ไม่พบผลการค้นหา
อภิชาติ ศิริสุนทร ส.ส. พรรคก้าวไกล อภิปราย พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้าน ชี้ปีก่อนกู้ 1 ล้านล้าน ในแผนกู้เงินมีการจัดสรรงบทำโครงการ 'โคก หนอง นาง' และ '1 ตำบล 1 เกษตรทฤษฎีใหม่' แต่การทำงานติดขัด และมีแนวโน้มไม่บรรลุผล

อภิชาติ ศิริสุนทร ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล อภิปรายในสภากรณีรัฐบาลออก พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้าน เพิ่มเติมจากปีที่แล้ว 1 ล้านล้านบาท ในปีที่แล้วที่รัฐบาลออก พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท มีงบแก้ไขปัญหาโควิด เยียวยาประชาชน และมีอีกส่วนหนึ่งคือ 4 แสนล้านบาท (ภายหลังปรับลดเหลือ 2.7 แสนล้านบาท) ที่จะนำมาช่วยเหลือฟื้นฟูประเทศ โดยหวังว่าประชาชนพอกลับมาลืมตาอ้าปาก ประเทศเดินหน้าต่อได้

อภิชาติ ระบุว่า ในจำนวนหลายโครงการนั้น ก็มีการออกแบบโครงการด้านการเกษตร และมีการอนุมัติงบประมาณผ่าน 2 หน่วยงาน คือสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตร ดูแลโครงการ “1 ตำบล 1 เกษตรทฤษฎีใหม่” ใช้งบประมาณ 9,800 ล้านบาท และ กรมพัฒนชุมชน กระทรวงมหาดไทย ดำนเนินโครงการ “พัฒนาพื้นที่ต้นแบบทฤษฎีใหม่ โคก หนอง นา โมเดล” ด้วยงบประมาณ 4,780 ล้านบาท

โดยแนวทางแล้วทั้งสองโครงการนี้คล้ายกัน โคกหนองนาเน้นการสร้างศูนย์การเรียนรู้ให้เกษตรกรได้ต่อยอดสร้างรายได้ ส่วนเกษตรทฤษฎีใหม่มุ่งใช้ที่ดินประชาชน “เพื่อลดปัญหาการเคลื่อนย้ายแรงงานภาคการเกษตรกรรมไปสู่ภาคอื่นๆ และสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนในท้องถิ่นให้มีความมั่นคงในการเป็นแหล่งผลิตอาหาร มีทางเลือก มีอาหาร มีอาชีพ มีความอุดมสมบูรณ์ มีความอบอุ่นจากครอบครัว แล้วความสุขตามวิถีชีวิตพอเพียงก็จะเกิดขึ้นกับชุมชน ซึ่งเป็นศาสตร์ที่เป็นทางรอดของเกษตรกรไทย เพื่อมุ่งสู่ระบบเกษตรกรรมยั่งยืน”

เป้าประสงค์ของทั้งสองโครงการนี้ ให้มีการจ้างงาน 40,000 คน ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้นไร่ละ 1 แสนบาท หรือ 3 เท่า ใน 2 ปี เพิ่มพื้นที่ปลูกป่า 10 ล้านต้น เพิ่มพื้นที่เก็บกักน้ำ 400 ล้านลูกบาศก์เมตร เกิดพื้นที่เกษตรทฤษฎีใหม่จำนวน 2 แสนไร่ สรุปง่ายๆ คือ 1.นำเกษตรกรไปอบรม 2.จ้างวิทยากร 3.ปรับปรุงแปลงเกษตรทฤษฎีใหม่ ให้มีโคก หนอง นา เน้นพึ่งพาตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้

อย่างไรก็ตาม อภิชาติ ย้ำว่า สิ่งที่เกิดขึ้นตลอดเกือบ 1 ปีที่ผ่านมา เกิดอะไรขึ้นที่ทำให้ทั้งสองโครงการนี้ ที่เคยตั้งวงเงินงบประมาณสูงถึง 15,000 ล้านบาท ถึงมีการเบิกจ่ายล่าช้าได้เพียง 1,380 ล้านบาท เท่านั้น? หรือคิดเป็นเพียง 10% ที่เบิกจ่ายได้จริง เรียกว่าแรงงานที่ตกงานกลับบ้านจนได้งานใหม่กลับเข้าเมือง แล้วตกงานกลับบ้านอีกรอบ ก็ยังไม่ได้เข้าโครงการ

เขา ระบุต่อว่า จากการไปพูดคุยเกษตรกร ผู้รับเหมา และหน่วยงานราชจากพื้นที่จริง พบว่า ในภาพใหญ่ประเด็นแรก ทั้ง 2 โครงการ ได้รับการจัดสรรเงินกู้ล่าช้าไป 1 เดือน ทำให้ต้องดีเลย์โครงการไปอีก 2-3 เดือน

เมื่อเริ่มโครงการ “1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤฎีใหม่” มีการกำหนดคุณสมบัติของเกษตรกรที่จะเข้าร่วมโครงการเหล่านี้ต้องอายุไม่เกิน 60 ปี และต้องยินยอมให้ทางราชการเข้าใช้พื้นที่เป็นเวลา 7 ปี หรือกำหนดว่าต้องขุดสระขนาด 4 พันลูกบาศก์เมตรเท่านั้น ทำให้เกษตรกรที่เขามีแหล่งน้ำอยู่แล้วไม่อยากเข้าร่วมโครงการ เพราะรู้สึกเสียดายที่ทำการเกษตร หรือเกษตรกรที่มีที่ดินน้อยอยู่แล้วเนี่ยก็ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ตั้งแต่แรกเพราะไม่สามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดได้

ส่วนเกษตรกรอีกจำนวนหนึ่งบอกว่าไม่มั่นใจว่าโครงการจะทำได้สำเร็จหรือไม่ จึงไม่เสี่ยงเอาที่ดินตัวเองไปทดลองโครงการ จนทำให้จากเดิมที่ตั้งเป้าเกษตรกรไว้ 64,000 ราย แต่สมัครมาจริงแค่ 21,000 ราย ไม่ถึงหนึ่งในสาม!

ประเด็นต่อมา การออกแบบแปลนผังโครงการต่างๆ ของทางราชการส่วนกลางที่ส่งมาก็ไม่สอดคล้องกับสภาพพื้นที่จริง เช่น ตอนแรกจะให้ขุดคลองไส้ไก่ยาวเป็นกิโล ในพื้นที่แค่ 3 ไร่ จนผู้รับเหมาออกมาโวยว่าไม่สามารถทำได้จริงแม้จะพยายามแค่ไหนก็ตาม

หรือแม้แต่การตรวจสอบปริมาตรดินที่ขุดขึ้นมาจะต้องได้ 4 พันลูกบาศก์เมตร หรือ 4,000 คิวดิน แต่ความเป็นจริงขุดตามไซส์แล้วก็ได้ดินไม่ถึงอยู่ดี

ทำให้ผู้รับเหมาเองก็ถอดใจจากโครงการนี้เช่นกัน จนผู้รับเหมาทั้งหลายก็พยายามเตือนเพื่อนร่วมอาชีพ ว่าอย่ารับงานโคกหนองนานี้เลย เพราะงานมีความยุ่งยากซับซ้อนและติดขัดขั้นตอนต่างๆ นานา ทั้งการลงมือทำงานจริงและการตรวจรับงาน ทำให้มีการเบิกจ่ายล่าช้า

ตัวอย่างที่เจอ คือขุดลงไปแล้วตามสเปกที่ทางราชการกำหนดมา แต่ขุดต่อไม่ได้เนื่องจากติดชั้นดินดาน จึงมีการยื่นเรื่องกันไปมาระหว่างทางผู้รับเหมากับทางราชการ เถียงไปเถียงมาว่าจะทำยังไงกันดี เพราะดินที่ขุดขึ้นมานั้นไม่ได้ไม่ครบตามที่ทางการกำหนด จะมาเรียกเงินคืนอีก สุดท้ายผมคิดว่าก็คงต้องปรับแบบให้เหมาะสมกับพื้นที่นั่นแหละ

อีกกรณีหนึ่งที่เราไปเจอมา คือมีการขุดตามสเปกเช่นกัน(แต่น่าจะไปเจอชั้นสายแร่เกลือหรืออะไรบางอย่างยังไม่แน่ใจต้องรอตรวจสอบ) พอเจอดินแบบนี้ปุ๊บ ปลาก็ตายทันที คาดว่าน้ำเค็ม ก็จะเอาไปใช้ในการเกษตรไม่ได้อีก สุดท้ายบ่อที่ขุดนั้นก็อาจใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้ แถมเสียที่ดินทำมาหากินไปด้วย ที่พูดมาทั้งหมดนี้จะบอกว่า ทางหน่วยงานเองไม่มีความพร้อมหรือไม่มีบุคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจในแต่ละพื้นที่ดีพอที่จะปรับใช้แบบต่างๆ ให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่

ไม่นับว่าก่อนหน้านี้กลุ่มผู้รับเหมาเคยรวมตัวเพื่อร้องเรียนผ่านสื่อมวลชนว่ามีขบวนการเรียกรับหัวคิวด้วย ใครอยากได้งานจะถูกหักประมาณ 30% ไปให้ ‘นาย’ ผมก็ไม่ทราบเหมือนกันว่า ‘นาย’ ที่ว่านั่นคือใคร แต่สุดท้ายทางหน่วยงานราชการออกมาฏิเสธข่าวดังกล่าว

อุปสรรคขวากหนามเยอะแยะไปหมด ทั้งหมดนี้ก็ทำให้ผู้รับเหมาเอง ชาวบ้านเอง หรือแม้แต่เจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่เอง ก็ไม่อยากดำเนินโครงการนี้ต่อไป

โครงการโคกหนองนาและเกษตรทฤษฎีใหม่เหล่านี้ หากจะทำให้สำเร็จได้ จะต้องใช้ความพยายามอย่างสูง ทั้งการอบมรมให้ความรู้ รวมทั้งทรัพยากรการสนุบสนุนจากทางภาครัฐ ทั้งพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ และเงินทุนในการปรับแต่งพื้นที่ด้วย ซึ่งประชาชนทั่วไปไม่มีความรู้ความสามารถและทรัพยากรมากขนาดนั้น จึงมีคนจำนวนหนึ่งที่ต้องการความช่วยเหลือในโครงการนี้จากทางรัฐบาลอย่างจริงจัง

แต่สิ่งที่รัฐบาลกำลังทำอยู่ เหมือนเล่นกับความรู้สึกกับความหวังประชาชน แต่ไม่สามารถทำให้เกิดผลจริงได้ เพียงแต่ต้องการผลาญเงินกู้ให้หมดไปวันๆ

2826C469-CBD7-4647-9ECC-707C2B7B5A9F.jpeg


แต่แค่จะผลาญเงินให้หมดไปวันๆ ยังไม่มีความสามารถจะเบิกจ่ายได้เลย

อภิชาติ แสดงเอกสารจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. ที่ส่งไปยังหน่วยงานต่างๆ ถึงข้อตักเตือนและข้อแนะนำในการแก้ไขปัญหาการใช้งบประมาณที่เป็นปัญหาเหล่านี้ โดยทั้ง 2 โครงการนี้ ได้แก่ โครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ และโคกหนองนาโมเดล เป็นโครงการที่ สตง. เข้ามาตรวจสอบแล้วพบว่ามีความเสี่ยงที่จะไม่บรรลุเป้าหมาย ไม่คุ้มค่า ไม่สอดคล้อง หรือไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์

เริ่มจากโครงการ 1 ตำบล 1 เกษตรทฤษฎีใหม่ ที่สุดท้ายมีการปรับลดวงเงินลงจากเกือบๆ 1 หมื่นล้านเหลือแค่ 3,550 ล้านบาท

31 มี.ค. 2564 สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. ออกเอกสารกล่าวชัดเจนว่าสำนักปลัดกระทรวงเกษตรขาดความพร้อมที่จะดำเนินโครงการ คนสมัครเข้าร่วมโครงการน้อย แม้จะมีการปรับหลักเกณฑ์ในภายหลัง ทั้งเรื่องอายุ และระยะเวลาเข้าใช้พื้นที่ แต่จนแล้วจนรอด ก็ยังมีคนสมัครไม่ถึงเป้าหมาย

เลยต้องหั่นโครงการลงอีก ขอยกเลิกเป้าหมายที่จะปลูกป่าเกือบสองหมื่นไร่ ขอปรับลดกิจกรรมการปรับพื้นที่ให้เป็นแปลงเกษตรทฤษฎีใหม่ ให้เหลือแค่การขุดสระ เท่ากับจากเดิมที่มีทั้งโคก ทั้งหนอง ทั้งนา เหลือ “หนอง” อย่างเดียว ไม่มีแล้วขุดเหมืองคลองไส้ไก่ ปั้นโคก ทำคันนาทองคำ

เหลือแต่หนอง ยังลดขนาดหนองอีก จากที่เคยกำหนด 1,300 ลูกบาศก์เมตร/ไร่ ก็ลดลงครึ่งนึงเหลือ 700 ลูกบาศก์เมตร/ไร่ เพราะเกษตรกรไม่ได้มีที่ดินเหลือพอ แต่สุดท้าย เกษตรกรก็ยังสมัครมาไม่ได้ตามเป้าอยู่ดี จนต้องปรับลดจำนวนเกษตรกรเป้าหมายโครงการ จากตำบลละ 16 ราย เหลือ ตำบลละ 2 ราย ทำให้ที่เคยตั้งเป้าหมายว่าจะเกิดความร่วมมือกันเมื่อบรรลุเกษตรทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 2 ท่าทางจะเป็นไปไม่ได้แล้ว เหลือแค่ 2 ราย แล้วจะร่วมมือช่วยเหลือเกื้อกูลกันเป้าหมายได้ยังไง ถ้าแปลงไม่ติดกัน อยู่คนละหย่อม คนละบ้านแล้วจะตอบโจทย์แต่แรกในการพึ่งพิงช่วยเหลือเกื้อกูลกันได้อย่างไร??

พอทำเป้าไม่ถึงแล้วก็ไปเอาเกษตรกรที่เคยร่วมโครงการอื่นมาใส่ แต่เอาหนองไปอย่างเดียว ปัจจัยการผลิตให้ไปเอาอีกโครงการนึง เรียกว่าตั้งใจทำเป้าตัวเลขกันอย่างเดียวไม่สนอย่างอื่นแล้วว่าจะสำเร็จตามวัตถุประสงค์จริงๆ หรือไม่

"เห็นชัดๆ ว่าสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตร กระทรวงเกษตร หรือแม้แต่กรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย นี่ไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจมากพอที่จะทำโครงการนี้ แต่คนที่ต้องรับผิดชอบ คือคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ที่อนุมัติไปได้อย่างไร"


พรรคก้าวไกลฝาก 2 ประเด็นไปยังรัฐบาลให้ออกมาตอบชัดเจน

หนึ่ง ใน พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท ฉบับนี้ที่กำลังพิจารณาอยู่ มีโครงการทำนองนี้อยู่หรือไม่? แล้วถ้ามีจริง ตั้งใจทำต่อ ท่านจะแก้ไขปัญหาเดิมที่คาราคาซังมา 1 ปีได้อย่างไร? ไม่งั้นเดี๋ยวกู้ไปก็ทำโครงการเจ๊งอีก เหมือนที่เป็นมา

สอง ในเอกสาร สตง. มีข้อเสนอแนะข้อ 2 ท่อนหนึ่งบอกว่า “สำหรับโครงการที่ยังไม่มีความคืบหน้าหรือความพร้อมในการดำเนินการ แม้ดำเนินการต่อไปก็มีแนวโน้มว่าจะไม่บรรลุผลสัมฤทธิ์ตามวัตถุประสงค์ ควรเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณายุติโครงการ เพื่อนำเงินกู้เหลือจ่ายไปใช้ดำเนินการโครงการอื่นที่มีความพร้อมและความจำเป็นเร่งด่วนมากกว่า อันจะช่วยให้การใช้จ่ายเงินกู้เกิดประโยชน์สูงสุด” อยากถามว่า รัฐบาลได้พิจารณาข้อนี้หรือไม่

สุดท้าย พรรคหวังว่าการอภิปรายในสภาเพื่อตรวจสอบความคืบหน้าและประสิทธิภาพโครงการเหล่านี้ในสภาของผม จะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นประชาชนที่รอความหวังพัฒนาบ้านเกิดตัวเองอยู่ ไม่ว่าจะเป็นผู้รับเหมาที่ถอดใจไปหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐเองที่กลัวดำเนินการผิดพลาดจนตัวเองต้องนอนคุกติดตะรางกัน

"โครงการเหล่านี้ พูดตรงๆ ก็คือ เป็นโครงการสืบสานต่อยอดประยุกต์จากแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 รัฐบาลถึงกับส่งโปสการ์ดพระราชทานไปให้คนทั่วประเทศ แต่ในเนื้อโครงการจริง รัฐบาลกลับเอามาทำแบบไม่จริงจัง ไม่ระมัดระวังรอบคอบกันแบบนี้...กลายเป็นโครงการพังๆ บ้งๆ แบบนี้...เกรงว่าจะไม่ส่งผลดีต่อใครทั้งสิ"