ไม่พบผลการค้นหา
ผลการจัดอันดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของไทยปีนี้แม้จะดีขึ้นในแง่สมรรถนะทางเศรษฐกิจ-ประสิทธิภาพของภาครัฐ-โครงสร้างพื้นฐาน แต่ด้าน 'ประสิทธิภาพทางธุรกิจ' กลับแย่ลง

จากข้อมูลการจัดอันดับประเทศที่มีการแข่งขันทางเศรษฐกิจของสถาบันเพื่อการพัฒนาการจัดการระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มดี ประจำปี 2562 ประเทศไทยขยับขึ้น 5 อันดับ มาอยู่ในอันดับที่ 25 ขณะที่ สิงคโปร์ ครองประเทศอันดับหนึ่งในระดับโลก ในฐานะประเทศที่มีการแข่งขันทางเศรษฐกิจสูงที่สุด ตามมาได้ด้วย ฮ่องกง และสหรัฐฯ

ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินโดนีเซีย เป็นประเทศที่ทำคะแนนขึ้นมาได้ดีจนน่าจับตามอง โดยสามารถขยับขึ้นมาถึง 11 อันดับ ขึ้นอยู่ที่ลำดับที่ 43 ด้าน มาเลเซีย ประเทศคู่แข่งที่ไทยตั้งเป้าเอาชนะมาตลอดยังคงอยู่ในอันดับที่ 22 เหนือไทย 3 อันดับ โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงอันดับจากปีก่อนหน้า

สำหรับการจัดอันดับในครั้งนี้ อ้างอิงอยู่บนข้อมูลหลัก 4 ประการ ได้แก่

  • สมถรรนะทางเศรษฐกิจ (Economic Performance)
  • ประสิทธิภาพทางธุรกิจ (Business Efficiency)
  • ประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government Efficiency)
  • โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure)

โดยปัจจัยสนับสนุนที่ดันให้อันดับการแข่งขันของไทยเพิ่มสูงขึ้นคือ สมรรถนะทางเศรษฐกิจ ประสิทธิภาพของภาครัฐ และโครงสร้างพื้นฐาน ที่ได้อันดับดีขึ้น จากอันดับที่ 10, 22 และ 48 เมื่อปีก่อนหน้า ก้าวขึ้นมาอยู่อันดับที่ 8, 20 และ 45 ตามลำดับในปี 2562 นี้

อย่างไรก็ตาม ประสิทธิภาพทางธุรกิจของไทย กลับมีอันดับลดลง จากอันดับที่ 25 เป็น 27 

เศรษฐกิจ คนไทย สังคมไทย ภาษี ขนส่งมวลชน ประชากร ชนชั้นกลาง วัยทำงาน สวัสดิการ

เศรษฐกิจภาพใหญ่ 'ไทย' ยังดี

ในมิติมหภาค เศรษฐกิจของไทยยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี โดยการค้าระหว่างประเทศของไทยยังคงที่ในอันดับที่ 6 และไทยยังอยู่ใน 10 อันดับแรกของโลกที่มีอัตราการส่งออกสินค้าต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศในระดับสูงมาโดยตลอด

ขณะที่ ดุลบัญชีเดินสะพัดที่แม้จะมีการเกินดุลลดลงจากร้อยละ 6.9 ของจีดีพี ในปี 2561 มาเป็น ร้อยละ 5.9 ต่อจีดีพี ในปี 2562 แต่ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่สูง

'สมคิด จาตุศรีพิทักษ์' รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงประเด็นการเกินดุลการค้าที่ลดลงของประเทศว่า ไม่ใช่เรื่องที่ต้องกังวลเพราะนี่คือการดำเนินธุรกิจ เมื่อถึงเวลาที่ต้องลงทุนเพื่อพัฒนาประเทศในระยะยาว ก็จำเป็นต้องลงทุน เพราะการปล่อยให้ประเทศคู่แข่งอื่นๆ ลงทุนก่อนจะทำให้ประเทศเสียโอกาสทางการแข่งขัน


"ขาดดุล (บัญชีเดินสะพัด) เป็นเรื่องเล็ก ขณะที่โอกาสเป็นของเรา ถ้าเราไม่ลงทุน ไปสวมวินัยการคลัง 100% อันนี้มันลวงโลก" สมคิด กล่าว

อย่างไรก็ตาม ด้วยสถานการณ์สงครามการค้าที่ยังหาทางออกไม่ได้ อาจส่งผลให้ตัวเลขการส่งออกของไทยปีนี้น้อยกว่าปี 2561 ที่อยู่ที่ ร้อยละ 7.2 โดยตัวเลขการส่งออกในไตรมาส 1/2562 ติดลบอยู่ที่ร้อยละ 4.9 ภาคสินค้าติดลบที่ร้อยละ 5.4 และภาคบริการติดลบที่ร้อยละ 3.6

อีกประเด็นที่น่าเป็นกังวลคือเรื่องราคา ซึ่งจากรายงานประเทศไทยปรับตัวแย่ลงถึง 7 อันดับ โดยมีผลโดยตรงมาจากอัตราค่าใช้จ่ายพื้นฐานเพื่อการดำรงชีพที่สูงขึ้น ขณะที่ประชาชนกลับมีกำลังซื้อน้อยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคเกษตรกรรม โครงการแก้ไขปัญหาราสินค้าและช่วยเหลือเกษตรกรผู้ผลิตสินค้าเกษตรยังมีข้อจำกัดเรื่องราคาอยู่จึงยังฟื้นตัวไม่ทัน

อิเกีย-สินค้า-ธุรกิจ-รถเข็น-สโตร์

ธุรกิจไทยดำดิ่ง ผู้ประกอบการไม่เข้าใจเทรนด์ ขณะต่างชาติไม่พร้อมลงทุน

'ปัทมา เธียรวิศัษฎ์สกุล' รองเลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ชี้ว่า ประเภทภาคธุรกิจของไทยนั้น ทั้งในมิติแรงงาน การจัดการธุรกิจ และประสิทธิภาพและผลผลิต ตกลงอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจาก แม้ประเทศไทยจะมีอัตราการจ้างงานที่สูง อยู่อันดับที่ 3 ของโลก แต่แรงงานไทยกลับมีทักษะไม่เพียงพอหรือ ไม่ตรงสายงาน ทำให้ไม่สามารถเพิ่มอัตราผลผลิตได้ โดยเฉพาะในภาคเกษตรกรรม

อีกประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการบริหารธุรกิจคือ ผู้ประกอบการไทยยังไม่ให้ความสำคัญเรื่องการแข่งขันและการปรับตัวต่อเทคโนโลยีเพียงพอ ทำให้เสียโอกาสทางการค้า สะท้อนให้เห็นจากอันดับที่ตกลงจากอันดับที่ 17 ในปี 2561 เป็นอันดับที่ 26 ในปี 2562


"เถ้าแก่ไทยมันคิดอย่างนี้ มองตรงหน้าก่อน ไม่เห็นโลงศพไม่หลังน้ำตา ด่ารัฐบาลก่อน" สมคิด กล่าว

ขณะเดียวกัน 'กลินท์ สารสิน' ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวถึงประเด็นการลงทุนจากต่างประเทศว่า นักลงทุนยังขาดความเชื่อมั่นที่จะเข้ามาลงทุนในไทย จากการขาดเสถียรภาพทางการเมือง ทำให้เกิดการชะงักหยุดของเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ

ภาครัฐไทยเข้มแข็ง เอื้อต่างชาติทำธุรกิจ

ขณะที่ อันดับประสิทธิภาพของภาครัฐไทยขยับดีขึ้นถึง 4 อันดับ โดยเป็นผลมาจากอัตราการขยายตัวของจีดีพีในปี 2561 ที่ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 4.1 ประกอบกับอัตราส่วนหนี้สาธารณะของประเทศที่ลดลง อีกทั้งนโยบายการคลัง ที่มีการจัดเก็บอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา อัตราภาษีเงินได้ที่แท้จริงและภาษีจากการบริโภค และเงินสมทบประกันสังคมที่มีอัตราต่ำ ส่งผลให้เกิดการส่งเสริมการแข่งขันทางธุรกิจ

ดังนั้นเพื่อการดำเนินธุรกิจที่สะดวกสบายขึ้น ควรส่งเสริมให้หน่วยงานของทั้งภาครัฐและเอกชนปรับมาใช้กระบวนการทางดิจิทัลเพื่อการทำธุรกรรม มีทั้งการปรับปรุงขั้นตอนและกระบวนการให้บริการของภาครัฐ การพัฒนาการบริการภาครัฐแบบอิเล็กทรอนิกส์ และการปรับปรุงกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการของภาครัฐ

เดินหน้าโครงสร้างพื้นฐานหลัก อีอีซี -เอสอีซี -5จี

หนึ่งในปัจจัยกระตุ้นเศรษฐกิจที่เห็นผลชัดและได้ประโยชน์ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวคือโครงการโครงสร้างพื้นฐาน เพราะเป็นการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบ ซึ่งจะพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนและคุณภาพการทำธุรกิจของภาคอุตสาหกรรม ขณะเดียวกันก็จะสร้างความมั่นใจแก่นักลงทุนในเวลารวดเร็ว

สำหรับโครงการหลักในตอนนี้ของไทยคือโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งมี 4 โครงการหลัก ได้แก่

  • โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน
  • โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก
  • โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3
  • เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซีไอ

ขณะที่ การพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (เอสอีซี) มีทั้ง

  • การสร้างถนน ‘รอยอล โคสต์’ ระยะทางกว่า 650 กิโลเมตร จาก สมุทรสงคราม-เพชรบุรี-ประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร
  • การสร้างสนามบินระนอง ให้สามารถรองรับนักเดินทางประมาณ 2.88 ล้านคน/ปี
  • สนามบินชุมพร ให้สามารถรองรับนักเดินทางประมาณ 3.46 ล้านคน/ปี
  • สร้างรถไฟทางคู่นครปฐม-ชุมพร, รถไฟทางคู่ชุมพร-สุราษฎร์ธานี-หาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ (ประเทศมาเลเซีย)
  • การสร้างท่าเรือระนอง

นอกจากโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพที่มีแผนกระจายไปทั่วประเทศ 'สมคิด' ชี้ว่า โครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลเป็นอีกหนึ่งความสำคัญที่ควรมีการพัฒนาอย่างเร่งด่วนก่อนที่ประเทศคู่แข่งอุตสาหกรรม อาทิ เวียดนาม จะสามารถพัฒนาแซงหน้าไทยได้ โดยชี้ว่า ขณะนี้ ‘หัวเว่ย’ กำลังประสบปัญหาข้อพิพาททางการค้ากับสหรัฐฯ และอีกหลายประเทศ หากไทยสามารถทำความตกลงให้หัวเว่ยเข้ามาช่วยพัฒนาระบบ5จี ของไทย ก็จะถือเป็นการชิงความได้เปรียบในสนามการแข่งขันภาคอุตสาหกรรมได้

ดังนั้น หากมองในลึกในทุกมิติด้านการแข่งขันจะพบว่า ศักยภาพในการแข่งขันของประเทศจะเพิ่มสูงขึ้นได้ขึ้นอยู่บนปัจจัยร่วมสำคัญคือ เสถียรภาพทางการเมือง อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยที่มีการเลือกตั้งมาแล้วกว่า 2 เดือน กลับยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ อีกทั้งปัจจัยภายนอกอย่าง สงครามการค้า ก็ยิ่งบั่นทอนสภาวะทางเศรษฐกิจของไทยลง จนขาดความมั่นคงทางการเมือง จึงอาจกลายเป็นชนวนสำคัญที่ทำให้ไทยโตแต่ตัวเลข แต่ไม่สามารถจับต้องได้จริง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :