ไม่พบผลการค้นหา
ไม่เพียงแต่คนบนเกาะพีพีเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 เมื่อนักท่องเที่ยวหาย แมวซึ่งเป็นกลุ่มประชากรขนาดใหญ่ของที่นี่ ก็ได้รับความเดือดร้อนเช่นกัน หลายตัวกลายเป็นแมวจรจัด ชีวิตความเป็นอยู่ที่แย่ลง และการขยายจำนวนเกือบเท่าตัว เป็นสิ่งที่คนรักแมวบนเกาะแบกรับอยู่

เกาะพีพี จังหวัดกระบี่ เคยคราคร่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่มาพักผ่อนและดำน้ำดูปะการัง วันนี้กลับเงียบเหงาเพราะพิษโควิด-19 ที่ทำให้การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจทั่วโลกหยุดชะงัก นักท่องเที่ยวและครูสอนดำน้ำชาวต่างชาติหลายคนเดินทางกลับต่างประเทศตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม 2563 โรงแรมร้านอาหารจำนวนมากปิดตัว ส่งผลให้แรงงานในภาคการท่องเที่ยวพลอยตกงานหรือถูกเลิกจ้างชั่วคราว ต้องกลับภูมิลำเนาไปตามๆ กัน เหลือไว้เพียงแต่คนในพื้นที่ที่ยังคงทำธุรกิจเล็กๆ น้อยๆ และผู้ประกอบการจำนวนหนึ่งที่ยังกัดฟันยืนหยัดรอวันนักท่องเที่ยวกลับมา 

แมว เกาะพีพี

โควิดทำให้จำนวนแมวจรจัดบนเกาะเยอะขึ้นเกือบเท่าตัว

ตรงกันข้ามกับประชากรแมวบนเกาะพีพี ที่เดิมมีอยู่ราว 300 ตัว ตอนนี้พุ่งสูงขึ้นเป็นเกือบ 500 ตัว กระจายอยู่ทั่วไปบนเกาะ

‘พี่เล็ก-นางสาวลำดวน ชายชาติ’ อายุ 44 ปี เธอขายปาท่องโก๋และเปิดร้านขายเสื้อผ้าบนเกาะนี้มากว่า 25 ปี เล่าให้ฟังว่าแมวบนเกาะนี้ส่วนใหญ่จะเป็นแมวพันธุ์ต่างชาติ เช่น เปอร์เซีย, เบงกอล, หรือสกอตติชโฟลด์ ผสมพันธุ์ไทย เนื่องจากคนที่ย้ายเข้ามาอยู่บนเกาะก็เอาแมวมาเลี้ยงด้วย หรือบางทีนักท่องเที่ยวก็นำมา แต่พอถึงเวลาก็ไม่ได้เอากลับไป โดยเฉพาะช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 หลายคนที่เคยเลี้ยงแมวต้องกลับบ้าน และไม่สามารถเอากลับไปด้วยได้ คนที่อยู่ก็ต้องระดมเงินกันซื้ออาหารแมวมาแจกจ่าย

โดยเธอมักจะสั่งอาหารแมวเป็นกระสอบมาจากบนฝั่ง เอามาแบ่งใส่ถุงตั้งหน้าร้านให้คนที่ผ่านไปผ่านมาหยิบไปได้ และอีกส่วนหนึ่งก็เอาไปวางตามจุดต่างๆ ของเกาะช่วงเช้าและบ่าย ยกเว้นหน้าโรงแรมบางที่ที่ติดป้ายห้ามให้อาหารสัตว์ รวมๆ แล้วเสียค่าอาหารแมวราว 3,000 บาทต่อเดือน กระสอบละประมาณ 700 บาทอยู่ได้ประมาณ 10 กว่าวัน แต่ไม่รวมค่าอาหารของ 'เจ้าชีต้าร์' แมวพันธุ์เบงกอลผสม ที่เลี้ยงแบบปิดไว้บนชั้นสองและกินอาหารประเภทไก่ต้ม และ 'เจ้าลาย' แมวลายสลิดสีดำอายุมากที่นั่งประจำอยู่หน้าร้านขายเสื้อผ้าของเธอ

พี่เล็กบอกว่ารายนี้ค่อนข้างจะเรื่องเยอะ เพราะไม่กินอาหารเม็ด ต้องสั่งอาหารเปลี่ยนรสทูน่ามาให้กินเท่านั้น รสปลาซาร์ดีนก็ไม่สนใจ ถึงแม้จะไม่รู้ว่าเจ้าตัวนี้เป็นลูกใครมาก่อน แต่พอเขามานั่งร้องขออาหารอยู่หน้าบ้านก็ให้เขา แล้วเขาก็อยู่ตรงนี้ทุกวัน แมวส่วนใหญ่มีมารยาทจะอยู่ตามถนน หิวก็มานั่งรออาหารหน้าบ้าน กินเสร็จก็ไป ไม่เข้ามาในร้าน และไม่ทำขนติดเสื้อผ้าที่จะขาย

"เราอดนี่ไม่เป็นไร ยังหาปูหาปลากินได้ แต่แมวเขาหาไม่ได้"

แมว เกาะพีพี

พี่เล็กพูดไปพลางมือก็หยิบเอาอาหารแมวที่ใส่ตะกร้ามายืนหน้าร้าน เผื่อมีแมวมานั่งคอย แล้วก็พูดต่อไปว่า เธอยืนยันว่าคนบนเกาะพีพีรักสัตว์ แมวที่นี่ไม่มีอด แต่ก็ไม่ได้มีเงินหรือมีความพร้อมเรื่องการดูแลรักษามาก บางทีก็เลี้ยงกันไปตามสภาพ ไม่สามารถพาไปฉีดวัคซีนได้ 

อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้แมวมีเยอะขึ้นมาก พี่เล็กคิดว่าเพราะอากาศร้อนทำให้แมวติดสัด หรือเข้าสู่ช่วงฤดูผสมพันธุ์เร็วกว่าต่างประเทศที่อากาศเย็น บนเกาะนี้ประมาณ 4-5 เดือนก็จะติดสัดครั้งหนึ่ง ประกอบกับที่หน่วยงานหรือมูลนิธิต่างๆ ที่เคยนั่งเรือมาจากฝั่งเพื่อมาทำหมันแมวให้ ก็ไม่ได้ข้ามมาหลังมีคำสั่งปิดเมืองทำให้ 3 เดือนหลังการระบาดของไวรัสโควิด-19 มีแมวเพิ่มขึ้นนับร้อยตัว

เธอบอกว่า ส่วนตัวมองว่าแมวพวกนี้น่ารัก แต่ก็เข้าใจถึงปัญหาว่านักท่องเที่ยวบ้างคนไม่ชอบก็อาจจะรำคาญ และยิ่งในช่วงที่เริ่มคลายล็อก นักท่องเที่ยวเริ่มเข้ามา แมวพวกนี้ก็ขี้ทิ้งไว้ตามถนนจำนวนมากเพราะด้วยจำนวนแมวที่เยอะเกิน เจ้าหน้าที่กวาดถนนต้องทำงานหนักขึ้นและพ่อค้าแม่ค้าในพื้นที่ก็ต้องดูแลทำความสะอาดหน้าร้านตัวเอง บางครั้งก็เข้าไปกวนที่ร้านอาหาร ซึ่งตอนนี้ตนและเพื่อนบ้านกำลังจะไปประสานกับองค์การบริหารส่วนตำบล เพื่อให้ประสานกับสำนักงานปศุสัตว์ จังหวัดกระบี่ จัดทีมงานมาทำหมันแมวอีกรอบ

แมว เกาะพีพี

ชะตากรรมของแมวช่วงล็อกดาวน์

เดินถ่ายรูปแมวไปสักพักได้พบกับ นางสุนิตา แสนทวีสุข เจ้าของร้านกาแฟวัย 60 ปี ที่กำลังสนทนากับ นางสาวเจรสา ฝั่งขวา อายุ 52 ปี ที่ไปรับแจกอาหารแมวฟรีแล้วเดินผ่านมาแวะคุย เรื่องมีคนเอาแมว 2 ตัวใส่กระสอบไปทิ้งใกล้บ้านเธอ เธอจึงรับไปเลี้ยง ขณะที่บ้านตรงข้ามร้านกาแฟของป้าสุนิตาก็เพิ่งย้ายบ้านไปอยู่บนเขา ทิ้งที่เคยเลี้ยงเอาไว้ 3-4 ตัว จนตอนนี้ออกลูกออกหลานกลายเป็นหนึ่งฝูง

ป้าเจรสา เล่าว่า เธอเป็นชาวกระบี่ที่มาอยู่มานี่มานานกว่า 33 ปี เคยประกอบอาชีพพนักงานในโรงแรม แต่ตอนนี้ถูกเลิกจ้างชั่วคราวเนื่องจากไม่มีนักท่องเที่ยว ก็ไม่มีงานทำ เธอกล่าวว่า เมื่อก่อนแมวก็ไม่เยอะเท่านี้ แต่พอมีคนเข้ามาอยู่ที่เกาะพีพีก็เอาแมวจากบนฝั่งมาเลี้ยงด้วย แล้วแมวพวกนั้นก็ออกลูกออกหลานเพราะไม่มีการทำหมัน บ้านเธอเลี้ยงแมวไว้ 20 ตัว ทั้งที่คนเอามาทิ้งแล้วเลี้ยงไว้เพราะสงสาร หรือเพื่อนบ้านที่กลับขึ้นฝั่ง ก็เลยต้องเอามาเลี้ยงไว้ สมัยก่อนเธอเสียค่าอาหารแมวเดือนละกว่า 15,000 บาท

"สมัยก่อนเสียค่าอาหารแมวประมาณหมื่นห้า ทำงานนี่ก็ไม่ใช่เหลือนะ โดนด่าจะตายแล้ว แต่ว่าไม่เป็นไร เรารักของเรา พอนักท่องเที่ยวน้อยตอนนี้ไม่มีรายได้เลย ตอนนี้ไม่มีตังค์สักบาทตั้งแต่มีนาคม" นางสาวเจรสา กล่าว

แมว เกาะพีพี

ช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 หลายร้านก็ประกาศในเฟซบุ๊กบริจาคอาหารแมวหน้าร้าน ที่บนเกาะพีพี โดยเฉพาะโซนหมู่บ้านสึนามิ เลี้ยงแมวกันเยอะ บ้านละ 2-10 ตัว เมื่อก่อนก็จะมีมูลนิธิส่งอาสาสมัครมาจากเกาะลันตาทำหมันแมว ครั้งละ 3-4 วัน มา 4 เดือนครั้ง ป้าสุนิตาก็เล่าเสริมว่าครั้งล่าสุดก็มาจดชื่อบ้านที่จะให้ไปทำหมันไว้แล้ว แต่ไม่ทันได้ลงมาก็ติดช่วงโควิด-19 เสียก่อน

ป้าเจรสาเล่าอีกว่า แมวที่บ้านกินอาหารวันนึง 3 กิโลกรัม บางทีก็ต้องซื้ออาหาร 3 ห่อ 100 บาทตามร้านค้า แต่ถ้าช่วงที่ไม่มีเงินก็ต้องหุงข้าว แล้วซื้อปลากิโลกรัมละ 50 บาทมานึ่งคลุกข้าวให้แมวแทนบ้าง แมวที่บ้านกินวันละ 2 มื้อ ไม่ไหวก็ต้องไหว

"วันนึง มื้อนึงผ่านพ้นไป พรุ่งนี้ค่อยว่ากันใหม่ ดีกว่าให้เขาอด" นางสุนิตา กล่าวเสริม

ป้าเจรสา บอกว่าตอนนี้ไม่มีเงิน อาหารที่ถืออยู่ในมือก็มีคนให้มา บ้านไหนมีเงินหน่อยก็ซื้อเป็นกระสอบมาแจกจ่าย แต่ถ้าเรามาเอาทุกวันก็เกรงใจ บางคนเลี้ยงแมวพอกลับขึ้นฝั่งก็ทิ้งไว้ให้เป็นภาระคนอื่น บางทีคนบนฝั่งก็เอาแมวพันธุ์แปลกๆ มาเลี้ยงแล้วก็ทิ้งไว้ เราสงสารก็เอามาเลี้ยง ที่นี่ไม่มีโรงพยาบาลสัตว์ เวลาเจ็บป่วยที่ก็ต้องเอาขึ้นฝั่งไปรักษา เดินทางชั่วโมงกว่าจะถึงฝั่งจังหวัดกระบี่ สำหรับเธอพอไปกระบี่ทีไร ก็ซื้อยามาเก็บไว้แบ่งให้แมวกิน เธอเคยเสนอให้หมอจัดทีมมาฉีดวัคซีนที่เกาะบ้าง หรือไม่ก็มาตั้งโรงพยาบาลบนเกาะ แต่พวกเขาก็ไม่ได้มาเพราะค่าที่แพง แต่สำหรับเธอมองว่าค่ารักษาแพงก็ต้องสู้ ดีกว่าขึ้นเรือไปตัวเมือง ซึ่งถ้าเป็นเมื่อก่อนมีนักท่องเที่ยว ก็มีรายได้ เลี้ยงดูแมวได้ แต่ตอนนี้ไม่มีนักท่องเที่ยวเลย

ป้าสุนิตา เล่าว่าอย่างร้านกาแฟของตัวเอง เมื่อก่อนก็ยังขายได้วันละ 2,000-3,000 บาท ตอนนี้วันนึงขายได้แค่วันละ 60 บาทก็มี เศรษฐกิจแย่ ทำให้หลายคนกลับขึ้นฝั่ง ถ้าบ้านไหนเลี้ยงแมวแค่ตัวสองตัวก็พากลับไปด้วย แต่ถ้าบ้านไหนเลี้ยงไว้เยอะๆ ก็ต้องทำใจปล่อย แต่สำหรับป้าเจรสาเองยืนยันว่าถ้าตนจะย้ายกลับขึ้นฝั่งก็จะพาแมวทั้ง 20 ตัวไปด้วย

แมว เกาะพีพีแมว พีพี


ไม่ใช่แมวจรจัด แต่เป็นแมวฝากเลี้ยงที่ผลัดเปลี่ยนมือเจ้าของ

พี่น้ำ-นางสุดา กลิ่นชื่น เจ้าของร้านซักรีด เล่าว่า ปกติเธอ ผู้ประกอบการโรงแรม และชาวต่างชาติที่เคยพักอยู่ที่นี่จะช่วยกันซื้ออาหารมาให้แมวในช่วงนี้กระสอบละ 20 กิโลกรัมแจกรอบเกาะได้ 3-4 วัน แต่พอชาวต่างชาติกลับ เธอก็ต้องรับภาระนี้มากขึ้น เธอบอกว่าตอนแรกที่มีการระบาดของโควิด-19 ก็สั่งของมียี่ห้อ กระสอบละเป็นพันบาท ตอนนี้ซื้อที่ราคาถูกลงหน่อยเหลือ 800 บาทต่อกระสอบ เธอเริ่มให้อาหารแมวมาตั้งแต่ 22 มีนาคม ที่คนเริ่มกลับขึ้นฝั่ง แมวก็โดยปล่อยให้เป็นแมวจรจัด เธอเองตอนนี้ดูแลแมวอยู่ 7 ตัว เป็นของตัวเอง 4 ตัว ส่งขึ้นฝั่งไปแล้ว 2 ตัว เหลือ 2 ตัวชื่อ 'โดโด้ กับ 'ดั่มดั๊ม' ชาวฮังการีฝากไว้ 3 ตัว และชาวอังกฤษฝากไว้อีก 1 ตัว ชื่อ 'ป๊ะชาย' (เป็นภาษาใต้ แปลว่า ลุง) อายุ 16 ปี ซึ่งแมวตัวนี้ขี้อ้อน ขี้น้อยใจมาก

"ถ้าใครมาเรียกป๊ะชายว่าแมวจรจัด เขาจะโกรธและกัดมือ เพราะแรกๆ เขาเป็นแมวจรจัดขี้เรื้อน เธอก็รักษามันจนหาย แล้วมีชาวอังกฤษรับไปเลี้ยงนอนห้องแอร์อยู่ดีกินดี แต่พอชาวอังกฤษคนนั้นกลับ ก็กลับมาอยู่กับเรา แต่ว่าเดี๋ยวพอเขาก็กลับมาเพราะเขาทำงานอยู่ที่นี่" เธอเล่า

และคิดว่า คนเหล่านี้ฝากแมวไว้กับเธออาจเพราะเห็นว่าเธอดูแลแมวจรจัดตัวอื่นอย่างดี ก็เลยไว้ใจฝากเธอเลี้ยง เธอเชื่อว่าวันหนึ่งพวกเขาจะกลับมาดูแลแมวของเขาเหมือนเดิม

แมว พีพี

เธอเล่าว่าทุกวันจะมีชาวต่างชาติ และเจ้าของร้านอื่นๆ มาช่วยกันซื้ออาหารแมวมาให้ตามจุดต่างๆ เธอบอกว่าเมื่อก่อนไม่เยอะขนาดนี้ แต่พอโควิดระบาด ไม่มีคนมาทำหมันแมว ก็มีลูกแมวเกิดขึ้นมาจำนวนมาก แถมยังมีขี้แมวตามมาด้วย ตื่นเช้ามาก็ต้องกวาดขี้แมวก่อน

ตอนนี้จำนวนแมวที่เพิ่มขึ้นมากเกินไป เริ่มกลายเป็นปัญหาของเกาะ คนไม่ได้รักแมวทุกคน เราไม่อยากให้ไปทำปัญหาให้กับคนที่ไม่ได้รัก เพราะอย่างเรารักแมวก็มองว่าแมวน่ารัก เธออยากให้คนที่เลี้ยงแล้วต้องมีความรับผิดชอบ ไม่ใช่รักแค่ตอนมันเด็กๆ และน่ารัก แต่พอแก่ตัวไปแล้วทิ้ง เหมือนแถวบ้านเธอก็ทิ้งไว้ทั้งๆ ที่อยู่อยู่บนเกาะ เธอต้องเอาไปทำหมันต้องดูแลแทน บางตัวทะเลาะกันเป็นแผลก็ต้องเอาขึ้นฝั่งไปรักษา แต่ช่วงล็อกดาวน์ขึ้นฝั่งไม่ได้ก็ต้องจำใจรักษาเท่าที่ทำได้ซื้อยาเขียวมาดูแลกันเอง หรือถ้าอาการหนักเกินไปก็ต้องปล่อยให้ตาย เราก็ต้องทำใจ แต่ถ้ามีโอกาสก็จะซื้อยามาตุนไว้

"มันไม่มีคลินิกที่นี่ ถ้าเกิดว่ามีคลิกนิกมาเปิดสักที สุดยอดเลย เราไม่เกี่ยงเรื่องตังค์ เราไม่เสียดาย เราแค่ประหยัดเรื่องตัวเราเอง เหมือนซื้ออาหารก็ซื้อทุนตัวเอง เราไม่อยากรบกวนใคร เพราะแต่ละคนมันรักไม่เหมือนกัน"

แมว พีพี

ยูมิ อิโตะ หญิงชาวญี่ปุ่น และเดเรก กรูบิเนล ชายชาวบราซิล ครูสอนดำน้ำที่เกาะพีพี เดินมาซื้ออาหารแมวกลับที่พัก พวกเขาเล่าว่าตอนนี้พวกเขาเลี้ยงแมวไทยอยู่ 3 ตัว และลูกแมวอีก 3 ตัว ซึ่งได้มาจากนักท่องเที่ยวคนก่อนหน้าฝากแม่แมวที่กำลังตั้งท้องไว้ให้พวกเขาดูแลต่อ ตอนนี้จึงต้องซื้อทั้งอาหารแมวผู้ใหญ่ และอาหารลูกแมวด้วย รวมแล้วราวๆ 10 กิโลกรัมต่อ 2 เดือน พวกเขาอยู่ที่นี่มา 8 เดือนแล้ว เนื่องจากติดช่วงปิดเมืองและปิดน่านฟ้าจึงกลับบ้านไม่ได้ แต่มีแผนว่าจะเดินทางกลับบ้านที่ญี่ปุ่นในเดือนหน้าหลังเปิดให้มีการเดินทาง และคิดว่าจะฝากพนักงานของโรงแรมที่พักอยู่ดูแลต่อ

แมว พีพีแมว พีพี

นักท่องเที่ยวหาย ยอดขายสินค้าลด แต่อาหารแมวยอดไม่ตก

ขณะที่พนักงานร้านสะดวกซื้อ เล่าให้ฟังว่า ที่ร้านจะขายอาหารแมวเกรดพรีเมี่ยมที่มียี่ห้อ เมื่อก่อนที่มีนักท่องเที่ยวเยอะๆ จะขายได้ประมาณวันละ 10 ถุง แต่ตอนนี้ขายได้วันละ 2 ถุง ซึ่งลูกค้าก็เป็นคนในพื้นที่กับชาวต่างชาติคละกัน ตรงข้ามกับร้านขายของชำ ที่แบ่งอาหารแมวขายเป็นถุง ผู้จัดการร้านเปิดเผยว่า ช่วงการระบาดของโควิด สินค้าทุกอย่างยอดซื้อตกลงไปมาก ยกเว้น ‘อาหารแมว’ ที่ยังคงขายได้เดือนละ 10 กระสอบหรือ 200 กิโลกรัมเท่าเดิม หรือลดลงไปบ้างก็เพียงเล็กน้อยสัก 1-2 กระสอบ

แมว พีพี

นายวีรภัสร์ จันทโร ผู้ประกอบการโรงแรมและร้านอาหารวัย 42 ปี กล่าวว่า ในกลุ่มของผู้ประกอบการเองก็มีปัญหาในเรื่องของแมวจรจัดอยู่บ้าง เช่น เรื่องขี้แมว แต่เราก็ต้องเข้าใจว่าบนเกาะพีพี คนท้องถิ่นส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม ซึ่งมักจะเลี้ยงแมว ทางกลุ่มผู้ประกอบการก็พูดคุยกับผู้นำศาสนา ซึ่งถือว่าเป็นผู้นำชุมชนให้ช่วยกันดูแลความสะอาดของแมวที่เลี้ยง เพราะในช่วงคลายล็อก นักท่องเที่ยวก็จะเริ่มกลับมาเที่ยวและพักบนเกาะพีพีแล้ว แต่ทางชุมชนและกลุ่มผู้ประกอบการบนเกาะเข้าใจและร่วมมือกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นมาตลอด ตั้งแต่สมัยเหตุการณ์สึนามิ ที่ทุกอย่างกลับมาฟื้นตัวได้เร็วเพราะความร่วมมือ แต่เหตุการณ์การระบาดของไวรัสโควิดครั้งนี้ส่งผลกระทบหนักกว่าทุกๆ ครั้ง แต่ตนไม่แน่ใจว่านโยบายของรัฐบาลที่ออกมาจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้นักท่องเที่ยวกลับมาได้มากแค่ไหน เพราะตอนนี้ทุกคนบนเกาะลำบากมาก

แมว พีพี

ลุงสัน-นายอาซัน ละเต็มซัน ชาวบ้านในหมู่บ้านสึนามิ วัย 60 ปี ประกอบอาชีพรับจ้างขับเรือพาเที่ยวเล่าให้ฟังว่าเมื่อก่อนมีเรือประมงพาเที่ยวเกือบ 400 ลำ ได้ลูกค้าเฉลี่ยวันละ 2 เที่ยว ตอนนี้เหลือแค่เดือนละ 2 เที่ยวเท่านั้น หลายคนที่อยู่ฝั่งกระบี่ จังหวัดตรังและพังงาก็พาเรือกลับบ้าน ส่วนชาวบ้านที่อยู่บนเกาะก็ต้องหาปลาประทังชีวิต ตนอยู่บนเกาะนี้มา 30 ปีไม่เคยเจอช่วงที่เกาะเงียบเหงาขนาดนี้มาก่อน แม้กระทั่งช่วงที่เพิ่งเกิดเหตุการณ์สึนามิก็ฟื้นตัวเร็ว มีนักท่องเที่ยวกลับมาเร็วกว่านี้ เมื่อก่อนแมวก็จะกินดีกว่านี้เพราะมีนักท่องเที่ยวซื้ออาหารมาให้มัน พวกนี้ทุกตัวมีเจ้าของแต่ก็จะมานั่ง นอน เดินริมถนนรอบๆ เกาะเพื่อเล่นกับนักท่องเที่ยว แต่พอไม่มีนักท่องเที่ยว คนย้ายกลับขึ้นฝั่ง หลายตัวก็กลายเป็นแมวจรจัด

"ตอนนี้แมวก็อดอยากเหมือนกันกับคน" ลุงสัน กล่าว