ไม่พบผลการค้นหา
3 ค่ายมือถือประมูลคลื่นความถี่ 700 MHz รับใบอนุญาตใช้งาน 15 ปี แบ่งจ่าย 10 ปี กสทช. ได้เงินส่งรัฐกว่า 56,000 ล้านบาท ไม่มีช่วงคลื่นซ้ำกัน พร้อมแบ่งเงิน 36,000 ล้านอุ้มทีวีิดิจิทัล

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า การเปิดรับคำขอใบอนุญาตและจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 703-733/758-788 เมกะเฮิรตซ์ หรือคลื่นความถี่ 700 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) ในวันนี้ (19 มิ.ย.) มีเอกชนเข้าร่วมขอรับการจัดสรรคลื่นความถี่จำนวน 3 ราย ได้แก่ บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด หรือ ทรู, บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือ เอไอเอส และ บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด หรือ ดีแทค

สำหรับการจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ครั้งนี้ ผู้ขอรับการจัดสรรคลื่นฯ ไม่ได้เลือกชุดคลื่นความถี่ซ้ำกัน โดยมีผลดังนี้ 

  • คลื่นความถี่ชุดที่ 1 ช่วงความถี่วิทยุ 703-713 MHz คู่กับ 758-768 MHz บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด หรือ ทรู เป็นผู้มีสิทธิ์ได้รับการจัดสรร
  • คลื่นความถี่ชุดที่ 2 ช่วงความถี่วิทยุ 713-723 MHz คู่กับ 768-778 MHz บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด หรือ ดีแทค เป็นผู้มีสิทธิ์ได้รับการจัดสรร
  • คลื่นความถี่ชุดที่ 3 ช่วงความถี่วิทยุ 723-733 MHz คู่กับ 778-788 MHz บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือ เอไอเอส เป็นผู้มีสิทธิ์ได้รับการจัดสรร

โดยมีราคาในอนุญาตรวมทั้งสิ้น 52,752 ล้านบาท และมีรายได้จากการจัดสรรฯ เข้ารัฐรวมภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งสิ้น 56,444.64 ล้านบาท

กสทช.-คลื่น700 MHz-มือถือ

อย่างไรก็ดี ผู้มีสิทธิ์ได้รับการจัดสรรคลื่นฯ ต้องนำเงินงวดแรกพร้อมหลักประกันมาชำระให้แก่ สำนักงาน กสทช. ก่อนที่จะได้รับอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 15 วัน โดย สำนักงาน กสทช. จะมีหนังสือแจ้งวันเริ่มต้นการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 90 วัน

ทั้งนี้ คลื่นความถี่ย่าน 700 MHz สำนักงานกสทช. จะมีการจัดสรรจำนวน 3 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 10 MHz รวม 30 MHz ราคาใบอนุญาตละ 17,584 ล้านบาท แบ่งการชำระเป็น 10 ปี อายุใบอนุญาต 15 ปี โดยจะแตกต่างจากการประมูลคลื่นความถี่ในทุกครั้งที่ผ่านมา เพราะไม่ได้มีการประมูลเพื่อเคาะราคาแข่งขันกัน แต่เป็นการจัดสรรคลื่นให้ไปเลยในราคาที่กำหนดดังกล่าว

โดยวิธีการจัดสรรชุดคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz ผู้ขอรับใบอนุญาตจะต้องเลือกชุดคลื่นความถี่ที่ต้องการ ได้แก่ ชุดที่ 1 ช่วงความถี่วิทยุ 703-713 MHz คู่กับ 758-768 MHz ชุดที่ 2 ช่วงความถี่วิทยุ 713-723 MHz คู่กับ 768-778 MHz และชุดที่ 3 ช่วงความถี่วิทยุ 723-733 MHz คู่กับ 778-788 MHz พร้อมใส่จำนวนผลประโยชน์ส่วนเพิ่มแก่รัฐลงในแบบฟอร์ม

นำเงินประมูลคลื่นมือถือกว่า 52,000 ล้านบาท อุดหนุนทีวีดิจิทัล 36,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ นายฐากร ยังกล่าวว่า คลื่นความถี่ 700 MHz ที่ปัจจุบันใช้กับทีวีดิจิทัล ได้ประชุมให้ผู้ให้บริการโครงข่ายทีวีดิจิทัล (MUX) ให้ย้ายออกให้เร็วขึ้น โดยตั้งเป้าไว้ในเดือน ก.ค. 2563 จากเดิมคือเดือน ก.ย. 2563 แต่ MUX ได้แก่ บมจ.อสมท. (MCOT) ททบ.5. กรมประชาสัมพันธ์ และไทยพีบีเอส ยังติดปัญหาเรื่องเงินลงทุน ทาง กสทช.จึงจะนำเงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กองทุน กทปส.). มาสำรองจ่ายไปก่อน เป็นเงินประมาณ 300-400 ล้านบาท โดยจะให้ MUX เสนอแผนเข้ามาในเดือน ส.ค.นี้. คาดว่าจะให้ใบอนุญาตคลื่น 700MHz แก่เอกชนได้ในเดือน ต.ค. 2563

นอกจากนี้ กสทช. จะนำรายได้จากการเปิดใช้คลื่นความถี่ 700 MHz วงเงิน 52,752 ล้านบาท นี้ มาใช้ช่วยเหลือทีวีดิจิทัล โดยแบ่งเป็น การคืนค่างวดที่ 5 และ 6 วงเงิน 13,000 ล้านบาท ค่าเช่าโครงข่าย 18,000 ล้านบาท ค่าคืนใบอนุญาต 7 ช่อง ประมาณ 3,800-4,000 ล้านบาท และค่าจัดทำเรตติ้ง 431 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 36,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะส่งเข้ารัฐ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :