ไม่พบผลการค้นหา
ตัวแทนผู้ส่งออกทางเรือเร่งหาทางออกสถานการณ์เงินบาท หลังเคยประกาศต้องการ 34 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ด้านแบงก์ชาติเปิดนโยบายเน้นเฉพาะกลุ่ม-เจาะผู้ได้รับผลกระทบ

จันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายยุทธศาสตร์และความสัมพันธ์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ได้เข้ามาหารือกับแบงก์ชาติเรื่องสถานการณ์ค่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมาซึ่ง สรท.ออกมาชี้แจงเสมอว่าสร้างผลกระทบให้กับความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกอย่างมาก รวมถึงแนวโน้มในอนาคตจากผลกระทบของวิฤตโรคระบาดที่คาดว่าจะส่งห้การฟื้นตัวเป็นไปอย่างเชื่องช้า

ธปท
  • จันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายยุทธศาสตร์และความสัมพันธ์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

ก่อนหน้านี้ กัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธาน สรท.เคยออกมาชี้แจงว่า แม้เงินบาทของไทยจะมีแนวโน้มอ่อนค่าลงมาบ้างแต่ยังห่างไกลกับระดับที่ผู้ประกอบการเอกชนต้องการในระดับ 34 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยตัวเลขการส่งออกประจำเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา มีมูลค่าในรูปสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ 1.64 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นการปรับตัวลดลง 23.17%

ตามข้อมูลจาก Yahoo Finance นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา (year-to-date) หรือ YTD มาจนถึงวันที่ 8 ส.ค. ค่าเงินบาทไทยเมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้น 3.67% โดยบาทเคยอ่อนค่าต่ำสุดไปแตะ 33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อวันที่ 2 เม.ย. ที่ผ่านมา

แถลงข่าวสถานการณ์การส่งออก
  • กัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)

ฝั่ง ธปท.แจงว่า ในระยะต่อไป ตลาดการเงินโลกมีแนวโน้มผันผวนเพิ่มขึ้น จากการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลักและความไม่แน่นอนทางการเมืองสหรัฐฯ การกำหนดอัตราแลกเปลี่ยน ณ ระดับใดระดับหนึ่งที่ฝืนกลไกตลาดไม่สามารถทำได้อย่างยั่งยืนและจะเปิดโอกาสให้นักลงทุนเข้ามาเก็งกำไรค่าเงินส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม ผู้เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศจึงควรให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านเงินตราต่างประเทศอย่างสม่ำเสมอ

นอกจากนี้ ธปท. กล่าวว่าองค์กรจะเพิ่มความช่วยเหลือให้เจาะจงมากขึ้น และเบนเข็มจากวิธีการช่วยแบบทั่วไปในระยะแรก พร้อมย้ำว่าการปรับโครงสร้างหนี้ (debt restructuring) ยังเป็นสิ่งจำเป็นแต่ต้องทำควบคู่กับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ (economic restructuring) และธุรกิจ (business restructuring) ไปพร้อม ๆ กัน เพื่อช่วยให้ธุรกิจปรับเข้าสู่โลกใหม่ได้อย่างยั่งยืน