ไม่พบผลการค้นหา
พิจารณ์เสนอตัด 1,500 ล้านบาทอ้างอิงฐานปี 2563 แล้วปรับลด 5.6% เท่ากับการลดงบประมาณรวมโดยเฉลี่ย บี้สำนักงบประมาณทำเอกสารบรรทัดเดียว ตรวจสอบไม่ได้ - รังสิมันต์เสนอตัด 3,500 ล้านระบุ โอนกิจการแล้ว แต่ต้นสังกัดเดิมยังตั้งงบแบบเดิมและสูงกว่าเดิม เสนอโอนเรื่องการถวายความปลอดภัยกลับมาที่สำนักปลัดกลาโหมและ สตช. เพื่อให้สภาตรวจสอบได้ ที่ประชุมสภาโหวตไม่แก้ไข คงไว้เช่นเดิม 8,700 ล้านบาท ลงมติ 337 ต่อ 47 เสียง

22 ส.ค.2564 ในการอภิปรายวาระ 2-3 ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 เป็นวันที่ 4 ในช่วงกลางดึก ส.ส.อภิปรายและลงมติมาถึงมาตรา 36 ซึ่งเป็นงบส่วนราชการในพระองค์ ตั้งงบประมาณไว้ 8,761,390,800 บาท โดยมี ส.ส.จากพรรคก้าวไกลหลายคนอภิปรายแปรญัตติเสนอปรับลดงบประมาณลง ท้ายที่สุด ที่ประชุมลงมติ 392 เสียง โดยมีมติเห็นด้วยกับงบประมาณดังกล่าวโดยไม่ปรับลด 337 เสียง ไม่เห็นด้วย 47 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 5 เสียง  

ทั้งนี้ ส่วนราชการในพระองค์ตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ.2560 เนื้อหากำหนดให้โอนกิจการต่างๆ ของ 5 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักราชเลขาธิการ สำนักพระราชวัง กรมราชองครักษ์ หน่วยบัญชาการรักษาความปลอดภัยในพระองค์ ซึ่งอยู่ในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม สำนักงานตำรวจราชสำนักประจำซึ่งอยู่ในสังกัดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.)

### ประธานไม่อนุญาตให้ฉายสไลด์ เจ้าหน้าที่กลัวโดนปิดสถานี 

ระหว่างการอภิปราย ประธานในที่ประชุมไม่อนุญาตให้มีการฉายสไลด์ที่ ส.ส.หลายคนเตรียมมา 

พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.พรรคก้าวไกลหารือว่า สไลด์ทั้งหมดนำข้อมูลมาจากเอกสารสำนักงบประมาณตั้งแต่ปีงบประมาณ 2559 ถึงปัจจุบัน เป็นข้อมูลที่ปรากฏบนเว็บไซต์เผยแพร่ต่อสาธารณะ ประธานในที่ประชุมชี้แจงว่าการที่เอกสารบางส่วนเป็นเอกสารที่มีในเล่ม 'ขาวคาดแดง' ของสำนักงบประมาณ แต่การทำภาพประกอบต่างๆ นั้นได้มีการหารือกันที่ห้องประธานชวน หลีกภัย พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กองประชุมและฝ่ายกฎหมายของสภาผู้แทนราษฎร ตรวจสอบอย่างละเอียดรอบคอบแล้วมีเหตุผล ข้อกฎหมาย ข้อบังคับประกอบว่าไม่อาจให้นำเสนอได้ ก็ต้องยอมรับ 

"หากการออกอากาศไป การเผยแพร่ภาพเหล่านั้น เป็นเรื่องเสี่ยง เรื่องหมิ่นเหม่ที่จะเกี่ยวข้องกับสถาบันนั้น ไม่มีหลักประกันจากใครเลยว่าสถานีวิทยุโทรทัศน์นั้นจะไม่ถูกปิด นี่เป็นสิ่งที่เจ้าหน้าที่เขาวิตกกังวล แต่เราก็อนุญาตให้ท่านอภิปราย" ศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาคนที่ 2 กล่าว และย้ำว่าสถานีวิทยุโทรทัศน์ก็มีกฎหมายเฉพาะอยู่ 

มี ส.ส.หลายคนประท้วงคำวินิจฉัยของประธานที่ประชุม แต่ในที่สุดก็มีการอภิปรายต่อโดยไม่มีการฉายสไลด์ 

ขอปรับลด 1,500 ล้าน บี้สำนักงบบกพร่อง ไม่มีเอกสารชี้แจงเหมือนหน่วยงานอื่น

พิจารณ์ อภิปรายว่า งบราชการในพระองค์ปี 2565 ได้รับการจัดสรร 8,761 ล้านบาท ลดลงจากงบประมาณปี 2564 จำนวน 220 ล้านบาทหรือราว 2% ตนเองได้สงวนคำแปรญัตติปรับลดงบส่วนนี้ลง 1,500 ล้านบาท โดยมีเหตุผลดังนี้ 

  • ปี 2564 ในชั้นกรรมาธิการ (กมธ.) งบส่วนนี้ไม่มีผู้แทนหน่วยงานมาชี้แจง มีเพียงผู้อำนวยการสำนักงบประมาณชี้แจงแทนสั้นๆ ต่อคำถามว่าเหตุใดงบจึงสูงขึ้นทุกปีโดยเฉพาะปี 2564 สำนักงบประมาณระบุว่า เป็นการโอนงบบุคลากรจากกระทรวงกลาโหม แต่กรรมาธิการก็ยังพบว่ากลาโหมยังมีการตั้งงบอยู่ราว 1,200 ล้านบาทในการถวายความอารักขา ถวายปลอดภัย กมธ.ได้ขอเอกสารชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติมเหมือนกับหน่วยงานอื่น แต่สำนักงบประมาณไม่มีเอกสารชี้แจง
  • ปี 2565 ซึ่งเป็นปีที่ประเทศมีปัญหาทางการคลัง ประสบปัญหาเศรษฐกิจจากโควิด สำนักงบประมาณก็ชี้แจงเพียงปากเปล่าเช่นเดิม โดยให้ข้อมูลว่า ส่วนราชการในพระองค์มีบุคลากร 14,275 อัตรา ใช้งบประมาณด้านบุคลากร 8,098 ล้าน หรือ 92% ของงบที่ได้รับทั้งหมด การชี้แจงนี้ตนเห็นควรว่าต้องการความกระจ่างเพิ่มเติม และไม่อาจเชื่อในข้อมูลที่ชี้แจงมา และเป็นเหตุผลให้ต้องขอปรับลดงบลง  

พิจารณ์อธิบายฐานของการปรับลด ด้วยเหตุผลดังนี้ 

  • เมื่อย้อนดูเอกสารงบประมาณ 2560 ซึ่งยังไม่มีการออก พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พบว่าภายใต้ 3 หน่วยงานหลักซึ่งปัจจุบันย้ายไปอยู่ส่วนราชการในพระองค์แล้ว ได้แก่ สำนักพระราชวัง มีงบประมาณ 3,400 กว่าล้านบาท สำนักราชเลขาธิการ 500 กว่าล้านบาท กรมราชองค์รักษ์ 800 กว่าล้านบาท โดยทุกหน่วยงานมีการะบุรายจ่ายชัดเจนในหมวดต่างๆ เหตุใดปัจจุบัน สำนักงบประมาณจึงแสดงข้อมูลเหลือเพียงบรรทัดเดียว สำนักงบประมาณบกพร่องต่อหน้าที่ในการจัดทำเอกสารงบประมาณหรือไม่ 
  • เมื่อดูตัวเลขงบ 8,700 กว่าล้านบาท ถ้า 92% เป็นงบบุคลากรตามที่สำนักงบประมาณชี้แจง แปลว่า ส่วนราชการในพระองค์จะเหลืองบเพื่อใช้จ่ายปฏิบัติงานเพียง 663 ล้านบาทซึ่งไม่สมเหตุสมผล เพราะเมื่อดูงบประมาณปี 2560 ลำพังเพียงสำนักพระราชวัง มีการใช้จ่ายงบเพื่อปฏิบัติงานถวายความสะดวกแก่พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์จำนวน 1,700 กว่าล้านบาทโดยยังไม่รวมบุคลากร หากดูในเงินอุดหนุนต่างๆ ของสำนักพระราชวังจะเหลือประมาณ 1,200 ล้าน เช่น เงินอุดหนุนเพื่อค่าใช้จ่ายในพระราชฐานที่ประทับ ค่าใช้จ่ายในพระองค์ เงินปีพระบรมวงศานุวงศ์ การปรับปรุงพระราชฐาน  
  • จึงขอเสนอปรับลดงบ 1,500 ล้าน โดยอาศัยข้อมูลและการคำนวณเท่าที่มีอยู่ โดยกลับไปดูตัวเลขปี 2563 ซึ่งมีส่วนราชการในพระองค์แล้ว ปีนั้นได้รับรับงบ 7,685 ล้านบาทเป็นปีฐาน หากปรับงบลดลงเท่ากับค่าเฉลี่ยของการตัดลดงบประมาณแผ่นดินในปี 2565 คือ 5.6% จะทำให้ส่วนราชการในพระองค์ได้รับงบประมาณปี 2565 เหลือ 7,250 ล้านบาท หรือปรับลดลงประมาณ 1,500 ล้านบาท 

ขอปรับลด 3,568 ล้าน โอน 5 กิจการแล้ว ต้นสังกัดเดิมยังตั้งงบแบบเดิมและสูงมาก 

รังสิมันต์ โรม ส.ส.พรคก้าวไกล อภิปรายแปรญัตติตัดลดงบประมาณตามมาตรา 36 ส่วนราชการในพระองค์ลง 3,568 ล้านบาท หรือคิดเป็น 40.72% ทั้งนี้ ส่วนราชการนพระองค์ตั้งมาเป็นปีที่ 5 และมีการเพิ่มงบมากกว่า 10% ในทุกปี แม้ปี 2565 งบจะลดลง 2.4% แต่ก็ลดน้อยกว่างบทั้งประเทศที่ลดลงเฉลี่ย 5.6% และในบางปีก็มีการเบิกจ่ายเกินจริงถึง 27% บางปีเกินสูงถึง 52% จากปี 2561-2564 ใช้งบไปแล้วราว 32,000 ล้านบาท โดยการอภิปรายมีรายละเอียดดังนี้ 

  • กฎหมายส่วนราชการในพระองค์ประกาศใช้ในยุค คสช. โดยโอนย้าย 5 หน่วยงานในสังกัดเดิมมาอยู่รวมกัน ทั้ง 5 หน่วยงานดังกล่าวเคยได้รับงบประมาณก่อนการโอนย้ายรวมกันในปี 2559 อยู่ที่ 6,300 ล้านบาท เมื่อถูกโอนย้ายมาส่วนราชการในพระองค์แล้ว ในปีแรกๆ งบประมาณก็ได้รับใกล้เคียงกัน แต่เวลาผ่านไปงบกลับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ 
  • หากพิจารณาหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยซึ่งเคยอยู่ใต้สำนักปลัดกลาโหม นำมาเทียบก่อนและหลังมีส่วนราชการในพระองค์ ในปี 2559 แม้จะมีงบบุคลากร งบดำเนินงาน งบรายจ่ายอื่น ก็ยังอยู่ประมาณ 1,000 ล้านบาท ต่อมาปี 2561 มีการโอนกิจการไปแล้ว แต่ยังพบงบในชื่อทำนองเดียวกัน โดยจัดสรรเป็นงบอุดหนุนที่สูงถึง 2,800 ล้านบาท ปี 2564 ก็ยังมีงบส่วนนี้อยู่ 1,200 ล้านบาท คำถามคือ เมื่อโอนกิจการไปแล้วทำไมจึงยังมีการสนับสนุนงบในกิจการนี้อีก ด้วยงบอุดหนุนที่สูงกว่าเดิม 
  • หากพิจารณาในส่วน สตช. แม้ไม่ได้มีเพียงตำรวจราชสำนักที่ถวายความปลอดภัย ยังมีหน่วยอื่นด้วย แต่เมื่อโอนหน่วยนี้ออกไป งบส่วนนี้ควรลดลง เมื่อสืบค้นย้อนหลังพบว่า ปี 2559 งบอยู่ที่ 500 ล้าน ปี 2561-2562 เหลือ 250 ล้าน แต่ปี 2565 กลับตั้งงบพุ่งขึ้นสูงถึง 8 เท่า เป็น 2,100 ล้านบาท  

"เอาเข้าจริงแล้ว งบกิจการราชการในพระองค์ที่เคยเข้าใจว่าถูกโอนงบหน่วยงานต่างๆ ไปอยู่ในก้อน 8,700 ล้านของส่วนราชการในพระองค์ แท้จริงแล้วมันยังมีเงินที่อยู่นอกส่วนราชการในพระองค์ด้วย ยังมีงบที่ค้างอยู่ในหน่วยงานเดิม แต่ใช้เงินสูงยิ่งกว่าเดิมมาก ซึ่งเราอาจรวมเบ็ดเสร็จได้ประมาณ 12,000 ล้านบาท" 

"ผมไม่ได้มีปัญหาอะไรกับการที่กลาโหมหรือ สตช.จะรับผิดชอบภารกิจถวายความปลอดภัย หากสามารถชี้แจงรายละเอียดได้อย่างสมเหตุสมผล จะมีงบส่วนนี้ก็ได้ แต่ประเด็นคือ เมื่อโอนกิจการ 5 หน่วยงานไปส่วนราชการในพระองค์ การจัดสรรงบประมาณเพื่อกิจการเหล่านั้นก็ควรโอนไปด้วย แต่สำนักปลัดกลาโหมกับ สตช.ยังมีการจัดสรรตรงนี้และเพิ่มขึ้น ขณะที่ส่วนราชการในพระองค์ก็ไม่เคยใช้เงินน้อยกว่ายุค 5 หน่วยงานเลย แต่ละปีมีแต่โป่งพองขึ้น ถ้าอย่างนั้น เราเอาการจัดสรรตรงนี้กลับมาให้สำนักปลัดกลาโหมกับ สตช.รับผิดชอบทั้งหมดภายใต้การตรวจสอบของสภาไม่ดีกว่าหรือ" 

"ด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้จึงขอแปรญัตติตัดลดลงประมาณโดยให้อิงจาก 3 หน่วยงานที่ได้โอนกิจการมาจริงๆ ซึ่งก็คือ สำนักราชเลขาธิการ สำนักพระราชวัง กรมราชองครักษ์ เราก็จะได้งบส่วนราชการในพระองค์ที่ควรจะเป็น แล้วส่วนที่เกินก็ตัดออก ก็เท่ากับเราตัดออก 3,568 ล้านบาท" 

  • ในส่วนจำนวนบุคลากรตามที่สำนักงบประมาณชี้แจงว่ามีประมาณ 14,000 คนนั้น อยากได้รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับตำแหน่ง รายละเอียดภารกิจและเงินเดือน มีความซ้ำซ้อนกับของกลาโหมและ สตช.หรือไม่ แต่ละปีรับเพิ่มกี่คน 

"สิ่งที่ทำทั้งหมดเป็นเพียงแค่จัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่ เฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุขของทุกภาคส่วนท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญ ซึ่งจะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อทั้งประชาชนและสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย" 

นอกจากนี้ยังมีการอภิปรายของ สุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา และ เบญจา แสงจันทร์ ที่แปรญัตติของตัดลดลงประมาณในมาตรานี้ด้วยเช่นเดียวกัน