ไม่พบผลการค้นหา
17 – 18 พ.ย. นี้นับเป็นวันชี้ชะตาโฉมหน้าการเมืองไทยว่า จะเป็นอย่างไรต่อไป ภายหลังรัฐบาลและ ส.ว.เล่นเกมยื้อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2560 มากว่าเดือนครึ่ง ก็ได้กำหนดที่จะต้องลงมติ ซึ่งยังไม่ทราบว่า ผลจะเป็นอย่างไร

‘วอยซ์’ พาย้อนชมเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุด จากหนังสือ “ความในใจของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) 2560” โดยเฉพาะของซือแป๋ ‘มีชัย ฤชุพันธ์’ ประธาน กรธ. ที่สังคมไทยจะจดจำชื่อนี้ไปอีกนาน ดังนี้

เสมียนประจำโรงงานผลิตรัฐธรรมนูญ บันทึกไว้เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2561 ร่ายคำนำถึงที่มาที่ไปก่อนมารับเผือกร้อนยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับสืบทอดอำนาจ คสช.

โดยเริ่มในลักษณะออกตัวถึงการดึงตัว ‘บวรศักดิ์ อุวรรณโณ’ อดีตประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2557  มาร่างรัฐธรรมนูญทั้งที่ไม่อยากร่าง แถมไม่ทราบว่า ผลจะออกมาว่า กระทั่งถูกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) 1 ในแม่น้ำ 5 สาย เครือข่ายเผด็จการ คสช.ด้วยกันคว่ำทิ้ง จน ‘บวรศักดิ์’ ต้องออกมาแฉดื้อๆ ว่า "เขาอยากอยู่ยาว"

ถัดมา ‘มีชัย’ ยังยกถึงผลการลงประชามติเพื่อเหน็บแนมนักการเมืองที่ออกมาโจมตี แต่เขาไม่ได้โต้งแย้งอย่างเป็นเหตุเป็นผลในแง่ของความเสรีและเป็นธรรมในการลงประชามติ ที่มีการจับกุม คุมขัง ผู้รณรงค์โหวตโน

ส่วนการมารับหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญนั้น ระบุว่า ตนเองไม่อยากมา "รับเคราะห์กรรม" แต่เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ขอร้อง ตีกรอบ 5 ข้อ คือ 1.สากลยอมรับ แต่ต้องเป็นไทย 2. กลไกปฏิรูปและปรองดอง 3. ป้องกันการใช้อำนาจโดยมิชอบ 4. ปราบโกง 5. กลไกการมีประชาชนมีส่วนร่วม

ประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญ

แต่ผลลัพธ์ในทางปฏิบัติสวนทางกับทุกข้อ 1. ไม่มีความเป็นสากลระบบเลือกตั้งจัดสรรปันส่วนผสมเป็นการลอกมาจากมลรัฐหนึ่งในเยอรมนี ไม่นับระบบการนับคะแนนที่บิดเบือนตรรกะคณิตศาสตร์ 2. แผนล้มล้างประเทศ 11 ด้าน ของ ส.ว.ลากตั้งไม่มีความคืบหน้า ส่วนราชการไม่ปฏิบัติ เป็นเสือกระดาษ ส่วนความปรองดองก็แค่หลอกพวกเดียวกันเอง

ม็อบคณะราษฎร 2563 คือคำตอบ ความยุติไม่ปรากฏ อภิสิทธิ์ชนยังคงขี่คอคนจน 4. ยัดข้อหาทุจริตให้ศัตรูทางการเมือง ส่วนพวกพ้องนาฬิกาหรู 24 เรือน ลูกไล่ คสช.ในระบบตรวจสอบมองไม่เห็น 5. รุกไล่ทำลายคนเห็นต่างตัวเล็กตัวน้อยกีดกันเบียดเบียนยักย้ายทรัพยากรของชาติ

ส่วนคำถามพ่วง ประธาน กรธ.โยนว่ามาจาก คสช.พวกเขาไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง พร้อมทั้งอธิบายบรรยากาศก่อนการประชามติว่า กรธ.ไม่มีเล่ห์กลใด แต่นักการเมืองใช้วิชามารผ่านโซเชียลมีเดียบิดเบือน พร้อมกับยกถึงการบิดเบือนที่โดนกล่าวหาในประเด็น การยกเลิกเรียนฟรีว่า "ไม่ได้ยกเลิก แต่การเรียนฟรีในระดับมัธยมปลายเป็นนโยบายของรัฐธรรมนูญ"

"มาถึงวันนี้ เพียงผ่านมาไม่ถึงสองปี ผู้คนคงเห็นแล้วว่า แนวคิดที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญนั้น ทันสมัย ทันกาล เพราะทุกคนคงได้ยินได้ฟังแล้วว่า การมุ่งเรียนไปสู่ปริญญาอย่างเดียวไม่ตอบปัญหาของสังคม และไม่ทำให้คนสมารถทำงานได้"

มีชัย คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 37186.jpg

ในส่วนของการแก้ไขหมวดสถาบันพระมหากษัตริย์ ‘มีชัย’ บันทึกว่า "กรธ.หลีกเลี่ยงการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 2 อย่างที่สุด นาน ๆ จึงมีการแก้ไขเพิ่มเติมเล็กๆน้อยๆ แต่การแก้ไขเพิ่มเติม มิใช่เกิดจากความคิดขึ้นเองของผู้ร่าง หากแต่เกิดจากการบอกเล่าของท่านราชเลขาธิการหรือองคนมนตรี และเมื่อแก้ไขก็จะต้องส่งกลับไปให้ท่านราชเลขาธิการหรือองคนมนตรีได้ตรวจทานว่า ตรงตามวัตถุประสงค์หรือไม่"

"มีการผลัดแผ่นดินก่อนที่ขบวนการตรารัฐธรรมนูญจะแล้วเสร็จ บทบัญญัติทั้งปวงในหมวด 2 จึงเป็นการร่างตามประเพณีที่มีอยู่ในรัชกาลที่ 9 ซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับประเพณีที่จะเกิดขึ้นใหม่ในรัชกาลใหม่ แต่กระบวนการได้ล่วงเลยไปถึงขั้นนายกฯได้นำร่างทูลเกลาฯ จึงไม่มีช่องทางดำเนินการอย่างใดได้"

‘มีชัย’ ยังย้อนทบทวนถึงขั้นตอนการแก้ไขรัฐธรรมนูญในหมวดนี้ ซึ่งต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 

โดย สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติ เมื่อวันที่ 13 ม.ค. 2560 เห็นชอบกับมาตรา 39/1 ใจความว่า "หากกรณีที่พระมหากษัตริย์พระราชทานข้อสังเกตว่าสมควรแก้ไขเพิ่มเติมข้อควาใดภายในเก้าสิบวันให้นายกรัฐมนตรีขอรับพระราชทานร่างรัฐธรรมนูญนั้นคืนมาเพื่อดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมเฉพาะประเด็นตามข้อสังเกตนั้นและประเด็นที่เกี่ยวเนื่อง และแก้ไขเพิ่มเติมคำปรารภของร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกัน"

"การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวดังกล่าวนับเป็นทางออกที่แก้ไขปัญหาที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนไปได้" มีชัย ระบุ

พร้อมกันนี้ ‘มีชัย’ ยังเปิดเรื่องราวชวนขนลุกเมื่อได้รับคำทำนายทายทักจากโหรฟองสนาน จามรจันทร์ ภายหลังประชามติผ่านใหม่ ๆ ว่า รัฐธรรมนูญ จะต้องมีการแก้ไขอีกจำนวน 3 ครั้ง

ซึ่งเขานึกขำอยู่ในใจก่อนจะพบว่า กลายเป็นเรื่องจริงที่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จำนวน 3 ครั้ง คือ 1) แก้ไขให้สอดคล้องกับคำถามพ่วง ที่ระบุให้ คสช.เลือก 250 ส.ว. และมีอำนาจเลือก พล.อ.ประยุทธ์กลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้ง 2) แก้ไขคำปรารภให้เป็นปัจจุบัน และ 3) แก้ให้เพื่อเป็นไปตามข้อสังเกตที่พระราชทานมา

มีชัย.jpg

นอกจากนี้ ยังระบุถึงความพิเศษอีกประการของรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ที่ทำให้ กรธ.ยินดี คือ พระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญตามแบบอย่างโบราณราชประเพณี ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2560 ที่มีการประโคมฆ้องชัย สังข์ แตร ดุริยางค์ ทหาร กองเกียรติยศบรรเลงเพลงมหาฤกษ์ ทหารบก เรือ อากาศ ยิงปืนใหญ่สลุตฝ่ายละ 21 นัด วัดทั่วราชอาณาจักรย่ำระฆังและกลอง ซึ่งตรงกับวันจักกรี

โดย ‘มีชัย’ ระบุถึงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งนั้นว่า การประกอบพระราชพิธีที่ยิ่งใหญ่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ เช่นนี้ ใน ครั้งที่ 5 ได้แก่ ฉบับ 10 ธ.ค. 2475 ฉบับ 10 พ.ค. 2489 ฉบับ 8 มี.ค. 2495 ฉบับ 20 มิ.ย. 2511 และฉบับ 6 เม.ย. 2560

และจากนั้น กรธ. ดำเนินการร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ จำนวน 10 ฉบับ อีก 8 เดือน จึงเสร็จสิ้นภารกิจ ในเดือน พ.ย. 2560 แต่อยู่ต่อไปจนครบวาระเพื่อทำหน้าที่ร่วมพิจารณาแก้ไขกฎหมายลูกกับ สนช. จนถึงวันที่ 8 ก.พ. 2561

หากนับจำนวนที่ กรธ.ประชุมทั้งหมด 462 ครั้ง จะพบว่า ประธานได้รับเบี้ยประชุมครั้งละ 9,000 บาท

สรุป ‘มีชัย’ ได้ค่าจ้างรัฐธรรมนูญ จำนวน 4,158,000 บาท กรธ.ได้เบี้ยประชุมครั้งละ 6,000 บาท กรธ.จำนวน 20 คน ได้ค่าจ้างรวมกัน ประมาณ 55,440,00 บาท รวมค่าแรงเสมียนร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ไม่น้อยกว่า 60 ล้านบาท เนื่องจากเบี้ยประชุมอนุกรรมาธิการคณะละ 3,000 บาท ซึ่งไม่มีการเปิดเผยแน่ชัดว่า มีกี่อนุกรรมการ และประชุมไปจำนวนเท่าใด

หากที่ประชุมร่วมกันชองรัฐสภามีมติเห็นชอบกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ทำว่าจะเห็นชอบเพียงแค่สองร่าง คือร่างของรัฐบาลและฝ่ายค้าน แต่ตีตกร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ที่ไอลอว์ล่าชื่อมากว่า 1 แสนรายชื่อ เพื่อเริ่มต้นสู่กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็เท่ากับว่า รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 จะมีอายุประมาณ 3 ปี 10 เดือน 10 กว่าวันเศษ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง