ไม่พบผลการค้นหา
นโยบาย “สุขภาพต้องมาก่อน” โดยเชื่อว่า เมื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิดได้ ก็จะบริหารจัดการเรื่องอื่นๆได้ในภายหลัง

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รอบใหม่ เกิดขึ้นอย่างไม่ทันได้ตั้งตัว พบผู้ติดเชื้อพรวดพราดวันเดียว 548 คน กระจายไปจังหวัดต่างๆอย่างรวดเร็ว

การระบาดรอบนี้ แตกต่างจากรอบแรกอย่างสิ้นเชิง โดยรอบแรกจำนวนผู้ติดเชื้อเริ่มจากหลักหน่วย หลักสิบ แล้วจึงไปถึงหลักร้อย

แต่การระบาดรอบใหม่ ตรวจพบครั้งแรกทะยานไปถึงหลัก 500 ราย ซึ่งมากกว่าการระบาดรอบแรกหลายเท่าตัว

ย้อนดูบทบาทของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม หัวหน้ารัฐบาล ผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.)

โดยในช่วงแรกของการรับมือสถานการณ์ ‘บิ๊กตู่’ ทำงานอย่างไม่คล่องมือมากนัก ซึ่งอาจเกี่ยวเนื่องกับการเป็นรัฐบาลใหม่ ที่เพิ่งจับพลัดจับผลูตั้งคณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้ไม่นาน

ดังนั้น รูปแบบการทำงานในช่วงแรกจึงเหมือนต่างคนต่างทำ จะเห็นว่า แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จะเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด แต่การทำงานในระดับรัฐมนตรี ก็ไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน จึงมีปัญหาเกิดขึ้นมากมาย เช่น กรณีการกักตุนหน้ากากอนามัย การสื่อสาร เป็นต้น

25 มี.ค.2563 พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร กระชับอำนาจรวบศูนย์มาไว้ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ที่มีตัวเองนั่งเป็นประธาน

นั่นเพราะ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ถนัดทำงานร่วมกับฝ่ายการเมืองเท่าที่ควร แต่สะดวกใจที่จะทำงานร่วมกับข้าข้าราชการซึ่งเป็นฝ่ายปฏิบัติมากกว่า โดยอาจเป็นความคุ้นชินมาตั้งแต่เมื่อสมัยรัฐบาล คสช. ที่ พล.อ.ประยุทธ์ มีอำนาจในการตัดสินใจเบ็ดเสร็จเกือบทุกเรื่อง

การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ทำให้บทบาทและอำนาจของรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องลดน้อยลง ไม่ว่าจะเป็น อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ซึ่งล้วนแล้วเป็นนักการเมืองจากพรรคร่วมรัฐบาล  

โดย ‘บิ๊กตู่’ เลือกประชุมหารือกับข้าราชการระดับสูงของกระทรวง ไม่ว่าจะเป็นปลัดกระทรวง อธิบดี ผู้เชี่ยวชาญ อาจารย์หมอ จึงทำให้คนระดับรัฐมนตรี ต้องปลีกตัวออกทำงานอื่น เช่น จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ที่ออกอีเว้นท์เปิดป้ายขายของไม่เว้นแต่ละวัน

สถานการณ์เดือน เม.ย. 2563 บีบให้ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องตัดสินใจว่า จะประคับประคองสถานการณ์ไปเรื่อยๆ หรือใช้ยาแรงเพื่อควบคุมสถานการณ์ให้ได้โดยเร็ว จึงเป็นที่มาของการเลือกใช้นโยบาย “สุขภาพต้องมาก่อน” โดยเชื่อว่า เมื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดได้ ก็จะบริหารจัดการเรื่องอื่นๆได้ในภายหลัง

กระทั่งเมื่อสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย เข้าขั้นน่าวิตก จึงนำไปสู่การตัดสินใจประกาศล็อคดาวน์ และประกาศเคอร์ฟิวทั่วประเทศ

แม้การล็อกดาวน์และเคอร์ฟิว จะเป็นแนวจากที่หลายประเทศเลือกใช้บริหารจัดการ แต่ผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ ก็ตามมาอย่างมหาศาล เพราะเมื่อต้องมีการปิดห้าง โรงงาน ร้านอาหาร สถานบริการ ฯลฯ เหล่านี้ย่อมกระทบต่อแรงงานจำนวนมาก จึงทำให้สภาพัฒน์ ต้องประเมินว่าในไตรมาสแรกของปี 2563 จะมีคนตกงาน 4 แสนราย ตลอดทั้งปีคาดว่าจะมีคนตกงานกว่า 8 ล้านราย

ผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจจากแนวนโยบายควบคุมโรคโควิด-19 ทำให้งบกลาง 5 แสนล้านหมดไปอย่างรวดเร็ว รัฐบาลต้องกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท และใช้เงินอีก 9 แสนล้านเพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงิน นอกจากนี้ ยังมีการเกลี่ยงบจากทุกกระทรวงเพื่อมาบรรเทาสถานการณ์

อย่างไรก็ตาม ในแง่ของการควบคุมโรค ต้องยอมรับว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ บริหารจัดการได้ดี เพราะไม่นานหลังจากประกาศล็อกดาวน์และเคอร์ฟิว ตัวเลขผู้ติดเชื้อก็ลดลงอย่างทันตาเห็น ซึ่งสร้างความมั่นใจต่อการใช้ชีวิตของประชาชนอย่างเป็นอย่างมาก

แต่ในแง่ของด้านเศรษฐกิจแล้ว ประเทศไทยกลับได้รับผลกระทบอย่างหนัก จำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเหลือเพียงประมาณ 6.7 ล้านคน จาก 40 ล้านคน ในปี 2562  ส่งผลให้ GDP ไทยไตรมาส 2 ติดลบ 12.2% ก่อนที่จะค่อยๆดีขึ้นในไตรมาส 3 ซึ่งติดลบ 6.4%

แม้กระนั้น รัฐบาลของ “พล.อ.ประยุทธ์” ก็ได้รับคำชื่นชมอย่างมากจากต่างประเทศและองค์กรระหว่างประเทศ ว่ามีระบบการป้องกันโรคอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นสิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ ภาคภูมิใจเสมอเมื่อมีการประชุมระดับผู้นำประเทศ

และด้วยความที่รัฐบาลมีผลงานโบว์แดง คือการจัดการการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงทำให้รัฐบาลเกิดความลังเลใจ ที่จะเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น

โดยในแง่หนึ่ง ประชาชนยังหวั่นเกรงว่าจะต้นเหตุของการระบาดระลอกสอง

ส่วนอีกแง่หนึ่ง รัฐบาล ก็ไม่สามารถทำให้ประชาชนเชื่อได้ว่าเมื่อเปิดประเทศแล้ว จะสามารถรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดได้

ขณะเดียวกัน ยังมองได้ว่า หากมีการระบาดระลอกสองจริง ความนิยมในตัวรัฐบาลย่อมจะลดลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน

จนกระทั่งเกิดกรณีการระบาดรอบใหม่ที่จังหวัดสมุทรสาคร แม้จะมีความรุนแรงกว่าการระบาดรอบแรก แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ทราบดีว่าการใช้ยาแรงควบคุมสถานการณ์นั้น ได้ไม่คุ้มเสีย โดยมีราคาที่ต้องจ่ายมากมายมหาศาล

ปัจจุบัน บิ๊กตู่ พยายามรักษาสมดุลในการควบคุมโรคโดยให้กระทบต่อเศรษฐกิจน้อยที่สุด

ดังจะเห็นว่า แม้จังหวัดสมุทรสาคร จะมีการแพร่ระบาดอย่างหนัก แต่ก็ไม่มีการล็อคดาวน์ เพียงแต่จำกัดเวลาการเปิด-เปิดสถานประกอบการ ห้ามเคลื่อนย้ายแรงงาน ส่วนโรงงาน การประมง ฯลฯ ยังสามารถทำได้ตามปกติ

แนวทางการควบคุมโรครอบนี้แตกต่างจากการระบาดรอบแรก โดยมีการเลือกควบคุมเฉพาะพื้นที่ ไม่ใช่ปูพรมทั้งประเทศเหมือนเคย

โดย ศบค. ได้กำหนด 4 โซนพื้นที่สถานการณ์ เพื่อให้มีการบริหารจัดการที่แตกต่างกัน

1.พื้นที่ควบคุมสูงสุด = พื้นที่ที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากและมีมากกว่า 1 พื้นที่(ย่อย)

2.พื้นที่ควบคุม = พื้นที่ที่ติดกับพื้นที่ควบคุมสูงสุด หรือพื้นที่ที่มีผู้ติดเชื้อเกินกว่า 10 รายและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

3.พื้นที่เฝ้าระวัง = พื้นที่ที่มีผู้ติดเชื้อไม่เกิน 10 ราย แต่มีแนวโน้มสามารถควบคุมสถานการณ์ได้

4.พื้นที่เฝ้าระวัง = พื้นที่ยังไม่มีผู้ติดเชื้อ และยังไม่มีสิ่งบอกเหตุว่าจะมีผู้ติดเชื้อ

ส่วน มาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ล่าสุดที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2563 เห็นชอบร่างกฎกระทรวงแรงงาน ให้ลูกจ้างว่างงานจากเหตุสุดวิสัย รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวัน เป็นเวลา 90 วัน เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของลูกจ้างที่อยู่ในสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการที่รัฐบาลสั่งปิดกิจการ โดยในเบื้องต้นคาดว่ามีจังหวัดที่ได้รับผลกระทบ อาทิ จังหวัดสมุทรสาคร สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี นครปฐม ราชบุรี และสมุทรสงคราม รวมกันแล้วประมาณ 5.7 ล้านคน คิดเป็นเงินกว่า 5,225 ล้านบาท

มองว่าได้แม้การระบาดของโรคโควิด-19 รอบนี้ จะรุนแรงกว่ารอบแรก แต่ถึงอย่างไร พล.อ.ประยุทธ์ ก็จะไม่เลือกใช้ยาแรงเพื่อควบคุม เพราะนโนบายสุขภาพต้องมาก่อน เท่ากับการผลักให้เศรษฐกิจดิ่งลงเหว