ไม่พบผลการค้นหา
ปัญหาสภาพแออัดในเรือนจำ รวมถึงระบบสาธารณสุขที่ไม่เพียงพอ เป็นปัจจัยให้นักโทษก่อจลาจลในหลายประเทศช่วง 'โควิด-19' แพร่ระบาด โดยรัฐบาลต่างๆ มีวิธีแก้ปัญหาที่แตกต่างกันออกไป และ 'ไทย' อาจนำมาถอดบทเรียนได้

'จลาจลในเรือนจำ' กลายเป็น 'ปรากฏการณ์ร่วม' ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลกช่วงไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่แพร่ระบาด นักโทษหาทางหลบหนีจากเรือนจำ และบางแห่งเกิดความรุนแรงจนถึงขั้นมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก 

'อิตาลี' ที่ประกาศมาตรการ 'ล็อกดาวน์' ในหลายเมืองนับตั้งแต่พบการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาในเดือน ก.พ.2563 เป็นประเทศแรกๆ ที่พบกับความสูญเสียจากเหตุจลาจลในเรือนจำ เพราะมาตรการล็อกดาวน์สั่งควบคุมการเดินทางและการทำกิจกรรมต่างๆ ที่สุ่มเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด ทำให้เรือนจำทั่วประเทศสั่งห้ามคนเข้าเยี่ยมนักโทษในเรือนจำ ทำให้นักโทษจำนวนมากไม่พอใจ

เหตุจลาจลในเรือนจำที่อิตาลีปะทุขึ้นเมื่อวันที่ 6-10 มี.ค.2563 แต่สถานการณ์รุนแรงเกิดขึ้นที่เรือนจำในแคว้นลอมบาร์ดี ซึ่งเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาด และมีผู้ป่วยโรคโควิด-19 มากเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ ทำให้นักโทษไม่พอใจและหวาดกลัว การจลาจลในเรือนจำอิตาลีทำให้มีผู้เสียชีวิตราว 12 ราย และมีนักโทษหลบหนีออกมาได้ 16 ราย จึงมีการติดตามจับกุมตัวอยู่หลายวันกว่าจะควบคุมสถานการณ์ได้

'โคลอมเบีย' เป็นอีกประเทศหนึ่งที่เผชิญกับเหตุจลาจลในเรือนจำ โดยเหตุเกิดขึ้นที่เรือนจำในกรุงโบโกตาเมื่อวันที่ 22 มี.ค.ที่ผ่านมา ทำให้นักโทษเสียชีวิต 23 ราย และบาดเจ็บอีก 83 ราย รวมถึงเจ้าหน้าที่เรือนจำ 2 รายที่มีอาการสาหัส

ขณะเกิดเหตุจลาจลที่เรือนจำในกรุงโบโกตา มีผู้อยู่ในเหตุการณ์บันทึกวิดีโอเผยแพร่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ทำให้เห็นเหตุการณ์วุ่นวายในเรือนจำ มีทั้งการจุดไฟเผาสิ่งของ และนักโทษหลายรายพยายามทุบทำลายข้าวของเพื่อหาทางหลบหนี

โดยนักโทษรายหนึ่งร้องตะโกนว่าคนในเรือนจำจะถูกปล่อยให้ตาย "เหมือนหมา" แต่รัฐบาลโคลอมเบียยืนยันในเวลาต่อมาว่า เจ้าหน้าที่เรือนจำดูแลนักโทษอย่างดีและถูกต้องตามหลักเกณฑ์ปฏิบัติ และย้ำว่าไม่มีการปล่อยให้ใครเจ็บป่วยโดยไม่ดูแลรักษา

AFP-นักโทษในเรือนจำ Modelo ในกรุงโบโกตา เมืองหลวงโคลอมเบีย ชูป้ายบอกว่ามีคนตาย 30 ในเหตุจลาจลช่วงโควิด-19 ไวรัสโคโรนาระบาด 22 มี.ค.2563.jpg
  • นักโทษในเรือนจำโคลอมเบียชูป้ายผ้าบอกว่ามีผู้เสียชีวิตแล้ว 30 ราย แต่รัฐบาลระบุว่ามีผู้เสียชีวิตเพียง 23 รายในเหตุจลาจลเมื่อ 22 มี.ค.ที่ผ่านมา

ส่วน 'เวเนซุเอลา' มีนักโทษหลบหนีจากเรือนจำซานการ์ลอส เมืองซูเลีย รวม 84 ราย โดย 10 รายถูกวิสามัญฆาตกรรมเสียชีวิตขณะหลบหนี และผู้คุมเรือนจำ 2 รายถูกดำเนินคดีในข้อหาปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้องค์กรสิทธิมนุษยชนวิพากษ์วิจารณ์เรือนจำของเวเนซุเอลาว่า ต่อให้ไม่มีโรคระบาด ก็มีสภาพความเป็นอยู่ที่เลวร้าย เพราะนอกจากห้องขังจะแออัดแล้ว ยังขาดแคลนห้องน้ำ ห้องขังไม่มีหน้าต่างและไม่มีระบบระบายอากาศ อากาศอบอ้าว นักโทษไม่มีเสื้อหรือรองเท้าใส่

ประเทศอื่นๆ ที่มีการจลาจลในเรือนจำในช่วงโรคโควิด-19 แพร่ระบาด จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต ได้แก่ โรมาเนีย จอร์แดน และเลบานอน ส่วนที่ 'บราซิล' มีนักโทษก่อจลาจลในเรือนจำหลายแห่งและหลบหนีออกมาได้ราวพันราย แต่ส่วนใหญ่เป็นนักโทษชั้นดีที่จะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวอยู่แล้ว ไม่ใช่นักโทษคดีอุกฉกรรจ์

เหตุผลที่นักโทษในบราซิลหลบหนี เนื่องจากไม่พอใจที่ถูกยกเลิกสิทธิที่จะปล่อยตัวชั่วคราว เพราะรัฐบาลต้องการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 

นักโทษหลายรายในบราซิลที่ฝ่าฝืนผู้คุมหลบหนีออกนอกเรือนจำระบุว่า "จะกลับมาเข้าคุกอีกครั้งตามกำหนดเดิม" แต่เจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขชี้ว่า การหนีออกไปข้างนอกเรือนจำของนักโทษเหล่านี้ มีแต่จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงที่จะติดเชื้อและแพร่โรคระบาดเมื่อกลับเข้ามาในเรือนจำ


ประเทศอื่นๆ ป้องกันเหตุ 'จลาจลในเรือนจำ' อย่างไร

สื่อหลายสำนักรายงานว่าสาเหตุหลักที่ทำให้นักโทษในเรือนจำก่อจลาจลและหาทางหลบหนี มีประเด็นร่วมกันในหลายประเทศ ได้แก่ สภาพความเป็นอยู่ที่แออัดภายในเรือนจำ ระบบสาธารณสุขภายในเรือนจำที่ไม่เพียงพอ และการที่รัฐบาลประกาศมาตรการควบคุมการเดินทาง นำไปสู่คำสั่ง 'ห้ามเยี่ยม' แต่กลับไม่สามารถอธิบายให้นักโทษเข้าใจถึงความจำเป็นในการบังคับใช้มาตรการเหล่านี้ได้

อย่างไรก็ตาม หลายประเทศสามารถหลีกเลี่ยงจลาจลในเรือนจำได้ โดยพิจารณามาตรการผ่อนผันหลายประการ โดย 'อิหร่าน' ซึ่งเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในตะวันออกกลาง ประกาศ 'ปล่อยตัว' และ 'ปล่อยตัวชั่วคราว' แก่นักโทษราว 85,000 คนนับตั้งแต่วันที่ 3 มี.ค.เป็นต้นมา เพื่อลดความแออัดในเรือนจำ 

เรือนจำ.jpg
  • สภาพเรือนจำที่แออัดและขาดแคลนระบบสาธารณูปโภคทำให้การควบคุมโรคระบาดเป็นไปได้ยาก

เช่นเดียวกับ 'อียิปต์' ที่ปล่อยตัวนักโทษราว 4,000 ราย ส่วนใหญ่เป็นนักโทษสูงอายุและมีปัญหาสุขภาพ แต่อียิปต์ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากกลุ่มนักสิทธิมนุษยชน แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล เพราะไม่ยอมปล่อยตัว 'นักโทษการเมือง' ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้มีความผิดฐานก่อความรุนแรง

'อัฟกานิสถาน' ปล่อยตัวนักโทษอีก 10,000 รายเมื่อวันที่ 26 มี.ค. โดยผู้ได้รับการปล่อยตัวส่วนใหญ่ คือ นักโทษหญิง ผู้ที่มีอายุเกิน 55 ปี และผู้มีปัญหาสุขภาพเรื้อรัง แต่ต้องเป็นผู้ถูกลงโทษในคดีไม่ร้ายแรง รวมถึงผู้ที่มีกำหนดจะได้รับการปล่อยตัวในไม่ช้า

ขณะที่ 'สหรัฐอเมริกา' ซึ่งขณะนี้มีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศเกินหลักแสนคนไปแล้ว ทยอยปล่อยตัวนักโทษในเรือนจำต่างๆ ทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค.เป็นต้นมา หลังจากมีนักโทษตรวจพบว่าติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ รวมถึง 'ฮาร์วีย์ ไวน์สตีน' อดีตโปรดิวเซอร์ชื่อดังของวงการฮอลลีวูดที่ถูกคุมขังจากคดีล่วงละเมิดทางเพศ โดยมีนักโทษประมาณ 2,000 รายที่ได้รับการปล่อยตัวไปแล้ว

สหรัฐฯ ใช้เกณฑ์ในการพิจารณาปล่อยตัวนักโทษที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป รวมถึงผูัที่ไม่ได้ถูกลงโทษในคดีใช้ความรุนแรงอุกฉกรรจ์หรือคดีทางเพศ และบางรายจะยังใช้วิธีกักบริเวณในบ้านพักและสวมกำไลอิเล็กทรอนิกส์เพื่อติดตามตัวต่อไปอีกระยะหนึ่ง

ส่วนรัฐบาล 'สกอตแลนด์' เพิ่งประกาศเมื่อวานนี้ (28 มี.ค.) ว่าจะพิจารณามาตรการปล่อยตัวนักโทษจากเรือนจำก่อนกำหนดพ้นโทษ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หลังจากที่มีคำสั่งห้ามคนภายนอกเข้าเยี่ยมนักโทษ แต่ก็ยังไม่สามารถลดความแออัดในเรือนจำลงไปได้ และในต้นเดือน เม.ย.ที่จะถึงนี้ รัฐบาลสกอตแลนด์จะหารือมาตรการกำกับดูแลผู้พ้นโทษก่อนกำหนดว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: