ไม่พบผลการค้นหา
ภาคีองค์กรภาคประชาชน 70 องค์กร ยื่นจดหมายเปิดผนึกต่อประธาน สนช. ขอให้ทบทวบมติไม่รับรอง 5 บุคคล นั่งกรรมการสิทธิมนุษยชน ชี้เป็นมติที่ไม่ชอบธรรม ขัดกับหลักการธรรมาภิบาล

องค์กรภาคประชาสังคม องค์กรสิทธิมนุษยชน จำนวน 70 องค์กร นำโดยขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย (WeMove) ร่วมกับบุคคล 70 คน ร่วมลงชื่อ ยื่นจดหมายเปิดผนึกต่อ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยไม่เห็นด้วยกับ การลงมติของที่ประชุม สนช. ที่ไม่รับรองผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จำนวน 5 คน คือ นางสมศรี หาญอนันทสุข นายไพโรจน์ พลเพชร ดร.จตุรงค์ บุณยรัตนสุนทร นายบุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์ และนายสุรพงษ์ กองจันทึก โดยระบุว่าเป็นการลงมติของ สนช.ที่ไม่ยืนอยู่บนหลักการสิทธิมนุษยชนตามที่คณะกรรมการสรรหาใช้ในการพิจารณารับรองบุคคลทั้ง 5 คนดังกล่าวมาแล้ว

สืบเนื่องจากการลงมติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในการรับรองบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเมื่อวันที่ 27ธันวาคม 2561 ด้วยการรับรองผู้ที่คณะกรรมการสรรหาเสนอรายชื่อให้พิจารณาเพียง 2 คน และไม่รับรอง 5 คน ประกอบด้วย นางสมศรี หาญอนันทสุข นายไพโรจน์ พลเพชร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จตุรงค์ บุณยรัตนสุนทร นายบุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์ และ นายสุรพงษ์ กองจันทึก ตามที่รับทราบกันโดยทั่วไปแล้วนั้น

องค์กรภาคประชาสังคม องค์กรสิทธิมนุษยชน และบุคคลที่มีรายนามท้ายจดหมายนี้ มีความเห็นว่าการลงมติของ สนช.ไม่ยืนอยู่บนหลักการสิทธิมนุษยชนตามที่คณะกรรมการสรรหาใช้ในการพิจารณารับรองบุคคลทั้ง 5 คน ตามเหตุผลต่อไปนี้

1.การไม่รับรองบุคคลทั้ง 5 คน ที่ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการสรรหาว่า เป็นผู้มีความรู้และประสบการณ์ด้านการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเป็นที่ประจักษ์ และมีคุณสมบัติเฉพาะทั้งสี่ด้าน ตามมาตรา 8 มาตรา 9 และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 10 ของ พ.ร.บ.ประกอบคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

โดยการลงคะแนนเสียงรับรอง 10 - 15 คะแนน และไม่รับรอง 135-145 คะแนน ทำให้เป็นที่ประจักษ์ได้ว่าเป็นการลงคะแนนที่มีลักษณะจัดตั้ง ชี้นำ จนอาจทำให้เชื่อได้ว่าเป็นการจงใจปฏิเสธบุคคลที่ทำงานภาคประชาสังคม (NGOs) ที่ทำงานและมีผลงานเป็นที่ประจักษ์อย่างต่อเนื่อง ด้านการส่งเสริมสิทธิและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ซึ่งอาจส่งผลให้สังคมไทยต้องเสียโอกาสในการพัฒนาสิทธิมนุษยชนของประชาชนและอาจสูญเสียความน่าเชื่อถือจากนานาชาติด้านสิทธิมนุษยชน

2.มติของ สนช. ส่วนใหญ่จึงไม่เป็นไปตามหลักการปารีสที่ระบุให้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนทุกประเทศต้องเปิดพื้นที่ให้ภาคประชาชน หรือภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการสรรหา และการได้รับแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน เพื่อให้เกิดความเป็นอิสระในการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ

การไม่รับรองบุคคลดังกล่าวทำให้ส่งผลลบต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยที่ติดลบจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่แล้ว ก็จะยิ่งติดลบมากขึ้น สุ่มเสี่ยงต่อสถานภาพของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนไทยที่ขณะนี้ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่ม B กลายเป็นกลุ่ม C คือตกไปอยู่ในกลุ่มที่มีสถานภาพต่ำสุด ไม่สามารถเข้าประชุมกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติในฐานะผู้เข้าร่วมประชุม ไม่มีสิทธิเสนอญัตติ ไม่มีสิทธิสมัครเข้าเป็นคณะกรรมการ และไม่มีสิทธิออกเสียงในที่ประชุมแต่อย่างใด

3.สนช. ตั้งคณะกรรมาธิการสามัญ เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ พฤติกรรมทางจริยธรรมผู้ผ่านการสรรหา อาจขัดกับอำนาจ หน้าที่ของคณะกรรมการสรรหา มาตรา 13 (3) ที่บัญญัติไว้ว่า “ในการสรรหา ให้คณะกรรมการสรรหาปรึกษาหารือเพื่อคัดสรรให้ได้บุคคลซึ่งมีความรับผิดชอบสูง มีความกล้าหาญในการปฏิบัติหน้าที่ และมีพฤติกรรม ทางจริยธรรมเป็นตัวอย่างที่ดีของสังคม มีทัศนคติที่เหมาะสมในการปฏิบัติหน้าที่ให้เกิดผลสำเร็จ รวมตลอดทั้งคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของทั้งหญิงและชาย และส่งเสริมความเป็นพหุสังคม และให้คณะกรรมการสรรหาส่งข้อมูลที่ใช้ในการพิจารณาคัดสรรไปยังวุฒิสภาเพื่อประกอบการพิจารณาด้วย” ซึ่งย่อมเห็นได้ว่าคณะกรรมการสรรหา 

อันประกอบด้วย ประธานศาล ประธาน สนช. ผู้แทนองค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน อาจารย์ นายกสภาทนายความฯ และผู้แทนสภาวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุข ผู้แทนสภาวิชากชีพสื่อมวลชน เป็นบุคคลที่เป็นที่ยอมรับและน่าเชื่อถือทางสังคม ได้ให้ความเห็นชอบต่อผู้เข้ารับการสรรหาทั้งห้าคน ในเรื่องความรับผิดชอบสูง มีความกล้าหาญในการปฏิบัติหน้าที่ และมีพฤติกรรม ทางจริยธรรม ดังกล่าวไปแล้ว

ดังนั้นการแต่งตั้งกรรมาธิการสามัญตรวจสอบประวัติ จริยธรรม ความประพฤติ จึงเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ซ้ำซ้อนและไม่ยอมรับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสรรหา ทั้ง ๆ ที่อำนาจหน้าที่คณะกรรมการสรรหา ถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.ป.คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ขณะที่ อำนาจหน้าที่คณะกรรมาธิการสามัญตรวจสอบประวัติฯ ถูกกำหนดไว้เพียงข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติเท่านั้น

4.การจัดให้มีการประชุมลับเพื่อรายงานผลการตรวจสอบประวัติผู้ผ่านการสรรหา ระหว่างคณะกรรมาธิการตรวจสอบประวัติฯ กับ สนช. ก่อนที่จะมีการลงมตินั้น ไม่อาจกระทำได้ในกรณีของการรับรองผู้ที่ผ่านการสรรหาให้ได้รับการแต่งตั้งเป็น กสม. แม้ว่าข้อบังคับการประชุมของ สนช. ปี 2560 ข้อ 131 ได้ให้อำนาจแก่ สนช. ในการตั้งกรรมาธิการตรวจสอบประวัติได้ และข้อบังคับข้อ 134 ข้อ 135 และข้อ 137 ให้อำนาจในการจัดทำรายงานลับได้ก็ตาม แต่ สนช. ไม่ควรใช้ข้อบังคับการประชุมดังกล่าวมาใช้ 

เนื่องจากการสรรหาและการแต่งตั้ง กสม. ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามหลักการของ “สมาพันธ์สถาบันสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ” หรือ Global Alliance of National Human Rights Institution – GANHRI ซึ่งเป็นกลไกขององค์การสหประชาชาติในการกำกับการได้มาซึ่ง กสม. ของทุกประเทศตามมาตรฐานสากลที่ต้องมีการดำเนินการที่โปร่งใส มีการให้ข้อมูลกับสังคม 

ด้วยเหตุผลข้างต้นดังกล่าว องค์กรภาคประชาสังคม องค์กรสิทธิมนุษยชน และบุคคลที่มีรายนามในท้ายจดหมายนี้จึงไม่อาจยอมรับมติของ สนช. ในวันที่ 27 ธันวาคม 2561 ได้ และมีข้อเรียกร้องต่อท่านประธาน สนช. โปรดดำเนินการดังต่อไปนี้

1.ให้ทบทวนการตั้งคณะกรรมาธิการสามัญ เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ พฤติกรรมทางจริยธรรมผู้ผ่านการสรรหา และต้องนำรายงานคณะกรรมการสรรหา มาประกอบการพิจารณาการรับรอง ผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

2.เปิดเผยรายงานการประชุมลับที่คณะกรรมาธิการตรวจสอบประวัติเสนอต่อ สนช. เพื่อให้สังคมได้รับทราบเหตุผลในการไม่รับรองบุคคล 5 คนที่ผ่านการสรรหาให้เป็นผู้ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น กสม. เพื่อความโปร่งใส และเพื่อความบริสุทธิ์ใจในการตัดสินใจของ สนช.

3.ยกเลิกมติ สนช. ที่ไม่รับรองบุคคล 5 คน อันเนื่องจากเป็นมติที่ไม่มีความชอบธรรม ขัดกับหลักการธรรมาภิบาล และขัดกับหลักการปารีสซึ่งหาก สนช.เห็นว่า การเลือก กสม. เป็นเรื่องกิจการภายในประเทศ และ สนช.ก็ได้ทำตามข้อบังคับการประชุมของ สนช.แล้ว ไม่จำเป็นต้องยึดหลักการปารีส จะเป็นความเข้าใจที่ผิดอย่างมหันต์ 

องค์กรภาคประชาสังคม องค์กรสิทธิมนุษยชน และบุคคลที่มีรายนามท้ายจดหมายนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ท่านประธาน สนช. จะรับฟังและปฏิบัติตามข้อเรียกร้องดังกล่าว เพื่อกอบกู้วิกฤติศรัทธาที่กำลังเกิดขึ้นกับ สนช.ชุดที่ท่านเป็นประธาน โดยควรทำการยกเลิกมติของ สนช. ในวันที่ 27 ธันวาคม 2561 ก่อนที่ สนช. ชุดนี้จะหมดวาระเมื่อมีการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาชุดใหม่ ซึ่งจะเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่ถูกต้องใน���ารสรรหาบนฐานหลักยึดทั้งสองระดับคือหลักการที่ควรจะเป็นในระดับประเทศและหลักการที่ถูกต้องในระดับสากล เพื่อนำไปลงมติรับรองหรือไม่รับรองบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในวุฒิสภาชุดใหม่ต่อไป