ภาพ 2 พระสงฆ์ เดินเข็นรถ 3 ล้อโทรมๆ ที่บรรทุกตู้กับข้าวไม้เก่าๆ เพื่อใส่อาหารที่ญาติโยมนำมาบิณฑบาต กลายเป็นที่ชื่นชอบของชาวเน็ตที่แห่กันกดไลก์และแชร์จำนวนมาก
นี่ไม่ใช่เหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดในยุคที่ใครต่อใครเดินตามกระแส 'รักษ์โลก' แต่พวกเขาทั้งคู่ปฏิบัติตามนโยบายและวิสัยทัศน์อันกว้างไกลของ พระครูสีหสุวรรณวงศ์ (หลวงปู่สิงห์ทอง อินฺทวํโส ) อดีตเจ้าอาวาสวัดป่าบุก ต.แม่แรง อ.ป่าซาง จ.ลำพูน ที่มีมายาวนานถึง 20 ปี
พลิกปฏิทินย้อนหลังกลับไปเมื่อ 20 ปีก่อน หลวงปู่สิงห์ทอง ริเริ่มนำปิ่นโตมามอบให้กับชาวบ้านเพื่อใช้ใส่อาหารแทนถุงพลาสติก และใช้ตู้กับข้าวออกบิณฑบาตร ด้วยเหตุผลด้านการจัดการขยะเป็นหลัก รวมถึงเห็นว่าเหมาะสมกับปริมาณอาหารและจำนวนของพระสงฆ์ที่มีเพียง 2-6 รูปในแต่ละปี
“เมื่อก่อนใช้ปิ่นโต แจกจ่ายตามบ้านเรือน หลังๆ ล้างแล้วเกิดเป็นสนิม เลยเปลี่ยนมาใช้เป็นจานชาม ส่วนตู้กับข้าวก็สามารถเก็บอาหารได้อย่างสะดวก” พระสมุห์ณัฐธีร์ สุขวฑฒโก รองเจ้าอาวาสวัดป่าบุก เล่าถึงแนวทางการลดใช้ถุงพลาสติกให้วอยซ์ออนไลน์ฟัง
ปัจจุบันวัดป่าบุกมีพระจำวัดอยู่ 2 รูป คือ พระสมุห์ณัฐธีร์ และ พระครูปลัดพิภพ กนตธมโม เจ้าอาวาส แบ่งการบิณฑบาตออกเป็น 5 เส้นทาง ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเพียงวันละ 1 สาย ในหมู่บ้านขนาด 90 หลังคาเรือน ประชากรรวม 300 คน
“ใส่บาตรวันละ 12-15 คน หมุนเวียนไปตามสาย อาหารไม่มาก เผื่อหมาแมว เหลือเศษขยะก็นำไปเป็นปุ๋ยให้กับต้นไม้” หลวงพี่อธิบาย
แนวทางที่วัดป่าบุกปฏิบัติและกระแสรักษ์โลก มีผลให้ชาวบ้านสนใจปัญหาสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น
พระสมุห์ณัฐธีร์ บอกว่า เมื่อพระเป็นส่วนหนึ่งของสังคมก็ควรมีหน้าที่ในการพัฒนาและช่วยเหลือชุมชน ตามแนวทาง ‘บวร’ หรือบ้านวัดโรงเรียน เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้น
“พระมีหน้าที่มากกว่าแค่สวดมนต์ ท่องนะโมหรือแจกน้ำมนต์”
พระสมุห์ณัฐธีร์ หรือที่ชาวบ้านเมืองเหนือเรียกว่า ‘ตุ๊เล็ก’ รู้สึกยินดีอย่างมากที่การเข็นตู้กับข้าวบิณฑบาต ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง และหวังว่าจะเป็นหนึ่งในไอเดียที่ช่วยให้ทุกคนนำไปปรับใช้
“ประเทศไทยมี 4 หมื่นกว่าวัด ถ้าเราลดถุงพลาสติกใส่บาตรได้เช้าละ 10 ถุง ก็เท่ากับ 8 แสนใบแล้ว ถ้าไม่ใช้กันเลยก็อาจถึงล้านถุง แถมยังช่วยป้องกันสารเคมีก่อให้เกิดโรคต่างๆ ด้วย”
กิจกรรมบิณฑบาตลดขยะ ในภาพใหญ่เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของโครงการที่ชุมชนช่วยกันลดถุงพลาสติก ยังมีอีกหลายโครงการที่น่ายกย่อง เช่น โครงการก้านตาลแปลงร่าง คือการนำกิ่งตาลมาสานเป็นเก้าอี้, โครงการเศษผ้าสร้างรายได้ นำเศษผ้าที่เหลือจากการตัดเย็บในชุมชนไปทำเป็นกระเป๋า, โครงการคัดแยกขยะ นำเศษใบไม้และเศษอาหารมาทำปุ๋ย, โครงการสารวัตรขยะ ที่ส่งเสริมให้เด็กๆ มาร่วมกันจัดเก็บเพื่อความสะอาดของหมู่บ้าน
วัดป่าบุก ยังมีโครงการส่งเสริมการใช้เต็นท์ทดแทนปราสาทใส่ศพ ซึ่งเป็นวิถีและความเชื่อดั้งเดิมของภาคเหนือ
“ปราสาทศพ ทำจากเศษไม้และกระดาษ มูลค่า 2-3 หมื่น เผาทิ้งโดยไม่ได้ใช้ประโยชน์เลย”
พระสมุห์ณัฐธีร์บอกต่อว่า ยังมีการส่งเสริมให้ใช้ต้นไม้จริงแทนพวงรีด ใช้ดอกไม้จันทร์ไหว้เคารพศพแทนการจุดธูปเพื่อลดควัน รวมถึงเลี้ยงอาหารจานเดียวจากปกติเป็นรูปแบบ ‘ขันโตก’ เพื่อความพอเพียง เหลือขยะและเศษอาหารให้น้อยที่สุด
“บางกิจกรรมท้าทายความเชื่อเดิมๆ อยู่ ต้องใช้เวลา” ตุ๊เล็กบอก
พระสมุห์ณัฐธีร์ กล่าวในที่สุดว่า การรักษาสิ่งแวดล้อมไม่ใช่หน้าที่ของอาชีพใดหรือใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นบทบาทของมนุษย์โลกทุกคน