ไม่พบผลการค้นหา
ดูประสบการณ์อังกฤษ เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา ต่อนโยบายการตรวจหาผู้ติดเชื้อรายใหม่ว่ามีมาตรการใดบ้าง

กุญแจสำคัญของรัฐในการควบคุมการระบาดของโควิด-19 จากประสบการณ์ทั่วโลกมีอยู่ 3 มาตรการหลัก คือ 

1.ล็อคดาวน์ช่วงสถานการณ์รุนแรง

2.ฉีดวัคซีนให้ได้กว้างขวางและเร็วที่สุด 

3.ตรวจหาผู้ติดเชื้อรายใหม่ให้กว้างขวางและเร็วที่สุดเพื่อการกักตัว-รักษาไม่ให้กระจายเชื้อ 

มาตรการตรวจคัดกรองผู้ป่วยรายใหม่ ดูจะเป็นจุดที่สนใจของคนไทยน้อยอยู่ ทั้งที่เป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกับชีวิตเราอย่างยิ่ง การตรวจไม่ใช่เรื่องง่ายทั้งในการหาที่ตรวจ และค่าใช้จ่ายหากต้องการทราบผลเร็ว 

ข้อมูลการตรวจหาเชื้อเชิงรุกของกรุงเทพมหานคร ระบุว่า สามารถตรวจได้ราว 9,000-10,000 รายต่อวัน โดยแบ่งเป็น การตรวจด้วยหน่วยรถพระราชทาน, ภาคเอกชน, สำนักอนามัยกรุงเทพฯ 

โดยวันที่ 12 พ.ค.2564 มีแผนการตรวจโดยหน่วยรถพระราชทาน ที่คลองเตย 2,500 คน รองเมือง 500 คน ห้วยขวาง 500 คน หลักสี่ 500 คน บางรัก 1,000 คน ศูนย์ธุปเตมีย์ 1,000 คน ส่วนภาคเอกชนตรวจที่บ่อนไก่ 1,500 คน ศูนย์ไทยญี่ปุ่น-ดินแดง 2,000 คน สำนักอนามัย ที่ศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่งมีการตรวจประมาณ 300-500 คน 

ตัวเลขหลักหมื่นต่อวันดูเหมือนยังค่อนข้างน้อยหากเปรียบเทียบกับสถานการณ์การระบาด จำนวนผู้ติดเชื้อ ซึ่งศบค.ให้ข้อมูลว่า วันที่ 12 พ.ค.พบผู้ติดเชื้อจากการตรวจเชิงรุกในชุมนุมมากถึง 646 คน 

แล้วในต่างประเทศที่มีการระบาดสูงและสามารถใช้มาตรการนี้อย่างได้ผลเขาทำอย่างไร 


สหรัฐอเมริกา 

เร่งยกระดับการตรวจหาเชื้อหลังทำสถิติยอดผู้ติดเชื้อสูงที่สุดในโลก เพราะมาตรการการตรวจหาเชื้อในช่วงแรกมีความล่าช้า ประชาชนต้องรอตรวจนานหลายชั่วโมง และต้องรอผลนาน 2 สัปดาห์เพราะมีปัญหาการผูกขาดผู้ผลิตชุดตรวจ จนสถานการณ์บานปลาย โดยในเดือน ก.ค. 2563 รัฐบาลสหรัฐฯ สามารถตรวจหาเชื้อได้มากกว่า 800,000 คนต่อวัน และเพิ่มเป็น 1 ล้านคนต่อวันในเดือน ก.ย. 

องค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ (FDA) อนุมัติให้ใช้ชุดตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แบบเร่งด่วน (Rapid Test) ได้เองที่บ้านได้เป็นครั้งแรก 15 ธ.ค. 2563 ชาวอเมริกันสามารถหาซื้อได้โดยไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์ รู้ผลตรวจได้ภายในเวลา 20 นาที ขายชุดละ 30 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 900 บาท บริษัทผู้ผลิตมีแผนผลิตจำหน่าย 3 ล้านชุด ภายใน ม.ค. 2564 และอีกหลายล้านชุดเดือนถัดไป

รัฐบาลไบเดน ลงนามสั่งซื้อ Rapid Test ในเดือน ก.พ. 2564 ด้วยเม็ดเงิน 232 ล้านดอลลาร์ หรือราว 7,245 ล้านบาท เพื่อแจกจ่ายให้ประชาชนทั่วประเทศ มีการสร้างโรงงานผลิตเพิ่มในสหรัฐฯ ระหว่างรอมีการส่งชุดตรวจจากออสเตรเลียให้รัฐบาลสหรัฐฯ เดือนละ 100,000 ชิ้น และเมื่อโรงงานสร้างเสร็จจะสามารถส่งให้ได้เดือนละ 19 ล้านชิ้น

PJ (นามสมมติ) คนไทยผู้พำนักถาวรในสหรัฐฯ เล่าให้ VOICE ฟังว่า “ไม่ต้องยุ่งยากอะไรทั้งนั้น เราเช็คว่าแถวบ้านมีจุดตรวจโควิดที่ไหนก็สามารถไปได้เลย วันนี้ตรวจไม่เจอ พรุ่งนี้ถ้าเกิดความกังวลอีก อยากตรวจอีกก็ไปได้ ตนเองตรวจบ่อยๆ ทุก 10-14 วัน จนถึงตอนนี้ยังไม่ติดเลย เพราะสำรวจตนเองตลอด ดูแลตัวเอง ปัจจันกลับไปทำงานได้แล้ว


เกาหลีใต้  

ขวัญแก้ว วงษ์เจริญ อาจารย์ประจำสาขาการพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ คณะพยาบาลศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร นำเสนอผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัยนเรศวร ระบุว่า เกาหลีใต้มีการสุ่มตรวจเชื้อเป็นวงกว้าง มีการจัดเต็นท์ตรวจโรคให้ประชาชนที่ขับรถผ่านไปมาสามารถแวะเข้าไปตรวจเชื้อได้เลยโดยที่ไม่ต้องเข้าไปในโรงพยาบาล และที่สำคัญไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการตรวจด้วย ประหยัดทั้งเวลา ลดการใช้อุปกรณ์ป้องกันโรคของเจ้าหน้าที่ ลดการแพร่กระจายเชื้อในโรงพยาบาล และยังเป็นการกระตุ้นให้ประชาชนมาเข้ารับการตรวจโดยไม่ต้องกังวลถึงจำนวนเงินที่ต้องใช้ในการตรวจ ทำให้จนถึงวันที่ 19 มี.ค.ที่ผ่านมา สามารถตรวจคัดกรองโรคได้ถึงกว่า 307,000 คน ซึ่งเป็นสถิติการตรวจคัดกรองที่สูงที่สุดในโลกในขณะนั้น

ทุกคนที่ได้รับการตรวจจะมีการลงทะเบียนเข้าไปในฐานข้อมูลส่วนกลาง หากตรวจพบว่ามีเชื้อจะต้องเข้ารับการตรวจซ้ำที่โรงพยาบาลทันที และหากใครที่มีผลตรวจเป็นบวก แต่ไม่มีอาการเจ็บป่วยรุนแรงจนต้องเข้าโรงพยาบาล คนเหล่านี้จะถูกให้กักกันตัวเองที่บ้าน โดยมีเจ้าหน้าที่ของรัฐส่งอาหารและสิ่งของจำเป็นไปให้ถึงหน้าบ้านทุกวัน รวมทั้งยังมีแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือ “Corona 100m” ทำหน้าที่รายงานให้ประชาชนทราบว่าในระยะ 100 เมตรโดยรอบ มีผู้ติดเชื้ออยู่ในบริเวณนั้น เป็นการเตือนให้หลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังบริเวณดังกล่าว จึงลดการสัมผัสเชื้อไวรัสได้


อังกฤษ 

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ซึ่งการระบาดยังหนักหน่วง รัฐบาลอังกฤษเพิ่มมาตรการป้องกันโรคเชิงรุก ด้วยการส่งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเข้าไปตรวจหาผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด 19 ตามบ้านของประชาชน โดยในเบื้องต้นตั้งเป้าหมายในการตรวจเชื้อประชาชาชนตามบ้านให้ได้ 80,000 คนในจุดเสี่ยงสำคัญ ได้แก่ พื้นที่ 3 เขต ในกรุงลอนดอน , จุดเสี่ยงทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ, จุดเสี่ยงในตอนกลางของประเทศและจุดเสี่ยงทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ 

เดือนเมษายน รอยเตอร์สรายงานว่า บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรระบุว่า ประชาชนทุกคนจะสามารถเข้าตรวจโควิด-19 ได้ 2 ครั้งต่อสัปดาห์เพื่อเป็นการคอยติดตามการระบาดของโรคโควิด ขณะที่ประเทศเริ่มผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์มากขึ้นเรื่อย ๆ