ไม่พบผลการค้นหา
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ชี้แจง 'สภาที่ 3' หลังจัดเสวนา "ปฏิรูปธุรกิจไฟฟ้าอย่างไร ประชาชนจึงจะลดค่าใช้จ่ายสู้วิกฤตและได้ประโยชน์สูงสุด"

จากกรณีวอยซ์ออนไลน์ ได้นำเสนอข่าวจากการจัดเวทีเสนอแนะทางออกไทยหลังวิกฤตโควิด-19 พร้อมการเสวนาปฏิรูปธุรกิจไฟฟ้าอย่างไร ประชาชนจึงจะลดค่าใช้จ่ายสู้วิกฤตและได้ประโยชน์สูงสุด โดยกลุ่มสภาที่ 3 อย่างไรก็ดี การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ได้ชี้แจงดังนี้

1. ประเด็นที่กล่าวว่า การแปรรูปรัฐวิสาหกิจเกี่ยวกับไฟฟ้า ทำให้เอกชนเข้ามาแข่งขันและรัฐวิสาหกิจเสียเปรียบ ส่วนประชาชนยังได้ใช้ไฟฟ้าแพง ทั้งที่การผลิตไฟฟ้าทั้งประเทศล้นเกินอยู่นั้น  

ปัจจุบันยังไม่มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเกี่ยวกับกิจการไฟฟ้าแต่อย่างใด สำหรับที่กล่าวว่ากำลังผลิตสำรองเกินอยู่นั้น ขอเรียนว่าเกิดจากปัจจัยต่าง ๆ ที่ทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าจริงคลาดเคลื่อนจากที่ประมาณการไว้ เนื่องจากสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศไทย เช่น อุทกภัย หรือ ภัยพิบัติ หรือการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทั้งนี้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) จะมีการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) ซึ่งเป็นแผนการจัดหาพลังงานระยะยาว 15 – 20 ปี เพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงาน 

โดยนำข้อมูลแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจระยะยาว จากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) มาพิจารณาประกอบการจัดทำค่าพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศ เมื่อแล้วเสร็จคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) จะดำเนินการจัดสรรสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าให้กับ กฟผ. และบริษัทผลิตไฟฟ้าเอกชน รวมถึงการรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ เพื่อสร้างโอกาสการแข่งขันในกิจการพลังงานไฟฟ้า ทำให้การผลิตไฟฟ้ามีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยมีคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์โครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าเพื่อให้ผู้ใช้ไฟฟ้ามีพลังงานไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอในราคาที่เหมาะสม

2. ประเด็นที่กล่าวว่า การคอร์รัปชันเชิงนโยบายของผู้มีอำนาจรัฐที่ให้เอกชนผลิตไฟฟ้าได้ ทำให้เกิดเศรษฐีใหม่ที่ได้ประโยชน์จากการค้าพลังงานไฟฟ้า แต่ประชาชนต้องแบกรับค่าไฟฟ้าสำรอง ที่ทำให้ค่าไฟแพงขึ้นเท่าตัวซึ่งไม่เป็นธรรม นั้น  

กฟผ. ชี้แจงว่า นโยบายการส่งเสริมให้เอกชนเข้ามามีบทบาทในการผลิตไฟฟ้า ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2532 ด้วยวัตถุประสงค์ 1. เพิ่มการแข่งขันในกิจการพลังงานไฟฟ้า ทำให้การผลิตไฟฟ้ามีประสิทธิภาพมากขึ้น และผู้บริโภคมีพลังงานไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอในราคาที่เหมาะสม 2. ลดภาระการลงทุนของภาครัฐ และลดภาระหนี้สินของประเทศ 3. ส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น 4. ทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าได้รับบริการและมีคุณภาพไฟฟ้าที่ดีขึ้น 5. สนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนากิจการด้านพลังงานของประเทศ 6. ช่วยพัฒนาตลาดทุน 

ทั้งนี้ กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองของประเทศจำเป็นจะต้องมีไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 ของความต้องการไฟฟ้าสูงสุดตามมาตรฐานความมั่นคงของระบบไฟฟ้า เพื่อบริหารความเสี่ยงอันอาจจะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น ความต้องการใช้ไฟฟ้าที่อาจจะสูงกว่าค่าพยากรณ์ ความเสี่ยงด้านเชื้อเพลิง รองรับแผนการซ่อมบำรุงรักษาโรงไฟฟ้า และเหตุสุดวิสัยในกรณีที่ระบบส่งไฟฟ้าหรือโรงไฟฟ้าเกิดเหตุขัดข้องไม่สามารถจ่ายไฟฟ้า แต่จากสถานการณ์ที่ไม่ปกติ เช่น อุทกภัย หรือ ภัยพิบัติ และการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศไทย จึงอาจทำให้ประเทศไทยมีกำลังผลิตสำรองสูงกว่าประมาณการ 

อ่านเพิ่มเติม