ไม่พบผลการค้นหา
กระแสร้อนต่อต้านการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 กลายมาเป็นข้ออ้างและเงื่อนไขหลักในการสกัดกั้นไม่ให้ 'พรรคก้าวไกล' เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล หลัง 'พรรคสีส้ม' สามารถช็อกคนทั้งประเทศด้วยการกวาด ส.ส.มากที่สุดในสภาฯ 151 สส. ในการเลือกตั้งทั่วไป 14 พ.ค. 2566

แต่แล้วการโหวตเห็นชอบนายกรัฐมนตรี ครั้งแรก เมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2566 ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภามีมติเห็นชอบให้ 'พิธา ลิ้มเจริญรัตน์' หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยคะแนนเสียงเห็นชอบ เพียง 324 เสียง แต่ไม่สามารถเป็นนายกฯ ได้ เพราะเสียงเห็นชอบไม่ถึงกึ่งหนึ่งของรัฐสภา คือ 375 เสียง 

ด้วยเงื่อนไขหลักถูกพรรคการเมืองขั้วรัฐบาลเดิมและ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ผนึกกำลังกันตั้งเงื่อนไขไม่เห็นด้วย ถ้าให้ 'พรรคก้าวไกล' เป็นรัฐบาลและนายกรัฐมนตรี เพราะเป็นพรรคการเมืองที่มุ่งเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

ปฏิเสธไม่ได้ว่า 'พรรคก้าวไกล' สามารถชนะเลือกตั้ง มาเป็นอันดับ 1 ได้ ก็ด้วย หนึ่งแคมเปญ หลักคือ 'มีลุง ไม่มีเรา' อีกทั้งยังเสนอนโยบาย รัฐบาลก้าวไกล ประเทศไทยไม่เหมือนเดิม ผ่าน 300 นโยบาย

พิธา ประชุมรัฐสภา 8528.jpeg

1 ในนโยบายนั้นมีประเด็นร้อนที่ สว.และ พรรคขั้วเก่าไม่เอาด้วย และไม่ไฟเขียวให้ 'ก้าวไกล' เป็นรัฐบาลได้คือการแก้ไข มาตรา112

'ก้าวไกล' เสนอปัญหาผ่านนโยบายเป็นแคมเปญหาเสียงเลือกตั้ง ด้วยการแก้ไข มาตรา 112 โดยย้ำถึงปัญหาที่เคยเกิดขึ้นว่า “ศาลหรือฝ่ายตุลาการ เป็นส่วนสำคัญของกลไกรัฐที่ประชาชนคาดหวังให้ทำหน้าที่อย่างเป็นกลาง เป็นอิสระจากการถูกแทรกแซง และด้วยมาตรฐานที่คงเส้นคงวา เพื่อความยุติธรรมของประชาชนทุกคน”

“แต่ที่ผ่านมา คำพิพากษาและคำวินิจฉัยของศาลในหลายกรณีทางการเมือง ทำให้สังคมเริ่มตั้งคำถามมากขึ้นถึงความเป็นอิสระในการทำหน้าที่ดังกล่าว และการขาดกลไกตรวจสอบถ่วงดุลศาลที่ประชาชนมีส่วนร่วม”

“ยิ่งไปกว่านั้น เสรีภาพขั้นพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย แต่ตั้งแต่อดีตจวบจนถึงปัจจุบัน รัฐบาลได้มีการออกและบังคับใช้กฎหมายหลายฉบับเพื่อพยายามปิดกั้นการแสดงออกของประชาชนที่เห็นต่างหรือวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล ดังนั้น ปัญหาในเชิงหลักนิติธรรมทางกฎหมายจึงมีความสำคัญและจำเป็นต้องทบทวนเพื่อให้เกิดเสรีภาพและความเท่าเทียมตามมาตรฐานประชาธิปไตยสากล”

ข้อเสนอ ต่อการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112ของ 'ก้าวไกล' ต้องการลดโทษของกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์มีความสอดคล้องกับหลักสากล โดยให้เหลือเพียง จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (พระมหากษัตริย์)

พิธา ชัยธวัช ประชุมสภา IMG_7902.jpeg

หากย้อนไปเมื่อสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 25 หรือสภาฯ ชุดที่่ผ่านมา พรรคก้าวไกลมีความพยายามในการแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่นำโดย 'พรรคก้าวไกล' ที่ขณะนั้นมี ส.ส.อยู่ 53 คน แต่ลงชื่อด้วย 44 คน 

10 ก.พ. 2564 พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค ยกทีม ส.ส.พรรคก้าวไกล แถลงข่าวที่อาคารรัฐสภา ระบุว่า พรรคก้าวไกลยื่นร่างแก้ไข พ.ร.บ.เกี่ยวกับกรณีคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกและสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของประชาชนจำนวน 5 ฉบับ

1. ร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา เพื่อแก้ไขเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาททั้งหมด ทั้งหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไป ดูหมิ่นเจ้าพนักงาน ดูหมิ่นศาล รวมทั้งความผิดฐานดูหมิ่น หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์  

2. ร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เพื่อแก้ไขให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ในการเอาผิดต่ออาชญากรรมบนระบบคอมพิวเตอร์ ไม่ใช่นำไปใช้เพื่อปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์

3. ร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

4. ร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง โดยทั้งสองฉบับนี้เป็นการสร้างกลไกเพื่อคุ้มครองประชาชนจากการถูกฟ้อง ‘คดีปิดปาก’ โดยหน่วยงานรัฐหรือเอกชน ในกรณีที่ประชาชนใช้สิทธิเสรีภาพในการเข้าไปมีส่วนร่วมกับประเด็นสาธารณะต่างๆ หรือตรวจสอบการดำเนินงานของรัฐและเอกชน ซึ่งในต่างประเทศเรียกกันว่า Anti-SLAPP (Strategic Lawsuit Against Public Participation) laws

5. ร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลอาญาอีกหนึ่งฉบับ เพื่อให้ประชาชนสามารถเอาผิดเจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรมที่กระทำการบิดเบือนกฎหมายต่อประชาชนได้

ชัยธวัช ก้าวไกล 112

ครั้งนั้น ชัยธวัช กล่าวว่า ที่ผ่านมาตนยังไม่เคยเห็นการแก้ไขกฎหมายในทิศทางการล้มล้างการปกครอง โดยการเสนอลดโทษมาตรา 112 ยังไม่ได้เป็นการยกเลิกกลไกการคุ้มครองเกียรติยศของพระมหากษัตริย์ แต่ปรับปรุงให้เข้ากับยุคสมัยมากขึ้น 

พิธายังได้ย้ำว่า นอกจากปัญหาเกี่ยวกับมาตรา 112 แล้ว ในหลายปีที่ผ่านมาเรายังมีปัญหาการใช้กฎหมายอื่นๆ เพื่อเป็นเครื่องมือทางการเมือง ปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออก การมีส่วนร่วมทางการเมือง หรือการตรวจสอบอำนาจรัฐอีก ในโอกาสนี้พรรคก้าวไกลจึงได้เสนอชุดร่างกฎหมายดังกล่าว

ต่อมา ร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการแก้ไขเกี่ยวกับมาตรา 112 ถูกโต้แย้งโดยสำนักการประชุมสภาผู้แทนราษฎร สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และประธานสภาผู้แทนราษฎรว่ามีบทบัญญัติอาจขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ที่บัญญัติข้อความสำคัญคือ "องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้" 

สำหรับสาระสำคัญร่างแก้ไขมาตรา 112 ฉบับดังกล่าว เป็นการย้ายฐานความผิดหมิ่นประมาทดูหมิ่น อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชแทนพระองค์ตามมาตรา 112 ออกจากหมวดความผิดต่อความมั่นคงของรัฐไปกำหนดเป็นลักษณะความผิดใหม่ คือ ลักษณะความผิดพระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพื่อให้มีความเหมาะสมในแง่บทบัญญัติอัตราโทษ 

การยกเว้นโทษและผู้ร้องทุกข์ โดยยกเลิกโทษจำคุกให้เหลือแต่โทษปรับในฐานความผิดหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นบุคคลทั่วไป ดูหมิ่นเจ้าพนักงานหรือศาล แต่ยังคงคุ้มครองพระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์ ในฐานะประมุขของรัฐจึงกำหนดอัตราโทษจำคุกให้คงอยู่ โดยลดโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 1 ปี ไม่มีอัตราโทษจำคุกขั้นต่ำ และยังกำหนดโทษทั้งจำทั้งปรับได้ ถ้ารุนแรงถึงลงโทษจำคุกไม่มีขั้นต่ำ ไม่จำเป็นต้องอย่างต่ำ 3 ปี และยังป้องกันไม่ให้บุคคลทั่วไปนำฐานความผิดไปเป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งทางการเมือง จึงกำหนดให้สำนักพระราชวังเป็นผู้ร้องทุกข์และผู้เสียหายในความผิดลักษณะนี้ 

ชัยธวัช ยังระบุด้วยว่า "พรรคก้าวไกลเห็นว่าไม่มีทางที่การเมืองจะมีเสถียรภาพมั่นคงได้ หากยังมีกฎหมายที่ล้าหลัง ไม่เห็นคนเป็นคนเสมอภาคกัน ไม่มีทางเศรษฐกิจเจริญก้าวหน้าได้ หากอยู่ในรัฐโบราณที่ประชาชนไม่ใช่เจ้านาย ที่ราษฎรไม่ใช่เจ้าของประเทศ"

มาตรา112 ยืนหยุดขังป้าเป้ท มาตรา112 ม็อบทะลุวัง เพื่อไทย -AADF-4E3A-A901-6336B83744C9.jpeg

ล่าสุด ชวน หลีกภัย อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีพรรคก้าวไกล จะผลักดันกฎหมายการแก้ไขมาตรา 112 โดยย้ำว่า สมัยสภาฯชุดก่อนที่่ตนเองเป็นประธานนั้น ร่างกฎหมายที่พรรคก้าวไกลเสนอยกเลิกมาตรา 112 จะมี สุชาติเป็นผู้ดูแล และจากการปรึกษาฝ่ายกฎหมายของสภาพบว่าขัดรัฐธรรมนูญ คือสถาบันพระมหากษัตริย์ผู้ใดละเมิดไม่ได้ นอกเหนือจากฝ่ายกฎหมายแสดงความคิดเห็นแล้วยังให้ผ่านกระบวนการประสานงานที่ประกอบด้วยฝ่ายกฎหมายทุกฝ่ายของสภาอีกครั้ง ซึ่งทุกคนยังมีความเห็นสอดคล้องกันว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ขัดรัฐธรรมนูญ ทำให้ไม่ได้บรรจุในวาระ และส่งกลับไปยังพรรคก้าวไกลเพื่อแก้ไข

"ยืนยันได้ว่าไม่มีการกลั่นแกล้ง เพราะมาไม่ถึงผม แต่จากที่พิจารณามองว่านายสุชาติใช้ดุลยพินิจถูกแล้ว”นายชวนระบุ

ขณะที่ ชัยธวัช ให้สัมภาษณ์ เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 2566 ถึงการลดเพดานเรื่องนโยบายการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ของพรรคก้าวไกลหลังถูกพรรคการเมืองขั้วเก่าและ ส.ว.ตั้งป้อมสร้างเงื่อนไขไม่ให้พรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาลได้ในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา

โดย ชัยธวัช ยังไม่ระบุถึงรายละเอียดของการลดเพดานมาตรา 112 ที่เป็นเงื่อนไขถูกต่อต้าน แต่ย้ำเพียงว่าขอดูรูปธรรมของพรรคเพื่อไทยที่เป็นแกนนำหลักในการจัดตั้งรัฐบาลแทนพรรคก้าวไกล

ทั้งนี้ คงต้องจับตาต่อไปถึงสถานะของ 'พรรคก้าวไกล' ไม่ว่าจะเป็นพรรคร่วมรัฐบาลหรือพรรคฝ่ายค้าน

แต่ถึงอย่างไร 'ก้าวไกล' คงต้องเดินหน้าดันนโยบายแก้ไข มาตรา 112 ตามธงที่เคยประกาศไว้ตอนหาเสียงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผ่านการเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร

เพราะด่านต่อไปที่ 'ก้าวไกล' รอคือสนามเลือกตั้งในวันข้างหน้า การผลักดันนโยบายแก้ไข มาตรา 112 คือการทำตามคำประกาศหาเสียง ไม่ว่าจะผลสุดท้ายจะพ่ายแพ้อีกครั้งก็ตาม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง