ไม่พบผลการค้นหา
ครม.อนุมัติ งบประมาณช่วยเหลือประชาชน รับมือภัยแล้ง ใน 32 จังหวัด หลัง สนทช.ประเมินร่วมหน่วยงานเกี่ยวข้อง เสนอแผนเร่งด่วนแก้ไขปัญหา

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติงบกลางปี 2562 ตามที่ สทนช. ได้เสนอสำหรับใช้เป็นค่าใช้จ่ายในโครงการเพิ่มแหล่งเก็บกักน้ำและเพิ่มต้นทุน เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งและรองรับน้ำในฤดูฝน ปี 2562 ในพื้นที่ 32 จังหวัด กว่า 144 โครงการ วงเงินรวม 1,226 ล้านบาท 

สำหรับที่มาของการของบกลาง ปี 2562 ดังกล่าว เนื่องจากปัจจุบันกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย  ได้ประกาศเขตภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) ใน 5 จังหวัด 14 อำเภอ ประกอบด้วย จังหวัดร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ นครราชสีมา ตราด และชลบุรี ทำให้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยรองนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายในการประชุมคณะอนุกรรมการวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่      27 มีนาคม 2562 ให้ สทนช. วิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงที่คาดว่าจะขาดแคลนน้ำเพิ่มเติมในช่วงปลายฤดูแล้ง 

หลังจากที่ สทนช.ได้วิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงทั่วประเทศแล้วจึงได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 10 หน่วยงานเพื่อร่วมกันวางแผนแก้ไขปัญหาเร่งด่วน เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2562 และมีหน่วยงานที่เสนอโครงการเพื่อแก้ไขปัญหา จำนวน 6 หน่วยงาน ได้แก่ กรมชลประทาน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมพัฒนาที่ดิน กรมทรัพยากรน้ำบาดาล การประปาส่วนภูมิภาค กองทัพบก ร่วมกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์    โดยโครงการที่เสนอขึ้นมานั้นต้องเป็นโครงการที่สอดคล้องกับพื้นที่ประสบปัญหา สามารถดำเนินการได้ทันทีและต้องแล้วเสร็จภายใน 90 วัน ภายหลังการวิเคราะห์ กลั่นกรอง แผนงานโครงการที่ตรงวัตถุประสงค์ข้างต้น สามารถสรุปโครงการเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนรายพื้นที่ได้ดังนี้

1. โครงการในพื้นที่ประกาศภัยแล้ง 5 จังหวัด 34 โครงการ 

2. โครงการในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค ใน 13 จังหวัด 51 โครงการ

3. โครงการในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรนอกเขตชลประทาน ใน 2 จังหวัด รวม 14 โครงการ

4. โครงการในพื้นที่แล้งซ้ำซาก และหาน้ำยาก ใน 13 จังหวัด รวม 45 โครงการ

ทั้งนี้ โครงการข้างต้นจะสามารถช่วยบรรเทาภัยแล้งได้ใน 32 จังหวัด รวม 144 โครงการ วงเงินรวม 1,226 ล้านบาท เมื่อแล้วเสร็จจะสามารถเพิ่มปริมาณน้ำได้ 28.12 ล้าน ลบ.ม. มีครัวเรือนรับประโยชน์ 85,474 ครัวเรือน ซึ่งภายหลังจากที่ ครม.อนุมัติวงเงินแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้เร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือประชาชนต่อไป