ไม่พบผลการค้นหา
กรมส่งเสริมการเกษตรเต้น แจงสถานะ 'ขึ้นทะเบียนเกษตรกร' ลั่นปัจจุบันมี 6.2 ล้านครัวเรือน สมาชิก 10 ล้านคน ย้ำเป็นข้อมูลฐานของเกษตรกรปลูกพืช ไม่รวมเลี้ยงสัตว์ ประมง เผยประชาชนสามารถตรวจสอบสถานะผ่านเว็บไซต์ ปรับเปลี่ยนข้อมูลได้ พร้อมปรับกระบวนการขึ้นทะเบียนปีการผลิตรอบใหม่ ตามมาตรการควบคุมโรคติดต่อ

ปมร้อน 'เราไม่ทิ้งกัน' ทำคนอกหักไม่ได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท 3 เดือน เหตุ AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์ของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ตีตราเป็น 'เกษตรกร' เพราะมีชื่อติดใน 'สมุดเขียว' ขึ้นทะเบียนเป็นเกษตรกรตามพ่อแม่ญาติพี่น้อง หรือ มีชื่อติดในทะเบียนของกรมประมง หรือ กรมปศุสัตว์ก็แล้วแต่

วันนี้ หน่วยงานที่ดูแลเรื่องการขึ้นทะเบียนเกษตรกร คนจัดทำสมุดเขียว ตั้งโต๊ะชี้แจงกับเกษตรกรและผู้พลาดเงินเยียวยาจากรัฐ รวมถึงชี้แจงกระบวนการขึ้นทะเบียนเกษตรกรรอบใหม่ปีการผลิต 2563/2564 ที่จะเริ่มขึ้นในวันที่ 1 พ.ค. 2563

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า จากประเด็นในสังคมขณะนี้ เรื่องไม่ได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท 3 เดือนในโครงการเราไม่ทิ้งกันจากรัฐบาล และพบว่า หลายกรณีไม่ได้รับเนื่องจากถูกระบุว่ามีอาชีพเกษตรกรและทำให้เกิดการกล่าวถึงกรมส่งเสริมการเกษตรในฐานะผู้รับผิดชอบข้อมูลฐานการขึ้นทะเบียนเกษตรกร ตนขอชี้แจงว่า ทะเบียนเกษตรกรที่เริ่มต้นดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2552 และปรับปรุงมาเป็นระยะๆ นั้นเป็นข้อมูลฐานของ 'เกษตรกรด้านพืช' ซึ่งไม่รวมอ้อย ยางพารา ยาสูบ ปศุสัตว์ เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ซึ่งเป็นการรับขึ้นทะเบียนตามรอบการผลิตของพืชแต่ละชนิด เพื่อใช้สำหรับช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรในกรณี เช่น เกิดภัยพิบัต น้ำท่วม ภัยแล้ง รวมถึงในโครงการประกันรายได้พืชผลการเกษตร

"ทะเบียนเกษตรกรเพิ่มได้ ปรับได้ เปลี่ยนได้ และขอยืนยันว่า แม้ปัจจุบันจะมีสถานการณ์โควิด-19 แต่เกษตรตำบล เกษตรอำเภอ ยังให้บริการขึ้นทะเบียน รวมถึงปรับปรุงข้อมูลเกษตรกรเหมือนเดิม เพียงแต่บางจังหวัดที่ผู้ว่าราชการจังหวัดออกประกาศมาตรการควบคุมโรคติดต่อ กำชับห้ามการชุมนุมของบุคคลจำนวนมาก เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องปรับการให้บริการ คือให้เกษตรกรรับแบบฟอร์ม ทบก.01 แล้วนำไปแนบกับเอกสารสำเนาต่างๆ รวบรวมไว้ที่อาสาเกษตรหมู่บ้าน และเจ้าหน้าที่จะไปเก็บเอกสารนำมากรอกบันทึกข้อมูลให้ หลังจากนั้นจึงจะมีเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบพื้นที่ให้อีกครั้ง" นายเข้มแข็งกล่าว

แจงทะเบียนเกษตรกร
  • นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร

อีกทั้งเมื่อมีกระแสข่าวว่า รัฐบาลจะให้เงินเยียวยาครัวเรือนเกษตรกร ในหลายพื้นที่ก็มีเกษตรกรมาที่เกษตรอำเภอขอขึ้นทะเบียนเพิ่มขึ้น ซึ่งกรมฯ ขอเรียนว่า เรื่องเงินเยียวยาเป็นเรื่องของหน่วยงานเจ้าของโครงการ กรมฯ มีหน้าที่เพียงขึ้นทะเบียนและเก็บข้อมูลฐานไว้ใช้ประกอบการดำเนินนโยบาย และข้อมูลจากกรมฯ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของข้อมูลจากหน่วยงานอื่นๆ ที่ใช้ประกอบ

นอกจากนี้ ขอย้ำว่า หากพบการให้ข้อมูลเท็จในทะเบียนเกษตรกร จะถือว่าเป็นความผิดอาญาตามมาตรา 137 และมาตรา 267 มีโทษจำคุกสูงสุด 3 ปี ปรับสูงสุด 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับด้วย

แจงทะเบียนเกษตรกรมี 6.2 ล้านครัวเรือน สมาชิก 10 ล้านคน

นางกุลฤดี พัฒนะอิ่ม รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ตามข้อมูลเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรปีการผลิต 2562/2563 มีครัวเรือนเกษตรที่ขึ้นทะเบียนไว้ทั้งสิ้น 6.2 ล้านครัวเรือน มีจำนวนสมาชิกในครัวเรือนทั้งสิ้น 10 ล้านราย ครอบคลุมพื้นที่เพาะปลูก 130 ล้านไร่ จากพื้นที่เพาะปลูกทั้งประเทศตามข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรทั้งหมด 149 ล้านไร่ 

โดยการขึ้นทะเบียนเกษตรกรของกรมส่งเสริมการเกษตรเป็นข้อมูลของ 1 ครัวเรือน ต่อ 1 ทะเบียนบ้าน ยึดตามเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 ล้าน ผูกกับเลขทะเบียนบ้าน 11 หลัก ซึ่งหัวหน้าครัวเรือนเกษตรที่แจ้งการขึ้นทะเบียนจะเป็นผู้แจ้งว่าสมาชิกในครัวเรือนที่ทำเกษตรมีจำนวนเท่าไร มีชื่อใครบ้าง

นอกจากนี้ในการขึ้นทะเบียนยังต้องตรวจสอบแหล่งที่ตั้งแปลงเกษตร โดยต้องมีขนาดพื้นที่เพาะปลูกตั้งแต่ 1 ไร่ขึ้นไป และผู้ลงทะเบียนจะต้องกรอกข้อมูล 9 หมวด ให้ครบถ้วน

อย่างไรก็ตาม ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 กรมส่งเสริมการเกษตร ได้อำนวยความสะดวกการขึ้นทะเบียนเกษตรกรให้ยื่นแบบ ทบก.01 (ทะเบียนเกษตร 01) ได้ที่ผู้นำชุมชน หรืออาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) เพื่อรวบรวมมาส่งสำนักงานเกษตรอำเภอ หรือเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรมาบันทึกให้ โดยสามารถรับแบบ ทบก.01 ได้ที่เกษตรตำบล หรือเกษตรอำเภอ หรือหากสะดวกสามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มได้ที่เว็บไซต์ของกรมฯ 

ส่วนรายที่ต้องการตรวจสอบสถานะหัวหน้าครัวเรือนหรือสมาชิกครัวเรือนเกษตร สามารถตรวจสอบได้ที่ http://farmer.doae.go.th รวมถึงสามารถปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร ผ่านแอปพลิเคชัน Farmbook ซึ่งใช้ได้ทั้งระบบแอนดรอยด์และไอโอเอส แต่การปรับปรุงทะเบียนผ่านแอปฯ จะทำให้คือ กรณียกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงสำหรับสมาชิกครัวเรือนเท่านั้น ถ้าเป็นหัวหน้าครัวเรือนหากประสงค์จะยกเลิกนำชื่อออกจากทะเบียนต้องยื่นเรื่องที่สำนักงานเกษตรอำเภอเท่านั้น 

โดยการยกเลิกนำชื่อออกจากสมาชิกครัวเรือนเกษตรในทะเบียนเกษตรกร ต้องแจ้งหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน แจ้งรหัสทะเบียนเกษตรกร ซึ่งปรากฎอยู่ในสมุดเขียว

แจงทะเบียนเกษตรกร
  • นางกุลฤดี พัฒนะอิ่ม รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร

"ดังนั้น เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนอยู่แล้ว 6.2 ล้านครัวเรือน สมาชิก 10 ล้านราย ซึ่งมีกลุ่มเกษตรกรปลูกข้าวตั้งแต่ 1 ไร่ขึ้นไปอยู่ในนี้ เรามั่นใจว่า มีครบ เพราะตั้งแต่ต้นปีการผลิต 2562/2563 เกษตรกรกลุ่มนี้คือกลุ่มที่เป็นข้อมูลฐานสำหรับรับเงินประกันรายได้จาก 5 พืช ตามมติ ครม. รวมถึงการรับส่วนลดปัจจัยการผลิตในช่วงที่ผ่านมา" น.ส.กุลฤดี กล่าว

แจงทะเบียนเกษตรกร
  • นางพรรณาภา ปรัชญาศิริ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อสาร

นางพรรณาภา ปรัชญาศิริ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อสาร กรมส่งเสริมการเกษตร ย้ำว่า ข้อมูลที่ปรากฎในทะเบียนเกษตรกรที่มีอยู่มีการปรับปรุงสถานะตามรอบการผลิตทุกปี ส่วนข้อมูลที่กระทรวงการคลังนำไปใช้พิจารณาสิทธิรับเงินเยียวในโครงการเราไม่ทิ้งกัน มาจากหลายแหล่ง ซึ่งข้อมูลจากกรมส่งเสริมการเกษตรเป็นเพียงส่วนหนึ่ง ในฐานข้อมูลที่เรียกว่า 'Farmer One' ที่มีทั้งเกษตรกรปลูกพืช เลี้ยงสัตว์น้ำที่มีทะเบียนกับกรมประมง หรือเลี้ยงสัตว์อื่นที่อยู่กับกรมปศุสัตว์

อีกด้านหนึ่งตามระเบียบกรมส่งเสริมการเกษตรที่ออกมาตั้งแต่ปี 2559 กรมฯ จะสามารถลบรายชื่อเกษตรกรออกจากทะเบียนได้ ก็ต่อเมื่อชื่อนั้นไม่มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง 3 ปีติดต่อกัน ซึ่งในอดีตกรมฯ ทำไม่ได้ เพราะสิทธิในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงข้อมูลเป็นของเกษตรกรเอง ไม่มีใครสามารถทำให้ได้ 

ดังนั้น ในกรณีผู้ที่มีชื่อในทะเบียนเกษตรกร แต่ปัจจุบันไม่ได้ทำอาชีพเกษตรแล้ว และต้องการปรับปรุงข้อมูล หรือแจ้งถอดชื่อออกจากทะเบียนสามารถตรวจสอบสถานะผ่านเว็บไซต์และแจ้งขอถอดรายชื่อได้ในกรณีเป็นสมาชิกของครัวเรือน แต่ถ้าเป็นหัวหน้าครัวเรือนต้องยื่นเรื่องที่สำนักงานเกษตรอำเภอเท่านั้น

เรื่องที่เกี่ยวข้อง :