ไม่พบผลการค้นหา
สมัชชาคนจน ออกแถลงการณ์เรียกร้อง 'พล.อ.ประยุทธ์' มอบหมายให้ 'จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์' เป็นประธานการเจรจา อย่างเสมอหน้า ชี้ที่ผ่านมาการแก้ไขปัญหาเป็นกลไกโครงสร้างที่ไร้รมต.ที่เกี่ยวข้องเข้ามาสะสาง

กลุ่มภาคประชาชน ในนาม 'สมัชชาคนจน' ได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 2 ภายหลังได้เดินทางเข้ากทม. เพื่อทวงถามการแก้ปัญหา โดยมีเนื้อหาระบุว่า เราต้องการเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเสมอหน้าตามที่สมัชชาคนจนได้ยื่นหนังสือถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขอให้เร่งรัดการแก้ไขปัญหาของสมัชชาคนจน และขอนัดหมายการเจรจาการแก้ไขปัญหาในวันที่ 7 ตุลาคม 2562 ซึ่งได้รับการประสานงานจากสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีนัดหมายสมัชชาคนจนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมหารือเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2562 ปรากฏว่าฝ่ายรัฐบาลได้ยื่นข้อเสนอต่อสมัชชาคนจน ให้ใช้กลไกในการแก้ไขปัญหาผ่านคณะกรรมการกำกับติดตามการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของมวลชนที่มีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการฯ

ทางสมัชชาคนจนเล็งเห็นว่ากลไกการแก้ไขปัญหาดังกล่าวเป็นกลไกโครงสร้าง “แบบเสื้อโหล” ไม่มีรัฐมนตรีจากกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับปัญหามาร่วมเป็นกรรมการ มีแต่ฝ่ายข้าราชการที่เป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงกับสมัชชาคนจน และไม่มีอำนาจในการตัดสินใจเชิงนโยบาย ที่เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม

ดังนั้น ทางสมัชชาคนจนจึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาล ให้มีการเปิดเจรจา “อย่างเสมอหน้า” โดยให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการเจรจา และให้มีอำนาจในการตัดสินใจที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาของสมัชชาคนจนอย่างเป็นรูปธรรม

เนื่องจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ เป็นรองนายกรัฐมนตรี ที่มาจากการเลือกตั้งมีความยึดโยงกับประชาชน และพรรคประชาธิปัตย์ควบคุมดูแลกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับปัญหาของสมัชชาคนจน ด้วยเหตุนี้ ทางสมัชชาคนจนมีความจำเป็นต้องออกมารณรงค์เรียกร้องเพื่อให้เกิดการเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเสมอหน้ากันระหว่างสมัชชาคนจนกับรัฐบาลตามข้อเสนอข้างต้น

จุรินทร์ เร่งพิจารณาปัญหาค้างคาหนี้สินเกษตรกรทั่วประเทศ

ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (มอบหมายจากนายกรัฐมนตรี) พร้อมด้วย นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะรองประธานคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ได้รับมอบดอกไม้กำลังใจจากตัวแทนเกษตรกร สมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ ก่อนการ ประชุมกรรมการกองทุนครั้งที่1/2562 วันนี้ ที่อาคารสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยมีวาระเพื่อพิจารณา สำคัญๆเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาที่ยืดเยื้อมานาน โดยตัวแทนเกษตรกรร่วม 100 คนมาติดตามการประชุมนี้อย่างใกล้ชิด ซึ่งก่อนหน้านี้นายจุรินทร์ สั่งการให้นำวาระความเดือดร้อนของเกษตรกร 7 เรื่องที่ค้างคามานานนั้นขึ้นมาพิจารณา 

โดยระเบียบวาระการประชุมวันนี้ 4 วาระแต่วาระสุดท้าย คือ เรื่องสำคัญ 7 ข้อที่ต้องใช้อำนาจกรามการฯตัดสินใจ คือ 1.การแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรลูกหนี้ธนาคารของรัฐ 2.ขอความเห็นชอบโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินและฟื้นฟูอาชีพเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร กรณีหนี้เกิน 2.5 ล้านบาท บอร์ดต้องพิจารณา นำเข้า ครม

3.ขอความเห็นชอบจัดการหนี้ที่ถูกเจ้าหนี้ขายทรัพย์สินเป็นประกัน (NPA ทรัพย์ที่ถูกขายทอดตลาด) บอร์ดต้องพิจารณาให้คณะกรรมการจัดการพิจารณารายละเอียดการซื้อหนี้ NPA 607 ล้านบาท (ซื้อไปแล้ว 247 ล้านบาท)

4. พิจารณาแนวทางการชำระหนี้แทนสถาบันเกษตรกร กรณีการทดลองจ่ายเงินชดเชยบอร์ดต้องพิจารณา โดยพิจารณาแนวทางการชำระหนี้แทนสถาบันเกษตรกร กรณีกรรมการกองทุนปี 2548 รับหลักการให้ลดหนี้ 50% และตัดดอกเบี้ยทิ้ง ให้เกษตรกรที่เป็นหนี้สหกรณ์จำนวน 43,004 ราย (ขึ้นทะเบียนเมื่อปี2549)

5.ปรับปรุงแก้ไขระเบียบคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรว่าด้วยหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการโอนทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกันชำระหนี้ และการเช่า เช่าซื้อ หรือซื้อทรัพย์สินไปจากกองทุน พศ 2560 

6.การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการปฏิรูปองค์กรและจัดทำโครงการพิเศษเพื่อสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการเยียวยาช่วยเหลือเกษตรกรในกรณีเร่งด่วน

7. กำกับการปฏิบัติงานคณะกรรมการบริการ เร่งออกประกาศหลักเกณฑ์ว่าด้วยการฟื้นฟูฯ ภายใต้ระเบียบคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเฉพาะกิจ ว่าด้วยการพิจารณาแผนและโครงการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรขององค์กรเกษตรกรฯ พศ 2562

ทั้งหมดนี้ เป็นปัญหาที่ค้างมาตั้งแต่รัฐบาลยุคปี 2546 และยังต้องอาศัยระเบียบ กฎหมาย และ มติครม.แก้ไขอีกหลายรายการ ทั้งนี้เกษตรกรหลายกลุ่มตั้งความหวังไว้ที่การทำงานอย่างตั้งใจจริงของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ )ที่ได้รับมอบอำนาจประธานกรรมการนี้จากนายกรัฐมนตรี