ไม่พบผลการค้นหา
นายกรัฐมนตรี รอถก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 28 เม.ย. ขออย่ากดดันคลายล็อก ยืนยันไม่เคยพูดให้ห้างเปิด 1 พ.ค. ย้ำรัฐบาลดูแลครอบคลุม ขออย่ามองเรื่องเงินเยียวยาอย่างเดียว

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการ พิจารณาขยายเวลาประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่จะครบกำหนดในวันที่ 30 เม.ย.นี้ ว่า จะนำ เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในสัปดาห์หน้า  (28 เม.ย.) ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป โดยจะต้องพิจารณาตามกระทรวงสาธารณสุขเป็นหลัก ขออย่าเพิ่งผลีผลามเพราะวันนี้หลายคนเรียกร้องให้ผ่อนปรนมาตรการหลายเรื่อง ซึ่งตนเองไม่ต้องการตัดสินใจด้วยแรงกดดันหลายอย่าง แต่อยากให้เป็นไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ เพราะหากเริ่มปลดหรือผ่อนปรนอะไรเร็วเกินไป สิ่งที่ทำมาทั้งหมดหากกลับมาเป็นปัญหาอีกจะแก้ไขอย่างไร ซึ่งตนเองจะต้องพิจารณาเรื่องนี้เป็นพิเศษ ทั้งนี้ตัวเลขของผู้ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินยังไม่เป็นที่น่าพอใจ จึงต้องขอความร่วมมือประชาชนให้ร่วมมือกับรัฐบาล โดยจะเห็นได้จากตัวเลขการรักษาผู้ติดเชื้อที่รักษาหายมากขึ้น ผู้ติดเชื้อน้อยลง ซึ่งก็เกิดจากความร่วมมือของประชาชน ที่จะได้นำไปสู่การพิจารณาผ่อนปรนมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีย้ำว่าตนเองไม่เคยพูดว่าจะเริ่มผ่อนปรนหรือให้ผู้ประกอบการเริ่มเปิดกิจการได้ตามปกติในวันที่ 1 พฤษภาคม เนื่องจากผู้ประกอบการต้องเสนอมาตรการเข้ามาก่อนว่าจะเตรียมการอย่างไรได้บ้าง เช่นเจ้าหน้าที่ในการดูแลความปลอดภัย หรือมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม รวมถึงการกำหนดจำนวนคนที่เข้าใช้บริการ

ซึ่งต้องทยอยเปิดบางส่วนก่อน แต่ยังไม่ได้บอกว่าเมื่อไหร่ เพราะต้องพิจารณาตามความเหมาะสม ซึ่งตนเองเข้าใจดีว่าประชาชนเดือดร้อน แต่อยากให้คำนึงถึงสุขภาพมากกว่า เพราะหากเกิดการแพร่ระบาดกลับมาอีก สิ่งที่ทำมาทั้งหมดจะกลายเป็นศูนย์ ส่วนการผ่อนปรน ขนส่งเอกชนนั้นต้องใช้ดูระยะพินิจโดยให้กระทรวงมหาดไทยและฝ่ายความมั่นคงดูแลในส่วนนี้ เพื่อขอผ่อนปรนให้ทั่วถึง  

นายกรัฐมนตรี ย้ำว่ารัฐบาลมีวัตถุประสงค์ที่จะทำอย่างไร ให้ประเทศผ่านวิกฤตไปได้แต่ประชาชนจะต้องดำเนินชีวิตอย่างพอเพียงด้วย ซึ่งปัจจุบันมีหลายคนเรียกร้องให้มีการผ่อนปรนมาตรการต่างๆและเยียวยาให้ครอบคลุม ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้ดำเนินการไปแล้วหลายเรื่อง และไม่อยากให้มองเรื่องเงินเยียวยาอย่างเดียว พร้อมทั้งขอว่าอย่ามองว่า สิ่งที่รัฐบาลทำน้อยเกินไปเพราะต้องดูด้วยว่ารัฐบาลสามารถกู้เงินมาได้เท่าไหร่ และสามารถใช้ได้เท่าไหร่รวมถึงจะมีมาตรการรองรับวันหน้าได้อย่างไร