ไม่พบผลการค้นหา
อดีต กกต. แนะ กกต. ส่งศาลรัฐธรรมนูญตัดสินสูตรคำนวณปาร์ตี้ลิสต์ จี้ชี้แจงปมนับคะแนนให้ชัด หวั่นเกิดวิกฤตศรัทธา กกต. นำไปสู่การเลือกตั้งโมฆะ ย้ำการล่ารายชื่อถอดถอน กกต. เป็นสิทธิ์ของประชาชน

นางสดศรี สัตยธรรม อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าววอยซ์ ทีวี ถึงกรณีคะแนนผลการเลือกตั้งว่า เกิดปัญหาความขัดกันระหว่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 กับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ในมาตรา 128 และมาตรา 129 ซึ่งนำมาสู่ปัญหาการตีความเรื่องสูตรการคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อขณะนี้ โดยเฉพาะการที่พรรคการเมืองขนาดเล็กที่ได้ที่ได้นั่ง ส.ส. จากคะแนนเสียงเพียง 30,000 คะแนน

หาก กกต. ไม่สามารถวินิจฉัยชี้ขาดได้ ควรส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งนอกจากจะเป็นการแก้ไขปัญหาแล้ว ยังเป็นบรรทัดฐานสำหรับการดำเนินการของ กกต. ในอนาคตด้วย เช่นเดียวกันกับกรณีปัญหาบัตรเลือกตั้งจากนิวซีแลนด์ที่ กกต. มีมติไม่นำมานับคะแนน ทั้งที่ไม่ใช่บัตรเสีย ควรส่งให้ศาลฎีกาวินิจฉัยชี้ขาด เพื่อให้เป็นไปแนวคิดทุกคะแนนมีความหมายที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้บัญญัติไว้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่ กกต. ต้องเร่งชี้แจงในเวลานี้ก่อนถึงวันที่ 9 พฤษภาคม คือเรื่องของการนับคะแนน หากไม่สามารถชี้แจงจนเกิดความเข้าใจได้ อาจเกิดการไม่ยอมรับตามมา นำไปสู่การก่อม็อบประท้วง จนอาจไปถึงขั้นการใช้อำนาจของผู้มีอำนาจเพื่อให้บ้านเมืองอยู่ในความสงบด้วยวิธีการต่างๆ

นางสดศรี กล่าวในฐานะอดีต กกต. ถึง กกต.ชุดปัจจุบัน ว่า อย่าคิดว่าการทำงานในฐานะ กกต.เป็นสิ่งวิเศษ แต่ต้องทำมีปฏิสัมพันธ์กับผู้สื่อข่าวในฐานะพี่น้อง ตัวกรรมการ กกต. ทั้ง 7 คน ต้องทำหน้าที่ในการชี้แจงข้อเท็จจริง โดยเฉพาะการชี้แจงเหตุผลของการลงมติในเรื่องต่างๆ เปรียบเหมือนการไปโรงพยาบาลที่คนป่วยต้องการการรักษาจากแพทย์ ไม่ได้ต้องการพบเพียงนางพยาบาล 

"ดังนั้น หาก กกต. ต้องการได้ภาพพจน์ที่ดี ต้องทำการพูดคุยกับสื่อมวลชน เพราะสื่อมวลชนจะนำสิ่งที่ได้รับจาก กกต. ไปสื่อสารกับประชาชน กกต. อย่ามองว่าการทำงานเป็นเหมือนศาล รอเพียงคำพิพากษา แต่ กกต. ต้องอธิบายขั้นตอนการทำงานของตัวเองให้ได้" นางสดศรี กล่าว  

นางสดศรี กล่าวต่อว่า การเลือกตั้งครั้งนี้คนไทยรอคอยมาถึง 5 ปี เป็นความคาดหวังว่า กกต. ชุดใหม่ที่ได้รับการคัดสรรมาอย่างดีจะทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งได้ประสบความสำเร็จ แต่หากผลที่ออกมาในวันที่ 9 พฤษภาคมแล้ว คนไม่ยอมรับ กกต. อาจจะต้องรับผลกระทบกับสิ่งที่จะตามมาเมื่อการเมืองมีการเปลี่ยนแปลง 

อดีต กกต. ยังมองว่าเป็นสิทธิ์ของภาคประชาชนและนิสิตนักศึกษาที่จะล่ารายชื่อถอดถอน กกต. แต่การเอาผิดอาญากับ กกต. ตามมาตรา 157 ที่เกี่ยวกับการละเว้นหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบนั้น สามารถยื่นได้แต่ผู้ที่กล่าวหาต้องมีหลักฐานชัดเจน ถ้า กกต. ไม่ได้ทำผิดอาจถูกฟ้องกลับได้ แต่อย่างไรก็ตามเห็นว่าการพูดคุยทำความเข้าใจเป็นสิ่งที่สำคัญ หาก กกต. ไม่ต้องการให้เกิดวิกฤตศรัทธากับ กกต. รวมทั้งหากไม่ต้องการให้การเลือกตั้งครั้งนี้กลายเป็นโมฆะ จากการที่ กกต. ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ อันเนื่องมาจากการถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง

ส่วนกรณีที่ กกต. ฟ้องหมิ่นประมาทนางสาวณัฐฏา มหัทธนา นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน และนายศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการอิสระ นางสดศรี เห็นว่า เป็นสิ่งที่ กกต. ไม่น่ากระทำ เพราะจะทำให้เสียเวลาการทำงาน กกต. ควรนำเวลาไปใช้จัดการกับการเลือกตั้ง โดยเฉพาะการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นที่ กกต. จะต้องเจอกับศึกหนักมากกว่าการเลือกตั้งในระดับประเทศ

นางสดศรี เชื่อว่า กกต. ที่เข้ามาทำหน้าที่ซึ่งมีประสบการณ์และเคยดำรงตำแหน่งข้าราชการระดับสูงมาก่อน อยากประสบความสำเร็จในหน้าที่การเป็น กกต. ต้องการเป็น กกต. ตัวอย่าง จึงขอเป็นกำลังใจให้กับ กกต. ทั้ง 7 คนในการแก้ไขปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น เพราะไม่มีสิ่งใดที่จะมีแต่ทางตัน ทุกอย่างสามารถแก้ไขได้ แต่การแก้ไขปัญหาต้องทำให้ได้ก่อนวันที่ 9 พ.ค. อย่าให้เป็นตามสุภาษิตไทยที่ว่า "กว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้"