ไม่พบผลการค้นหา
แม้เศรษฐกิจภาพใหญ่จะนิ่งๆ แต่ธุรกิจผลิตภัณฑ์ความงามและเครื่องสำอางไม่หยุดนิ่ง ข้อมูลจากยูโรมอนิเตอร์ชี้ว่า เมื่อปี 2561 ตลาดความงามประเทศไทยเติบโตร้อยละ 7.3 มีมูลค่ามากถึง 1.92 แสนล้านบาท พร้อมการรุกคืบของเทคโนโลยีความงามและการบริการ ทำให้เจ้าใหญ่อย่าง 'ลอรีอัล ประเทศไทย' ก็ไม่หยุดนิ่ง จะนำเสนอ 'บิวตี้ เทค' แก่ผู้บริโภคชาวไทยเช่นกัน

ทำธุรกิจทุกวันนี้ นอกจากพัฒนาผลิตภัณฑ์แล้วก็ต้องพัฒนาบริการให้ครอบคลุมกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไปด้วย รวมถึงธุรกิจความงาม 'อินเนส คาลไดรา' กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด บอกว่า ปี 2561 ที่ผ่านมา ตามข้อมูลของยูโรมอนิเตอร์ชี้ว่าตลาดความงามในประเทศไทยเติบโตจากปีก่อนหน้าร้อยละ 7.3 ด้วยมูลค่าตลาดรวมกว่า 1.92 แสนล้านบาท และนับว่า เติบโตเพิ่มขึ้นทุกปี 

ส่วนปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจความงามและเครื่องสำอางในประเทศไทยเติบโตขึ้นมาจาก 3 ปัจจัย ได้แก่

  • หนึ่ง การขยายตัวของสังคมเมือง (urbanization)
  • สอง การเติบโตของชนชั้นกลาง (middle class)
  • สาม การเข้าสู่สังคมสูงวัย โดยภายในปี 2573 ประเทศไทยจะมีประชากรอายุเกิน 60 ปี ในสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 20 


"การเข้าสู่สังคมเมือง มีชนชั้นกลาง มีกำลังซื้อมากขึ้น ทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงสินค้าความงามมากขึ้น ขณะที่การเข้าสู่สังคมสูงวัย ก็ทำให้ผู้บริโภคต้องการผลิตภัณฑ์ความงามมาดูแลตัวเองเพิ่มขึ้นเช่นกัน"


ดังนั้น ตามข้อมูลของยูโรมอนิเตอร์ จึงพบว่า เมื่อปี 2561 อุตสาหกรรมความงามในประเทศไทยขยายตัวร้อยละ 7.3 มีมูลค่าตลาด 1.92 แสนล้านบาท แบ่งเป็นผลิตภัณฑ์ดูแลผิว หรือ สกิน แคร์ ร้อยละ 45 ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม ร้อยละ 16 ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางร้อยละ 13 ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดร่างกาย ร้อยละ 9 และน้ำหอม ร้อยละ 4 

เจาะให้ลึกลงไป ยังพบว่า ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลผิว เติบโตร้อยละ 7.9 มูลค่าตลาดรวม 8.65 หมื่นล้านบาท ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง เติบโตร้อยละ 8.5 มูลค่าตลาดรวม 2.48 หมื่นล้านบาท ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมเติบโตร้อยละ 2.7 มูลค่าตลาดรวม 3.11 หมื่นล้านบาท และผลิตภัณฑ์น้ำหอม เติบโตร้อยละ 6.8 มูลค่าตลาดรวม 9 พันล้านบาท 

อินเนส คาลไดรา-ลอรีอัล

อย่างไรก็ตาม แม้จะลอรีอัลจะเป็นองค์กรอายุ 100 ปี เป็นธุรกิจใหญ่โตระดับโลก มีธุรกิจอยู่ใน 150 ประเทศ มีพนักงานทั่วโลก 86,000 คน มีสิทธิบัตร 505 ฉบับ แต่ในยุคดิจิทัล และการค้าออนไลน์เข้ามามีบทบาทอย่างมากเช่นปัจจุบัน ลอรีอัล ก็ไม่หยุดจะพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการให้เท่าทันกับโลกและความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป 

'อินเนส' ให้ข้อมูลว่า ในระดับโลก ลอรีอัลมีส่วนแบ่งในตลาดอีคอมเมิร์ซด้านความงามร้อยละ 11 และมีอัตราการขยายตัวกว่าร้อยละ 40.6 แม้จะไม่สามารถให้ตัวเลขส่วนแบ่งตลาดและอัตราการขยายตัวในประเทศไทยได้ แต่เธอยืนยันว่า นี่คือทิศทางของธุรกิจและลอรีอัลก็ลงทุนด้านเทคโนโลยีเพื่อให้บริการด้านความงามในระดับโลกเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 30 ต่อปี ที่ผ่านมา ได้ปรับองค์กร สร้าง "ดิจิทัล ทีม" มีคอร์สฝึกอบรมพนักงานด้านนี้มากกว่า 500 ชั่วโมง

รวมถึงการพัฒนา 'บิวตี้ เทค' ขึ้นมารองรับการบริการ ซึ่งไม่ใช่เพียงการลงทุนด้านการโฆษณาประชาสัมพันธ์เท่านั้น แต่เป็นการลงทุนเพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้บริโภคให้รู้จักแบรนด์ ให้ผู้บริโภคมีประสบการณ์ในแบรนด์ และทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อสินค้าของแบรนด์ได้มากขึ้น 

จับมือ วัตสัน พัฒนาแอปฯ 'Modiface' ให้ลูกค้าลองแต่งหน้าผ่านจอก่อนตัดสินใจซื้อ

ดังนั้นในปีนี้ ลอรีอัล (ประเทศไทย) จึงนำเทคโนโลยีด้านความงามมาให้ผู้บริโภคในประเทศไทยได้ลองใช้ อันแรกคือ EFFACLAR SPOTSCAN จากแบรนด์ลา โรช-โพเซย์ เป็นเทคโนโลยีวินิจฉัยปัญหาสิว และให้คำแนะนำดูแลผิวในแต่ละคน โดยเดือนเม.ย นี้จะเริ่มให้บริการตามเคาน์เตอร์ต่างๆ สอง คือ ColorMe เป็นการทดลองแต่งหน้าผ่านแอปพลิเคชั่น 'Modiface' ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างลอรีอัล กับ วัตสัน เพื่อให้บริการทดลองเครื่องสำอางผ่านแอปฯ ตั้งแต่รองพื้นถึงลิปสติก ผ่านแบรนด์เครื่องสำอาง ลอรีอัล ปารีส และเมย์เบลลีน นิวยอร์ก

"จากผลสำรวจเราพบว่าผู้บริโภคชาวไทยเพียงร้อยละ 10 ของจำนวนประชากรที่เข้าถึงแพทย์ผิวหนัง และจำนวนมากยังไม่กล้าใช้เครื่องสำอางที่ไม่รู้จักหรือไม่เคยใช้ การนำเทคโนโลยีวินิจฉัยปัญหาสิวและผิวหน้ามาใช้ และการแต่งหน้าผ่านแอปฯ ที่เสมือนการแต่งหน้าจริงๆ จะสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับผู้บริโภค" 

ลอรีอัล-Beauty Tech-บิวตี้ เทค-Effaclar Spotscan-ความงาม

เนื่องจากเทรนด์ของธุรกิจความงามในปีในโลกกำลังขับเคลื่อนไปสู่ 6 ด้าน ได้แก่ 

1.การสร้างตัวตน ความโดดเด่น (De Averaging) 

2.การใช้ดิจิทัล (Digital Me)

3.การสร้างประสบการณ์ผ่านสิ่งต่างๆ (All About Experience) 

4.การต้องการสินค้าที่ปลอดภัยทั้งด้านร่างกายและจิตใต (Health Imperative)

5.ความต้องการสินค้าที่มีคุณภาพผ่านการพัฒนาและวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Augmented Performance) 

6.การใช้แบรนด์ที่น่าเชื่อถือ โปร่งใส (Need For Transparency)  

ดังนั้น ถึงจะเป็นธุรกิจความงาม แต่ก็ต้องพัฒนาไปตามโลก ที่ต้องใช้ทั้ง AR (Augmented Reality) หรือ การจำลองภาพเสมือนจริง, AI (Artificial Intelligence) หรือ ปัญญาประดิษฐ์ และ VO (Voice Ordering) หรือ การใช้คำสั่งด้วยเสียง 

ลอรีอัล อุตสาหกรรมความงาม

เพราะในโลกธุรกิจ ที่มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว การปรับตัวให้ทัน และหาทางเลือกที่ดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็นตลาดระดับโลก หรือตลาดในประเทศไทย ล้วนเป็นสิ่งจำเป็น

ส่วนการรุกเข้าสู่ตลาดอีคอมเมิร์ซ การสร้าง 'บิวตี้ เทค' นั้น 'กรรมการผู้จัดการ ลอรีอัล ประเทศไทย' ระบุว่า สิ่งเหล่านี้คือบริการที่จะสร้างสมดุลระหว่างตลาดออนไลน์และออฟไลน์ และทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงสินค้าและบริการของบริษัทไทยเท่าๆ กัน

 ข่าวที่เกี่ยวข้อง :