ไม่พบผลการค้นหา
ก.พ. ต่างชาติได้รับอนุญาตลงทุนไทย 17 ราย มีเงินลงทุนที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ 205 ล้านบาท จ้างงานคนไทย 526 คน ส่วนใหญ่เป็นญี่ปุ่น สิงคโปร์ จีน รวม 2 เดือนต้นปี (ม.ค.-ก.พ.) ต่างชาติได้รับใบอนุญาตลงทุน 34 ราย เม็ดเงินรวม 395 ล้านบาท มูลค่าเงินลงทุนลดลงร้อยละ 67 เนื่องจากปีที่ผ่านมาต่างชาติลงทุนธุรกิจที่ใช้เงินลงทุนสูงหลายโครงการ

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เปิดเผยว่า ในการประชุมของคณะกรรมการฯ เมื่อวันที่ 20 ก.พ. ที่ผ่านมา คณะกรรมการฯ ได้อนุญาตให้คนต่างด้าว 17 ราย ประกอบธุรกิจในประเทศไทย โดยส่วนใหญ่เป็นคนต่างด้าวจากประเทศญี่ปุ่น สิงคโปร์ และจีน ซึ่งมีการนำเงินเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจกว่า 205 ล้านบาท และส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานคนไทย 526 คน รวมถึงมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรงจากประเทศผู้เข้ามาลงทุน

การอนุญาตให้ประกอบธุรกิจในครั้งนี้จะมีผลให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นวิทยาการ ซึ่งเป็นองค์ความรู้ในแขนงที่คนไทยยังไม่มีความชำนาญหรือมีความเชี่ยวชาญในระดับที่ไม่สูงมากนัก เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับนวัตกรรมที่ใช้กับเครื่องขึ้นรูปพลาสติก การออกแบบผลิตภัณฑ์และการใช้งานโปรแกรม CAD NX สำหรับการขึ้นรูปชิ้นงาน องค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตเครื่องประดับชนิดต่างๆ องค์ความรู้เกี่ยวกับการผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์นิรภัยของยานยนต์ องค์ความรู้เกี่ยวกับลักษณะเฉพาะของเครื่องบดดิน หินและส่วนต่อสำหรับเคลื่อนย้ายเครื่องบดดิน หิน เป็นต้น

สำหรับธุรกิจที่คนต่างด้าวได้รับอนุญาต ได้แก่

  • ธุรกิจบริการให้แก่บริษัทในเครือ/ในกลุ่ม จำนวน 7 ราย มีเงินลงทุนจำนวน 55 ล้านบาท คือ บริการทางบัญชี กิจการนายหน้าในการจำหน่ายผ้าทอด้วยเส้นใยสังเคราะห์ สำหรับผลิตเสื้อผ้าป้องกันความร้อนและเสื้อนิรภัยป้องกันเปลวไฟ บริการรับจ้างผลิตเครื่องประดับ เสื้อผ้าสำเร็จรูป กระเป๋าใส่ของ และอุปกรณ์สำหรับอาบน้ำ บริการสนับสนุนบุคลากรเพื่อไปปฏิบัติงานเกี่ยวกับการจัดการด้านโลจิสติกส์ ด้านการบริหารจัดการคลังสินค้า และด้านการดำเนินพิธีการศุลกากร บริการให้คำปรึกษาแนะนำและบริหารจัดการในด้านต่างๆ โดยส่วนใหญ่เป็นคนต่างด้าวจากประเทศญี่ปุ่น ไต้หวัน และสิงคโปร์
  • ธุรกิจบริการให้แก่ลูกค้า จำนวน 8 ราย มีเงินลงทุนจำนวน 103 ล้านบาท ได้แก่ บริการทางวิศวกรรมด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ บริการทดสอบชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องกับระบบนิรภัยในยานยนต์ บริการให้เช่าแบบลีสซิ่งเครื่องมือและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการในศูนย์บริการของผู้จำหน่ายรถยนต์ บริการให้ใช้ช่วงสิทธิโปรแกรมซอฟต์แวร์ บริการสนับสนุนบุคลากรเพื่อไปปฏิบัติงานเกี่ยวกับการทำการตลาดและส่งเสริมการขายยาและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ การค้าส่งอุปกรณ์ของโทรศัพท์เคลื่อนที่ คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ โน้ตบุ๊ค และแท็บแล็ต บริการให้เช่าที่ดินบางส่วน พร้อมสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวก โดยส่วนใหญ่เป็นคนต่างด้าวจากประเทศญี่ปุ่น เยอรมนี และเนเธอร์แลนด์
  • ธุรกิจค้าส่ง จำนวน 1 ราย มีเงินลงทุนจำนวน 13 ล้านบาท ได้แก่ การค้าส่งเครื่องจักรสำหรับใช้ในกระบวนการขึ้นรูปพลาสติก โดยเป็นคนต่างด้าวจากประเทศจีน
  • ธุรกิจบริการเป็นคู่สัญญาเอกชน จำนวน 1 ราย มีเงินลงทุนจำนวน 34 ล้านบาท ได้แก่ บริการงานวิศวกรรม การจัดหา ติดตั้ง และทดสอบการใช้งานของระบบเครื่องบดดินหรือหินกึ่งเคลื่อนที่โครงการแม่เมาะ โดยเป็นคนต่างด้าวจากประเทศเกาะแมน

ทั้งนี้ ในเดือน ก.พ. 2562 จำนวนธุรกิจที่ได้รับอนุญาตเท่ากับเดือนก่อน ขณะที่เงินลงทุนเพิ่มขึ้น 15 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 8 เนื่องจากในเดือน ก.พ. 2562 มีผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจ ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนสูง คือ การทำกิจการบริการทางวิศวกรรมด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ บริการงานวิศวกรรม การจัดหา ติดตั้ง และทดสอบการใช้งานของระบบเครื่องบดดินหรือหินกึ่งเคลื่อนที่โครงการแม่เมาะ เป็นต้น

ส่วนในเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2562 คนต่างด้าวได้รับใบอนุญาต จำนวน 34 ราย มีเงินลงทุนทั้งสิ้น 395 ล้านบาท และเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรากฏว่า จำนวนธุรกิจที่ได้รับอนุญาตลดลง 10 ราย คิดเป็นร้อยละ 23 ขณะที่เงินลงทุนลดลง 787 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 67 เนื่องจากในปี 2561 มีต่างชาติลงทุนประกอบธุรกิจที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง อาทิ บริการออกแบบทางวิศวกรรมและติดตั้งเหล็กโครงสร้างรูปพรรณและผลิตภัณฑ์คอนกรีต บริการออกแบบ จัดหา ก่อสร้างและติดตั้งเครื่องจักรและอุปกรณ์ เป็นต้น