ไม่พบผลการค้นหา
อันเฟรล ชี้ เลือกตั้งไทยห่างไกลมาตรฐานสากล หย่อนบัตรในภาวะไม่เป็นประชาธิปไตย ระบุชัด กกต.อืดอาด-ผิดพลาดเยอะ จี้เผยข้อมูลรอบด้านโดยด่วน

เครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้งเสรี หรืออันเฟรล แถลงรายงานเบื้องต้นผลการสังเกตการณ์เลืิอกตั้งทั่วไปของไทยวันที่ 24 มีนาคม 2562 โดยนางสาวจันดานี วาตาวาลารักษาการผู้อำนวยการอันเฟรล, นายโรฮานา เฮทเทียราชชี เลขาธิการอันเฟรล และนายอาเมล เวียร์ ผู้ปฏิบัติการโครงการสังเกตการณ์การเลือกตั้ง 

นายอาเมลระบุถึงการเลือกตั้งของไทยภายใต้มาตรา 44 ที่ให้อำนาจหัวหน้าคณะรัฐประหารอย่างล้นหลามกระทบการทำหน้าที่ของภาคประชาสังคมและสื่อสารมวลชน มีรายงานการใช้อำนาจรัฐเพื่อประโยชน์บางพรรคการเมือง ขณะที่การเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม แม้ภาพรวมเป็นไปด้วยความราบรื่น ค่อนข้างเป็นระเบียบ แต่การบริหารจัดการมีปัญหา การนับและรวมคะแนนล่าช้า มีความคลาดเคลื่อนของตัวเลข ซึ่งถือเป็นความผิดพลาดและบกพร่องเกี่ยวกับกระบวนการนับคะแนนของ กกต. อาจเกิดจากปัญหาเชิงเทคนิค รวมทั้งบัตรเสียจำนวนมาก กระทบกับความเชื่อมั่นของประชาชนต่อผลการเลือกตั้ง 

ส่วนการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร มีผู้ใช้สิทธิ์จำนวนมาก จึงควรจัดให้มีการเลือกตั้ง 2 วันเป็นข้อเสนอแนะ และเห็นว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.ควรเพิ่มการประชาสัมพันธ์และเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกตั้งตลอดทั้งกระบวนการให้มากกว่านี้ โดยหลัง กกต.ประกาศผลเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ อันเฟรลจะแถลงรายงานทางการอีกครั้ง เพราะขณะนี้ยังไม่มีผลคะแนนออกมาจาก กกต.

ขณะที่นายโรฮานา ระบุว่า ไทยอยู่ในสภาพสังคมที่ไม่เป็นประชาธิปไตย กระบวนการเลืิอกตั้งไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐานสากล และคนในประเทศไม่เชื่อมั่นระบบ มีความผิดพลาดปรากฏตามสื่อต่างๆมากมาย ซึ่งสะท้อนความจำเป็นที่ต้องให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูล โดย กกต.ต้องเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการเลือกตั้งสู่สาธารณะ นอกจากนี้ กฎหมายไทยออกแบบให้มี สว. 250 คนจากการแต่งตั้งและมีอำนาจมาก แสดงถึงกติกาที่ไม่ได้ทำให้คนสามารถเลือกผู้แทนตามต้องการได้ 100 % 

เลขาธิการอันเฟรล ย้ำว่า การเลือกตั้งเสรีและเป็นธรรมนั้นมีหลายองค์ประกอบ แต่ทุกอย่างต้องโปร่งใส ผู้เกี่ยวข้องทั้งผู้ใช้สิทธิ์และพรรคการเมืองต้องได้รับข้อมูลเต็มที่ ดังนั้นต้องสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ ให้ทุกฝ่ายเชื่อมั่นระบบ คนจะไม่สงสัยกระบวนการตลอดจนการนับคะแนนเลือกตั้งที่ชักช้าของ กกต.ด้วย

นอกจากนี้ กกต.ต้องให้ความรู้ผู้สิทธิ์เลือกตั้งและสร้างการมีส่วนร่วมมากกว่านี้ เพราะบัตรเสีย 6 % ถือว่าเยอะ อาจมาหลายสาเหตุ แต่ควรมีมาตรฐานซึ่งปกติควรอยู่ที่ 2-3% รวมทั้งกลไกรับเรื่องร้องเรียนและยุติข้อพิพาท ที่ กกต.ควรดำเนินการให้เร็วและโปร่งใสให้มีประสิทธิภาพมากกว่านี้ เพราะการใช้เวลา 2 สัปดาห์หรือเป็นเดือนตรวจสอบหรือดำเนินการและหาข้อสรุปนั้นนานเกินไป ซึ่งกระทบความเชื่อมั่นต่อการเลือกตั้ง 

นายโรฮานา ระบุด้วยว่าได้รับรายงานการใช้อิทธิพลและซื้อเสียงโดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท ซึ่งถือว่าไม่เหมาะสม และการใช้อำนาจรัฐเอื้อประโยชน์บางพรรคการเมืองเป็นสิ่งที่คนไทยต่างรับรู้ ซึ่งเป็นเรื่องของข้อกฎหมายของไทยเอง สำหรับความเห็นต่อการจับขั้วกันจัดตั้งรัฐบาลระหว่างพรรคการเมืองที่ได้จำนวน ส.ส.คาดการณ์มากที่สุด กับพรรคการเมืองที่ได้คะแนนนิยมมากที่สุด ซึ่งสื่อมวลชนได้ถามนั้น นายโรฮานา ไม่ขอเทียบเคียงกับหลักการสากล แต่เป็นเรื่องของโครงสร้างหรือข้อกฎหมายของไทย ซึ่งต้องเคารพกฎหมายของประเทศเจ้าบ้าน อันเฟรลไม่ขอก้าวล่วง