ไม่พบผลการค้นหา
ศาลรัฐธรรมนูญ รับคำร้องวินิจฉัยที่มา ส.ส.ร. พร้อมเรียกอดีตกรรมการร่างรัธรรมนูญเข้าให้ความเห็น 3 มี.ค.2564

ศาลรัฐธรรมนูญประชุมปรึกษาเรื่องที่ 4/2564 กรณีประธานรัฐสภา ส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) กรณีมีปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา ในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของสมาชิกรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ 256 (1)

ตามญัตติด่วนที่ 'ไพบูลย์ นิติตะวัน' ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และ 'สมชาย แสวงการ' ส.ว.เป็นผู้เสนอให้รัฐสภาพิจารณามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย ปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) โดยผลการลงมติในญัตติดังกล่าว ที่ประชุมรัฐสภาเสียงข้างมากมีมติเห็นด้วยให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามญัตติ ต่อมาเมื่อวันที่ 11 ก.พ.2564 ประธานรัฐสภาส่งเรื่องดังกล่าวต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยนั้น

ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาข้อเท็จจริง ตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องแล้ว เห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่และอำนาจพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรอิสระ การยื่นคำร้องต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) และพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 44 ประกอบมาตรา 7 (2) คือ ต้องเป็นปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจที่เกิดขึ้นแล้ว และในกรณีที่ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นกับหน่วยงานใด ให้หน่วยงานนั้นเป็นผู้มีสิทธิยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ

เมื่อข้อเท็จจริงตามคำร้องปรากฏว่าในคราวประชุมของรัฐสภาเมื่อวันที่ 9 ก.พ.2564 ดังกล่าว มีมติเสียงข้างมาก ส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยกรณีดังกล่าว ตามมาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) กรณีจึงเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ประกอบ พ.ร.บ.ศาลรัฐธรรมนูญฯ

ศาลรัฐธรรมนูญจึงสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย เพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณา ให้ผู้เกี่ยวข้องคือ มีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ สมคิด เลิศไพฑูรย์ และอุดม รัฐอมฤต ทำความเห็นเป็นหนังสือตามประเด็นที่กำหนด โดยให้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 3 มี.ค.2564 และนัดประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 4 มี.ค.นี้


วิปสามฝ่าย ขีดเส้นแก้ ใน 28 ก.พ.นี้

เมื่อเวลา 12.20 น. วันที่ 18 กุมภาพันธ์ ที่รัฐสภา นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร แถลงผลการประชุมวิปสามฝ่าย ว่าชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานรัฐสภา ได้เชิญประชุมวิปสามฝ่าย เพื่อหารือลำดับงานประชุมสภา ภายหลังจากการประชุมสภาในญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลที่ฝ่ายค้านได้ยื่นแล้ว สภาจะยังเหลือเวลาประชุมอีก 1 สัปดาห์ ก่อนที่จะปิดสมัยประชุม ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์นี้

ชวนกำหนดให้สัปดาห์หน้า เป็นการประชุมร่วมรัฐสภา ในวันที่ 24-25 กุมภาพันธ์ นี้ โดยเริ่มประชุมที่ระเบียบวาระสำคัญ คือ พิจารณาเรื่องตกค้างให้ได้มากที่สุด ซึ่งประชุมวิปสามฝ่ายมีความเห็นร่วมกันว่า ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์นี้ จะเริ่มหยิบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ… มาพิจารณาต่อ เนื่องจากเห็นว่าเป็นเรื่องที่สำคัญและควรทำให้บรรลุก่อนตั้งคณะกรรมาธิการโดยเหลือผู้อภิปรายอีกจำนวน 15 คน ก็จะพิจารณาให้แล้วเสร็จ จากนั้นจะเป็นการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เสนอมาเช่นกันเพื่อมาพิจารณาให้แล้วเสร็จ

จากนั้นจะพิจารณาเรื่องที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้วต่อ คือ ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม (ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ) เพื่อนำมาพิจารณาในวาระสอง ซึ่งคงต้องใช้เวลามากพอสมควรเพราะมีกรรมาธิการของสงวนความคิดเห็น แปรญัตติเกินกว่าร้อยคน จึงต้องคงใช้เวลาพอสมควร แต่ประธานสภายืนยันว่าถึงอย่างไรก็ตาม ต้องให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระสองนี้ถูกพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในสมัยประชุมนี้ ไม่ว่าจะใช้เวลาเท่าไหร่ ก็ต้องทำให้เสร็จเพื่อพิจารณาวาระสามต่อไป แล้วรออีก 15 วัน เพื่อลงมติในวาระสาม จึงเชื่อว่าจะมีการขอเปิดประชุมสมัยวิสามัญ แต่หากยังมีเวลาก็จะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย, วาระต่างๆ ของสหภาพรัฐสภา (ไอพียู) ส่งให้พิจารณา ทั้งนี้ประธานสภาและที่ประชุมวิปสามฝ่าย ยืนยันว่าอย่างน้อยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะต้องเสร็จในสมัยประชุมนี้