ไม่พบผลการค้นหา
นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิสตรีสนับสนุนศาลสูงบังกลาเทศ ที่ตัดสินให้รัฐบาลยกเลิกข้อบังคับให้ผู้หญิงระบุในใบสมรสว่าเป็นหญิงพรหมจรรย์ โดยให้เปลี่ยนไปใช้คำว่า 'โสด' แทน แต่ยังไม่อาจแน่ใจได้ว่ารัฐบาลจะดำเนินการตามคำตัดสินของศาลหรือไม่

ที่ผ่านมา กฎหมายว่าด้วยการแต่งงานและการหย่าร้างของบังกลาเทศ บังคับให้ผู้หญิงต้องระบุสถานะก่อนแต่งงานลงในใบจดทะเบียนสมรส โดยมีตัวเลือก 3 ข้อ ได้แก่ หญิงพรหมจรรย์ หย่าร้าง หรือเป็นหม้ายจากการที่คู่สมรสเสียชีวิต ซึ่งกลุ่มสิทธิมนุษยชนในบังกลาเทศได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อศาลให้พิจารณายกเลิกคำว่า 'กุมารี' ที่แปลว่า 'หญิงพรหมจรรย์' โดยให้เหตุผลว่า การระบุคำดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และสร้างค่านิยมที่ส่งผลกระทบต่อความเท่าเทียมทางเพศในสังคมบังกลาเทศอีกด้วย

การร้องเรียนให้ศาลบังกลาเทศพิจารณายกเลิกคำว่า 'กุมารี' ในใบสมรส เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2014 และกระบวนการพิจารณาเรื่องร้องเรียนนี้ดำเนินต่อเนื่องมาหลายปี จนกระทั่งเมื่อวันที่ 26 ส.ค.ที่ผ่านมา ศาลสูงของบังกลาเทศวินิจฉัยว่า รัฐบาลจะต้องพิจารณายกเลิกการระบุคำว่า 'หญิงพรหมจรรย์' ในใบสมรส และเปลี่ยนไปใช้คำว่า 'โสด' แทน ทั้งยังระบุด้วยว่า ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนตุลาคมนี้เป็นต้นไป

นาฮาร์ คัมราน ทนายความตัวแทน 3 กลุ่มสิทธิมนุษยชนที่เรียกร้องให้ยกเลิกคำว่าหญิงพรหมจรรย์ เปิดเผยกับซีเอ็นเอ็นว่า กฎหมายบังกลาเทศระบุชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษรว่า ผู้หญิงและผู้ชายนั้น 'เท่าเทียมกัน' แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ผู้หญิงบังกลาเทศยังไม่ได้รับการสนับสนุนให้มีบทบาททางสังคมเท่าเทียมกับผู้ชาย แม้แต่การเคารพสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างสิทธิส่วนบุคคลก็ยังไม่แพร่หลายนัก เห็นได้ชัดจากการที่ผู้หญิงต้องระบุว่าบริสุทธิ์อยู่หรือไม่ก่อนที่จะจดทะเบียนสมรส ขณะที่ผู้ชายไม่ต้องระบุสถานะเหล่านี้เลย

คัมรานกล่าวว่า คำตัดสินของศาลบังกลาเทศที่ให้ยกเลิกคำว่าหญิงพรหมจรรย์ ถือเป็นคำตัดสินครั้งประวัติศาสตร์ เพราะสวนทางกับค่านิยมของสังคม แต่ยังไม่อาจแน่ใจได้ว่ารัฐบาลจะดำเนินการตามคำพิพากษาของศาลสูงอย่างจริงจังและรวดเร็วเพียงใด

นอกจากนี้ นักสิทธิมนุษยชนต่างประเทศยังระบุด้วยว่า การบังคับให้ผู้หญิงต้องเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลในใบสมรสเป็นเพียงปัญหาหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายแต่งงานในบังกลาเทศเท่านั้น

ประเด็นที่น่าเป็นห่วงกว่า คือ มาตราหนึ่งของกฎหมายนี้ ที่ระบุว่า เยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี สามารถสมรสได้ถ้าผู้ปกครองอนุญาต และเห็นว่าการแต่งงานนั้นเป็นประโยชน์สูงสุดต่อผู้สมรสเอง ซึ่งนักเคลื่อนไหวมองว่า กฎหมายดังกล่าวทำให้เกิดปัญหา 'เจ้าสาววัยเยาว์' ซึ่งเยาวชนถูกบังคับให้แต่งงานทั้งที่ยังไม่พร้อม และหลายครั้งนำไปสู่ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศอีกด้วย 

ที่มา: BBC/ CNN