ไม่พบผลการค้นหา
คณะทำงานอัยการ 6 คนประชุมนัดแรกตรวจสอบสำนวนคดีอัยการสั่งไม่ฟ้อง 'บอส - วรยุทธ' ขอเวลา 7 วัน เร่งรัดตรวจสอบสำนวน ชี้ตามหลักกฏหมายแม้ญาติ 'ด.ต.วิเชียร' จะเซ็นยินยอมและรับเงินเยียวยา แต่ถือเป็นอาญาแผ่นดิน ไม่สามารถยอมความได้

วันที่ 28 ก.ค. 2563 คณะทำงานตรวจสอบการพิจารณาสั่งคดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา ร่วมประชุมนัดแรกที่สำนักงานอัยการสูงสุด อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ถนนแจ้งวัฒนะ หลังจากที่นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานอัยการ 6 คน ประกอบด้วย นายสมศักดิ์ ติยะวานิช รองอัยการสูงสุด เป็นหัวหน้าคณะทำงาน, นายสิงห์ชัย ทนินซ้อน อธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญา, นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม อธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญาธนบุรี, นายชาญชัย ชลานนท์นิวัฒน์ รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญา, นายอิทธิพร แก้วทิพย์ รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญา และนายประยุทธ เพชรคุณ อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 3

โดยนายประยุทธ ในฐานะรองโฆษกอัยการสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยว่า ขณะนี้อัยการได้เรียกสำนวน จากสำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ มาเพื่อประกอบการพิจารณา ซึ่งกรอบที่สำนักงานอัยการ จะดูให้พิจารณาว่าการสั่งสำนวน คดีดังกล่าว เป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ และเป็นไปตามระเบียบที่เกี่ยวข้องของสำนักงานอัยการสูงสุดหรือไม่ รวมถึงเหตุผลในการสั่งฟ้องเป็นอย่างไร ซึ่งทั้งหมดประธานคณะกรรมการ ที่กำกับโดย นายสมศักดิ์ ติยะวานิช คาดว่ากรอบที่จะพิจารณาเร่งรัดให้เร็วที่สุด โดยให้เสร็จภายใน 7 วัน หากว่ามีผลความคืบหน้าในการพิจารณาของคณะกรรมการ ที่ประชุมในวันนี้ ก็จะมีการเปิดเผยต่อสาธารณะ พร้อมยืนยันว่าคณะกรรมการที่สำนักงานอัยการสูงสุดตั้งขึ้นในคดีนี้ กำลังเร่งทำงานกันอยู่ ส่วนจะได้ข้อสรุปออกมาในทิศทางไหน ยังไม่สามารถที่จะให้คำตอบได้ 

ส่วนประเด็นที่สังคมตั้งข้อสงสัย ในความสมเหตุสมผลของพยาน 2 ปาก คณะกรรมการจะนำเข้าพิจารณาด้วยหรือไม่นั้น ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ เพราะคณะกรรมการ พึ่งจะเริ่มต้นพิจารณา แต่กรอบของการพิจารณาจะยึดตามสำนวนคดี

เมื่อถามว่าตามหลักกฎหมาย หากมีความเห็น ทั้งอัยการและผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ตรงกันว่าไม่ฟ้องคดีนี้ คณะกรรมการจะสามารถนำสำนวนคดีนี้มารื้อพิจารณา สอบสวนใหม่ได้หรือไม่ นายประยุทธ กล่าวว่า ยังเร็วเกินไปที่จะตอบคำถามนี้ แต่ขอให้รอดูคณะกรรมการพิจารณาและจะได้ข้อสรุปออกมาทิศทางไหน

ส่วนประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายเห็นตรงกันว่าไม่ฟ้อง ก็จะต้องดูกรอบและข้อกฎหมาย เพราะหากยึดตามหลักกฎหมาย พนักงานอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง ทางผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เห็นพ้องต้องกัน ในคำสั่งนั้น ก็ให้ถือว่าจบ ในการสั่งครั้งนั้น ตามกระบวนการของกฎหมาย แต่นัยยะของกฎหมาย การสั่งของอัยการ ที่ไม่ฟ้องที่ ผบ.ตร.เห็นชอบจะต่างกับการพิพากษาของศาล ถ้าศาลมีคำพิพากษา ถึงที่สุดในเรื่องใดเรื่องหนึ่งแล้ว ไม่สามารถรื้อหรือร้องฟ้องคดีได้ เพราะจะถือเป็นการฟ้องซ้ำ แต่ในส่วนของอัยการ หากเป็นกรณีที่ มีพยานหลักฐานใหม่ สามารถจะเปลี่ยนความเห็นคำสั่งใด หรือไม่ตัดสิทธิผู้เสียหายที่จะฟ้อง ตามป.วิอาญา สามารถไปฟ้องเองได้ ตามมาตรา 28

ส่วนที่สังคมตั้งข้อสงสัยและเคลือบแคลงการทำงานของสำนักงานอัยการสูงสุด ที่ไม่สั่งฟ้องนายวรวิทย์ อยู่วิทยา จนทำให้ภาพลักษณ์ของสำนักงานเสีย และจะกอบกู้ความน่าเชื่อถือกลับมาได้อย่างไรนั้น นายประยุทธ ย้ำว่าขณะนี้คณะกรรมการชุดที่แต่งตั้งขึ้นมา ก็ต้องการที่จะหาข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายทุกอย่าง เพื่อจะตอบคำถามสังคม ซึ่งถือเป็นภารกิจของสำนักงานอัยการสูงสุด รวมถึงรายการประชุมวันนี้ ก็จะพิจารณา เหตุผลในการสั่งไม่ฟ้องว่าคืออะไร และสั่งชอบด้วยข้อเท็จจริงข้อกฎหมายหรือไม่

สำหรับกรณีที่ญาติผู้เสียชีวิต ได้เซ็นยินยอมรับเงินเยียวยาและจะไม่ดำเนินการใดๆ หลังจากที่เกิดเหตุไปแล้ว จะทำให้ส่งผลต่อการสั่งไม่ฟ้องหรือไม่ นายประยุทธตอบว่าตามกฎหมาย แม้จะรับเงินไปแล้วแต่ ความผิดถือเป็นอาญาแผ่นดินเป็นคดีอาญาไม่สามารถยอมความได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง