ไม่พบผลการค้นหา
ครม. มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎ ก.พ. ให้ข้าราชการพลเรือนสามัญอายุ 60 ปีทำงานต่อไปได้ เฉพาะตำแหน่งวิชาการ ประเภทเชี่ยวชาญ ทรงคุณวุฒิ พร้อมตำแหน่งทั่วไป ระดับอาวุโส ทักษะพิเศษ

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 21 พ.ค. มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎ ก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญ ซึ่งมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์รับราชการต่อไป (ฉบับที่... ) พ.ศ.... ตามที่สำนักงาน ก.พ. เสนอ เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา ใช้บังคับต่อไป โดยสาระสำคัญของร่างกฎ ก.พ. ดังกล่าวยังคงหลักการเดิมตามกฎ ก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญ ซึ่งมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์รับราชการต่อไป 

โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 108 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ที่กำหนดให้การรับราชการต่อไปเมื่อสิ้นปีงบประมาณ ที่อายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ โดยผู้นั้นต้องเป็นผู้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับเชี่ยวชาญ หรือระดับทรงคุณวุฒิ หรือตำแหน่งประเภททั่วไป ระดับอาวุโส หรือระดับทักษะพิเศษ แต่ให้สามารถนำระยะเวลาที่เคยดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับเชี่ยวชาญ หรือ ระดับทรงคุณวุฒิ หรือตำแหน่งประเภททั่วไป ระดับอาวุโส หรือระดับทักษะพิเศษ แล้วแต่กรณี ซึ่งต่อเนื่องกันมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี มาใช้เป็นคุณสมบัติในการพิจารณาให้รับราชการต่อไปได้ 

โดยตำแหน่งที่จะให้รับราชการต่อไปนั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นตำแหน่งที่ผู้นั้นครองอยู่เดิม แต่ต้องไม่เป็นการกำหนดตำแหน่งเพิ่มใหม่ เพื่อบรรเทาปัญหาความขาดแคลนบุคลากรในสาขาที่เป็นภารกิจสำคัญของรัฐ และเพื่อรองรับปัญหาการเข้าสู่สังคมสูงวัย จึงได้เสนอร่างกฎ ก.พ.ฯ ซึ่งได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมในประเด็นดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้าหน้านี้ นางเมธินี เทพมณี เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) กล่าวว่า สำนักงาน ก.พ. ศึกษาเรื่องกำลังคน และสังคมสูงอายุมานานกว่า 10 ปี จนเป็นข้อเสนอตามแผนการปฏิรูปประเทศ ที่เสนอให้ขยายอายุเกษียณราชการจาก 60 ปี เป็น 63 ปี ซึ่งจะใช้เวลาดำเนินการ 6 ปี คือ จะขยายอายุเกษียณเพิ่มขึ้น 1 ปี ทุกๆ 2 ปี และต้องแก้ไขกฎหมายอย่างน้อย 3 ฉบับ

อย่างไรก็ดี เรื่องการขยายอายุเกษียณราชการยังเป็นแนวคิดที่คณะกรรมการปฏิรูปประเทศเสนอ เนื่องจากบริบทสังคมไทยในปัจจุบันมีอายุเฉลี่ยประชากรเพิ่มขึ้นเป็น 70 กว่าปี จากหลายสิบปีก่อนที่คนไทยมีอายุเฉลี่ย 60 ปี จึงมีการกำหนดอายุเกษียณราชการที่ 60 ปีบริบูรณ์

ทั้งนี้ ตามเอกสารกำลังคนภาครัฐ 2560 ข้าราชการพลเรือนสามัญ ซึ่ง สำนักงาน ก.พ. จัดทำเผยแพร่ตามปีงบประมาณ 2560 ระบุว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 ตำแหน่งวิชาการ มีทั้งสิ้น 275,562 ตำแหน่ง แบ่งเป็น ประเภททรงคุณวุฒิ มีจำนวน 166 ตำแหน่ง คิดเป็นร้อยละ 0.04 ประเภทเชี่ยวชาญ มีจำนวน 3,125 ตำแหน่ง คิดเป็นร้อยละ 0.81 ประเภทชำนาญการพิเศษ มีจำนวน 28,812 ตำแหน่ง คิดเป็นร้อยละ 7.49 ประเภทชำนาญการ มีจำนวน 173,782 ตำแหน่ง คิดเป็นร้อยละ 45.18 และประเภทปฏิบัติการ มีจำนวน 69,677 ตำแหน่ง คิดเป็นร้อยละ 18.11

ส่วนตำแหน่งทั่วไป มีทั้งสิ้น 7,121 ตำแหน่ง แบ่งเป็น ประเภทอาวุโส มีจำนวน 7,118 ตำแหน่ง คิดเป็นร้อยละ 1.85 ประเภททักษะพิเศษ มีจำนวน 3 ตำแหน่ง คิดเป็นร้อยละ 0.001 ประเภทชำนาญงาน 70,327 ตำแหน่ง คิดเป็นร้อยละ 18.28 และประเภทปฏิบัติงาน 24,276 ตำแหน่ง คิดเป็นร้อยละ 6.31

จากภาพรวมตำแหน่งข้าราชการพลเรือนสามัญรวม 418,108 ตำแหน่ง ที่มีคนครอง (คนทำงาน) 348,653 ตำแหน่ง คิดเป็นร้อยละ 92 และตำแหน่งว่างจำนวน 33,449 ตำแหน่ง คิดเป็นร้อยละ 8 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :