ไม่พบผลการค้นหา
รมว.ผู้ลี้ภัยแคนาดี ชู 'แรงงานต่างชาติ' คือขุมกำลังเศรษฐกิจประเทศ เร่งดึงดูดแรงงานกลุ่มสาธารณสุขและนักศึกษาจบใหม่

ย้อนกลับไปเมื่อ 30 ต.ค.2563 'มาร์โค เมนดิซิโน' รัฐมนตรีว่าการกระทรวงผู้อพยพ, ผู้ลี้ภัย และสิทธิพลเมืองแห่งแคนาดา ประกาศแผนเปิดรับผู้อพยพชาวต่างชาติระหว่างปี 2564-2566 ด้วยตัวเลขรวมราว 1.2 ล้านคน 

เพื่อชดเชยกับเป้าหมายเดิมที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤตโควิด-19 ตลอดทั้งปี 2563 รัฐบาลแคนาดาเตรียมเปิดพื้นที่ให้ผู้อพยพราว 401,000 คน เข้ามาเป็นผู้พำนักถาวร (permanent residents) ในปีนี้ ปรับเพิ่มขึ้นจากเป้าหมายเดิมที่ 351,000 คน 

ขณะตัวเลขการเปิดรับผู้พำนักถาวรในปี 2565 อยู่ที่ 411,000 คน ปรับเพิ่มขึ้นจากเป้าหมายเดิมที่ 361,000 คน ส่วนตัวเลขสำหรับปี 2566 อยู่ที่ 421,000 คนเท่าเดิม 

แคนาดา - เยอรมนี
  •  อังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (ซ้าย), มาร์โค เมนดิซิโน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงผู้อพยพ, ผู้ลี้ภัย และสิทธิพลเมืองแห่งแคนาดา (ขวา)

ล่าสุด เมื่อ 14 เม.ย.ที่ผ่านมา รัฐมนตรีมาร์โค ยังประกาศแผนเปิดรับแรงงานชั่วคราวและนักศึกษาจบใหม่อีกกว่า 90,000 คน เพื่อปูทางสู่การเป็นผู้พำนักถาวรของแคนาดา

นโยบายพิเศษนี้พุ่งเป้าไปยังแรงงานชั่วคราวในโรงพยาบาล ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ หรือผู้ที่ปฏิบัติงานแนวหน้าของสถานการณ์โควิด-19 เป็นสำคัญ เช่นเดียวกับนักศึกษาต่างชาติที่จบการศึกษาระดับอุดมศึกษาจากมหาวิทยาลัยในแคนาดา ภายในระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา 

นโยบายดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 6 พ.ค.ที่จะถึงนี้ โดยแบ่งโควต้าออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ :

  • 1. 20,000 คำร้อง สำหรับแรงงานชั่วคราวในกลุ่มสาธารณสุข
  • 2. 30,000 คำร้อง สำหรับแรงงานชั่วคราวอื่นๆ ที่จำเป็น
  • 3. 40,000 คำร้อง สำหรับนักศึกษาต่างชาติที่จบสถาบันการศึกษาในแคนาดา 
แคนาดา - จัสติน ทรูโด - เอเอฟพี
  • จัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา

แรงงานต่างชาติคือ 'ขุมกำลัง' 

ตามข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งแคนาดา ณ ปี 2563 ประเทศมีประชากรรวมทั้งสิ้น 38 ล้านคน ในจำนวนนี้ มีบุคคลที่อายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปสูงถึง 6.8 ล้านคน หรือคิดเป็นประมาณ 17.8% หากปราศจากแรงงานต่างชาติที่เข้ามาขับเคลื่อนเศรษฐกิจแล้วนั้น รัฐมนตรีมาร์โค ย้ำว่าจะก่อให้เกิดปัญหาระหว่างสัดส่วนแรงงานกับผู้รับเงินบำนาญ

แคนาดา - เมือง - โทรอนโต

'เซ็ด ฮัสซาน' จากกลุ่มดูแลผู้อพยพในแคนาดาระบุว่า ปัจจุบันประเทศมี 'ผู้พำนักไม่ประจำ' (non-permanent residents) ราว 1.6 ล้านคน ซึ่งเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ

ขณะที่ในปี 2561 นักศึกษาต่างชาติกว่า 700,000 คน ยังสร้างให้เกิดเม็ดเงินกับประเทศสูงถึง 22,300 ล้านดอลลาร์แคนาดา หรือประมาณ 561,000 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนราว 1% ของจีดีพี 

การเปิดพื้นที่ให้แรงงานเหล่านี้เข้ามาเป็นผู้พำนักถาวรจึงเกิดแง่ดีทั้งในมิติความมั่นคงของแรงงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ และการแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นกับแรงงานที่ถือวีซ่าระยะสั้น-กลาง ที่มักถูกนายจ้างเอาเปรียบ 

อย่างไรก็ดี การเปิดรับผู้อพยพครั้งนี้ยืนอยู่บนฐานว่าผู้อพยพคนนั้นต้องมีศักยภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้แคนาดาได้ โดยจะมีระบบให้คะแนนทั้งจากการศึกษา ทักษะภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศส อาชีพปัจจุบัน หนังสือสัญญาจ้างจากบริษัทในแคนาดา 

อ้างอิง; The Economist, Government of Canada