ไม่พบผลการค้นหา
รัฐบาลท้องถิ่นเวนิสจัดลงประชามติเรื่องการแบ่งแยกเขตปกครองเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังชาวเมืองจำนวนหนึ่งรณรงค์เพื่อให้เขตปกครองฝั่งที่เป็นเกาะมีอำนาจในการบริหารจัดการตนเอง

การลงประชามติเพื่อสอบถามความเห็นประชาชนในเมืองเวนิสของอิตาลี ที่มีต่อข้อเสนอ 'แบ่งเขตปกครองใหม่' ถูกจัดขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมา แต่เป็นการลงประชามติเรื่องเดิมเป็นครั้งที่ 5 ในรอบ 40 ปี 

กลุ่มผู้สนับสนุนการแบ่งเขตปกครองใหม่รณรงค์ให้ชาวเมืองเวนิสออกมาใช้สิทธิลงประชามติ โดยคนกลุ่มนี้เรียกร้องให้เขตปกครอง 2 เขตของเวนิสที่อยู่บนเกาะในทะเลสาบเวเนเซีย สามารถแยกตัวออกจากเขต 'เมสเตร' ที่เป็นย่านอุตสาหกรรมบนฝั่ง 

อย่างไรก็ตาม ผู้ออกมาลงประชามติคิดเป็น 18.6 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรกว่า 2 แสนคนที่มีสิทธิออกเสียง ทำให้การลงประชามติครั้งนี้ไม่มีผลที่จะขับเคลื่อนให้เกิดการแบ่งแยกเขตปกครองได้ เพราะเงื่อนไขของกฎหมายอิตาลีระบุว่าจะต้องมีผู้ลงประชามติอย่างน้อย 50 เปอร์เซ็นต์ของผู้มีสิทธิทั้งหมด จึงจะดำเนินเรื่องต่อไปได้

แม้สื่อจะรายงานว่าการลงประชามติครั้งนี้ 'ถูกเมิน' จากชาวเมืองเวนิส เพราะจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิมีไม่ถึงครึ่ง แต่ผู้สนับสนุนการแบ่งแยกเขตปกครองใหม่ระบุว่า จำนวนผู้ที่ออกมาลงประชามติเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับการจัดลงประชามติ 4 ครั้งก่อนหน้านี้

Reuters-น้ำท่วมเวนิส อิตาลี 2018 หนักสุดในรอบ 50 ปี
  • นักท่องเที่ยวในเวนิสช่วงน้ำท่วม

เหตุผลที่กลุ่มผู้อยู่บนเกาะในทะเลสาบเวเนเซียออกมารณรงค์แบ่งแยกเขตปกครองใหม่เพิ่มขึ้น มีที่มาจากหลายสาเหตุ โดยประเด็นล่าสุดคือความล้มเหลวในการบริหารจัดการปัญหาน้ำท่วม ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ และผู้รับผลกระทบเกือบทั้งหมดคือชาวเมืองที่อยู่ฝั่งเกาะ 

อีกปัญหาที่มีผู้ไม่พอใจ คือ การจัดสรรงบประมาณในการพัฒนาพื้นที่ที่แตกต่างกัน เพราะในระยะ 50 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลท้องถิ่นนำงบไปพัฒนาเขตเมสเตรที่อยู่บนแผ่นดินใหญ่มากกว่า เนื่องจากมีการตั้งโรงงานอุตสาหกรรม โรงแรม และห้างร้านขนาดใหญ่เพื่อรองรับการจ้างงาน

ส่วนพื้นที่บนฝั่งเกาะและย่านเมืองเก่าไม่ได้รับงบประมาณในการพัฒนาเท่ากับบนแผ่นดินใหญ่ แต่กลับต้องรับมือกับนักท่องเที่ยวจำนวนมหาศาลที่ไปเยือนย่านมรดกโลกเพิ่มขึ้นทุกปี ทำให้ผู้ที่เคยอยู่บนเกาะต้องย้ายไปอยู่บนฝั่งมากขึ้นเรื่อยๆ

ผู้ที่รณรงค์แบ่งแยกเขตปกครองยืนยันว่าพวกเขาจะไม่หยุดเคลื่อนไหวเรื่องนี้ง่ายๆ เพราะอย่างน้อยก็มีสัญญาณว่าผู้สนับสนุนประเด็นนี้ยังมีอยู่ และสักวันหนึ่งอาจจะประสบความสำเร็จในการแยกตัวก็เป็นได้

ที่มา: NPR/ REUTERS

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: