็นนายกรัฐมนตรี จนนำไปสู่การยุบสภาในเมื่อ 24 ก.พ. 2549 และตามมาด้วยการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย.ในปีเดียวกัน โดยกลุ่มคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ คปค. 

การลุกขึ้นมาอีกครั้งของ พธม.ที่เข้าไปบุกยึด 2 สนามบินของประเทศไทยเป็นเวลา 10 วันในปี 2551 เพื่อขับไล่ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ซึ่งต่อมาภายหลัง ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินความเสียหายทางธุรกิจเป็นเงินอย่างต่ำ 2 แสนล้านบาท 

พันธมิตร.jpg

เฉกเช่นเดียวกับเหตุการณ์การชุมนุมในปี 2553 ของ 'แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ' หรือ นปช. ภายใต้สมัยการบริหารประเทศของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งนำไปสู่การสลายการชุมนุมที่กลายเป็น 'โศกนาฎกรรมกลางเมืองหลวง'

แม้แต่ครั้ง 'คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข' (กปปส.) ออกมารวมตัวกันขับไล่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อปลายปี 2556 และนำไปสู่การรัฐประหารอีกครั้งในปี 2557 ด้วยฝีมือของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

การชุมนุมทางการเมืองสร้างแรงกระเพื่อมถึงเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศอย่างแน่นอน แต่การโยนความผิดเหล่านี้ให้เป็นของประชาชนผู้ออกมาแสดงความคิดเห็นตามสิทธิและเสรีภาพที่ติดตัวมาตั้งแต่กำเนิดภายใต้รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องไม่ชอบธรรม

งานศึกษาผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศไทย ซึ่งเขียนโดย พงศ์ศักดิ์ เหลืองอร่าม คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ยุทธนา เศรษฐปราโมทย์ คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ชี้ว่า

'ความไม่แน่นอนทางการเมือง' ไม่ได้มีแค่มิติเดียวคือการชุมนุมเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงประเด็นเกี่ยวข้องอีก 4 ประการ ได้แก่ สถานการณ์ฉุกเฉินหรือการประกาศใช้กฎอัยการศึก การยุบสภาหรือการเลือกตั้ง การปฏิวัติหรือการรัฐประหาร และการปฏิรูปทางการเมืองหรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 

ด้วยเหตุนี้ การสร้างภาพจำว่าการชุมนุมเป็นเหตุผลเดียวที่นำไปสู่ความไม่แน่นอนทางการเมืองซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการบั่นทอนเศรษฐกิจประเทศจึงเป็นการบิดเบือนข้อมูล 


กระทบจริงแต่ไม่ใช่เหตุผลเดียว

หนึ่งในข้อค้นพบของงานวิจัยที่ศึกษาความไม่แน่นอนทางการเมืองไทยตั้งแต่ไตรมาส 2/2540 - ไตรมาส 4/2560 ซึ่งครอบคลุมระยะเวลาถึง 20 ปี ระบุว่า เมื่อประเมินความไม่แน่นอนทางการเมืองรวม 5 ปัจจัยย่อยข้างต้น พบว่าทุกปัจจัยยกเว้นความไม่แน่นอนด้านชุมนุมและการปฏิรูปการเมืองส่งผลต่ออัตราการเติบโตของเศรษฐกิจระยะสั้น ขณะที่ปัจจัยทั้งหมดยกเว้นการปฏิรูปทางการเมืองมีผลลบต่อความผันผวนของเศรษฐกิจ

ผู้วิจัยชี้เพิ่มว่า หากพิจารณา 5 องค์ประกอบย่อยของความไม่แน่นอนทางการเมืองที่มีผลต่อเศรษฐกิจระยะยาว พบว่า แต่ดัชนีย่อยล้วนมีผลต่อผลผลิตทั้งสิ้น โดยการรัฐประหารมีสัดส่วนสูงที่สุดด้วยระดับดัชนี (PUI) ติดลบ 8.195 ตามมาด้วยการเลือกตั้ง การปฏิรูป และการประกาศภาวะฉุกเฉินในระดับติดลบ 5.125, 4.476 และ 3.049 ตามลำดับ ขณะที่ปัจจัยด้านการชุมนุมกลับแทบไม่มีผลทางสถิติที่ระดับติดลบ 0.341 

การศึกษา นักเรียน ชุมนุม โบว์ขาว

วิจัยยังพิจารณาปัจจัยความไม่แน่นอนทางการเมืองที่มีผลต่อตัวแปรสำคัญทางเศรษฐกิจมหภาค 3 ประเด็น คือ 1.ผลผลิตมวลรวมในประเทศ หรือ จีดีพี 2.การลงทุนภาคเอกชน และ 3.การบริโภคภาคเอกชน 

ข้อมูลชี้ว่า เมื่อประเมินดัชนีรวม จีดีพีของประเทศได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยมีระดับความแปรปรวนมากถึง 5.85% ขณะที่การลงทุนภาคเอกชน และการบริโภคภาคเอกชนมีผลกระทบในระดับ 4.01% และ 0.58% ตามลำดับ

ตามข้อมูลย่อยพบว่า จากปัจจัยทั้ง 5 อย่าง การเลือกตั้งสร้างผลกระทบต่อจีดีพีมากที่สุดในระดับ 9.68% ตามมาด้วยการชุมนุมทางการเมืองในระดับ 6.71% อย่างไรก็ดี การชุมนุมขึ้นมามีบทบาทอย่างมากต่อผลกระทบที่เกิดกับการลงทุนภาคเอกชนเช่นเดียวกับการปฏิรูปการเมืองในระดับ 16.7% และ 16.21% ตามลำดับ

ขณะที่ฝั่งการบริโภคภาคเอกชน ซึ่งได้รับผลกระทบน้อยที่สุดในภาพรวมเมื่อเทียบกับอีก 2 ปัจจัยสำคัญทางเศรษฐกิขมหภาค แต่ประเด็นการชุมนุมยังเป็นปัจจัยสำคัญในการกระทบการบริโภคภาคเอกชนเช่นเดียวกันในระดับ 3.16% ตามมาด้วยการเลือกตั้งและการปฏิรูปทางการเมืองในระดับใกล้เคียงกันที่ 2.17% และ 2.16% ตามลำดับ 

นอกจากนี้ เมื่อหันมามองประเด็นการส่งออกกับความไม่แน่นอนทางการเมือง ข้อมูลสะท้อนว่า การประท้วงและการปฏิวัติมีผลบั่นทอนการส่งออกของประเทศในระดับติดลบ 1.2% เท่ากัน ขณะที่ปัจจัยด้านการปฏิรูปทางการเมืองและการเลือกตั้งบั่นทอนในส่งออกลดลง 0.4% และ 0.6% ตามลำดับ 

ผู้วิจัยสรุปในช่วงท้ายของงานศึกษาว่า ความไม่แน่นอนทางการเมืองมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมา โดยแต่ละปัจจัยย่อยมีผลกระทบแต่ภาคส่วนของเศรษฐกิจที่แตกต่าง การวิเคราะห์ทางการเมืองนั้นจึงต้องมองทั้งภาพรวมและองค์ประกอบย่อย

ด้วยเหตุนี้ การกล่าวอ้างว่าการชุมนุมประท้วงเป็นเพียงปัจจัยเดียวที่ทำให้เศรษฐกิจพังจึงเป็นการบิดเบือนความจริง เนื่องจากผลกระทบของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันซึ่งเข้าสู่ภาวะถดถอย (จีดีพีติดลบต่อเนื่อง 2 ไตรมาส) ไม่ได้เป็นผลจากการชุมนุมอย่างเดียวเท่านั้น

ยังรวมไปถึงสถานการณ์การส่งออกที่มีปัญหามาอย่างต่อเนื่อง ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เป็นศูนย์มาตั้งแต่เดือน เม.ย.คิดเป็นการสูญเสียเม็ดเงินทางเศรษฐกิจอย่างน้อย 1.5 แสนล้านบาท/เดือน ไปจนถึงมาตรการช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดเล็กที่ไปไม่ถึงเอสเอ็มอีอย่างแท้จริง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง;