ไม่พบผลการค้นหา
บริษัทรายรับเยอะสุด 5% ของประเทศ มีรายได้ถึง 85% ของธุรกิจไทยทั้งหมด งานวิจัยชี้ปัญหา 'การกระจุกตัว' ส่งผลร้ายทั้งความเหลื่อมล้ำ-การพัฒนา ศก.ไทย

ไทยเข้าสู่วิกฤตเศรษฐกิจถดถอยเรียบร้อยแล้วโดยที่ประชาชนไม่จำเป็นต้องเข้าใจความหมายทางเทคนิคเศรษฐศาสตร์ด้วยซ้ำ ว่าหมายถึง 'ภาวะที่จีดีพีติดลบต่อเนื่องอย่างน้อย 2 ไตรมาส' เพียงแค่การดำรงชีวิตในปัจจุบันที่หลายคนโดนลดเงินเดือน อีกส่วนกลายเป็นผู้ว่างงาน สะท้อนชัดแล้วว่า จีดีพีจะติดลบ 8% หรือ 9% หมายถึงอะไรใน 'ชีวิตจริง'

หนทางในการพาเศรษฐกิจกลับมาที่ว่ายากแล้ว ยังไม่ดูหม่นหมองเท่าวิธีพาประเทศให้กลับไปเติบโตแบบยุครุ่งเรืองสมัยไทยกำลังจะกลายเป็นเสือตัวที่ 5 ของเอเชีย หรือระหว่างปี 2520-2540 ซึ่งตามข้อมูลจากธนาคารโลก จีดีพีปี 2531 เคยบวกถึง 13% 

ทว่านับตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ไทยไม่เคยกลับไปสู่ระดับเดิมได้อีกเลย ซ้ำร้ายในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจยังโตได้แค่หลักหน่วยต้นๆ เท่านั้น

ประยุทธ์ หนี้ งบประมาณ สภา​
  • พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

กับดักคืออะไรกันแน่ ?
  • ส่งออก-ท่องเที่ยว

ไทยถูกวิเคราะห์และวิจารณ์อย่างหนักช่วงที่ผ่านมาว่าพึ่งอุปสงค์นอกประเทศสูงมาก(เกินไป) จนกลายเป็นความเปราะบางที่ชัดเจนเมื่อรัฐบาลประกาศปิดน่านฟ้าต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโควิด-19 

ผศ.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ชี้ว่าเม็ดเงินคร่าวๆ ที่หายไปจากภาคการท่องเที่ยวและส่งออกคิดเป็นมูลค่า 3 แสนล้านบาท/เดือน อีกทั้ง เพียงช่วง 3 เดือนที่มีการหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ไทยสูญเงินไปแล้วอย่างต่ำ 1.5 ล้านล้านบาท 

ตัวเลขมหาศาลดังกล่าวอาจดูห่างไกลจากชีวิตประชาชนถ้ามองด้วยแนวคิดเศรษฐศาสตร์มหภาค แต่แท้จริงแล้วเม็ดเงินที่สูญไปและไม่เข้ามาเป็นผลกระทบที่คนไทยแทบทุกคนต้องแบกเอาไว้ ดังจะเห็นได้ชัดเจนผ่านแรงงานที่โดนปลดเพราะบริษัทปิดตัวจากการขายสินค้าไม่ได้ พนักงานโรงแรมที่ถูกพักงานอย่างไม่มีกำหนดเพราะมีไม่นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าพัก หรือแม้แต่เจ้าของกิจการที่ไม่มีสภาพคล่องเหลือในการทำธุรกิจอีกต่อไป 

หากประเทศยังไม่สามารถเริ่มทำ Travel Bubble หรือทยอยเปิดน่านฟ้าให้นักท่องเที่ยวกลับเข้ามาได้ ผศ.ธนวรรธน์ ชี้ว่าคนไทยยังต้องเผชิญศึกหนักอีกยาวแน่

ศักดิ์สยาม ตรวจศูนย์โควิด-นักท่องเที่ยว-สนามบิน-สุวรรณภูมิ-หน้ากากอนามัย
  • จะผูกขาดถึงไหน

อีกประเด็นสำคัญซึ่งเป็น 'เงามืด' บั่นทอนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยตั้งแต่ก่อนมีโควิด-19 กลับไปอยู่ในประเด็นที่สาธารณชนรับรู้โดยทั่วไปแต่ไม่มีใครสามารถทำอะไรได้อย่าง 'การกระจุกตัวของภาคธุรกิจ' 

บทความ 'มองโครงสร้างภาคธุรกิจไทยผ่านข้อมูลผู้ถือหุ้น' ที่ตีพิมพ์บนเว็บไซต์สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วยอึ๊งภากรณ์ เมื่อ ต.ค. 2562 ชี้ว่า สาเหตุของความเหลื่อมล้ำด้านความมั่นคั่งและรายได้ของครัวเรือนไทยส่วนหนึ่งมาจากการกระจุกตัวของภาคธุรกิจที่ถือครองและเป็นเจ้าของด้วยกลุ่มทุนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง 

จากข้อมูลการถือหุ้นทั้งสิ้น 3,337,197 รายการ ครอบคลุม 880,808 ธุรกิจ และ 2,150,711 ผู้ถือหุ้น ณ สิ้นปี 2560 พบว่าในปีดังกล่าว ผู้ถือหุ้น 500 คน เป็นเจ้าของผลกำไร 30% ของภาคธุรกิจไทยทั้งประเทศ หรือคิดเป็นการได้กำไรเฉลี่ยคนละ 3,098 ล้านบาท 

ผู้เขียนยังชี้ว่า ที่ผ่านมา ผลประเมินการกระจุกตัวของภาคธุรกิจมีแนวโน้มที่ต่ำกว่าความเป็นจริงเพราะมองแต่รายบริษัท ไม่ได้คำนึงถึงความเชื่อมโยงที่มาจากการมีเจ้าของร่วมกันหรือการมีแนวทางตัดสินใจคล้อยตามกัน โดยหากพิจารณาจากสิ่งที่ผู้เขียนกล่าว ข้อมูลที่ไม่แสดงถึงการกระจุกตัวอย่างแท้จริงอาจก่อให้เกิดความไม่สมบูรณ์กับฝั่งผู้กำหนดนโยบายที่มีหน้าที่รักษาสนามการค้าที่เป็นธรรมให้กับทุกฝ่ายได้

ทั้งนี้ ผลการวิจัยพบว่า อุตสาหกรรมที่มีการกระจุกตัวของกลุ่มทุนมากที่สุด 10 อันดับแรกของประเทศไทยได้แก่ การผลิตสุรา การผลิตเบียร์ การขายส่งเครื่องดื่มและยาสูบ การผลิตพลาสติก การผลิตกล่องกระดาษ การผลิตก๊าซ การผลิตปูนซีเมนต์ การผลิตอิฐ และการผลิตน้ำตาล ตามลำดับ

นอกจากนี้ ในบทความต่อเนื่องภายใต้ชื่อ 'มองโครงสร้างภาคธุรกิจไทยผ่านข้อมูลงบการเงิน' ยังสะท้อนว่า เมื่อแบ่งบริษัทไทยออกเป็น 20 กลุ่ม เท่าๆ กัน จากกลุ่มที่มีรายรับต่ำที่สุด 5% (กลุ่มที่ 1) ไปยังกลุ่มที่มีรายรับสูงที่สุด 5% (กลุ่มที่ 20) จากจำนวนบริษัททั้งสิ้น 750,000 แห่ง ระหว่างปี 2549-2559 จะพบว่า บริษัทที่มีรายรับสูงที่สุด 5% ของประเทศ มีสัดส่วนรายได้ถึง 85% ของธุรกิจไทยทั้งหมด ซึ่งส่วนใหญ่พบว่าบริษัทเหล่านี้เป็นบริษัทที่ตั้งมามากกว่า 10 ปี แล้ว 

การผูกขาดเหล่านี้ยังสร้างความน่ากังวลในเชิงอำนาจที่กลุ่มธุรกิจเหล่านี้มีต่อตลาดผู้บริโภค โดยบทความชี้ว่า บริษัทในกลุ่มทุนเดียวกันอาจรวมตัวกันเพื่อสร้างอำนาจต่อรองเหนือคู่ค้าหรือคู่แข่งทางธุรกิจได้ง่าย

ปัญหาที่ตามเมื่อบริษัทมีอำนาจตลาดสูง นอกจากจะส่งผลต่อผู้บริโภคก็ยังส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศที่ขาดโอกาสในการพัฒนาไปข้างหน้า เนื่องจาก เมื่อบริษัทมีอำนาจในตลาดสูง ก็อาจขาดแรงจูงใจในการลงทุนและยกระดับผลิตภาพของตนเอง เนื่องจากไม่ต้องเผชิญแรงกันดันจากการแข่งขันใดๆ 

นอกจากนี้ กลุ่มบริษัทใหญ่หลายแห่งแม้จะไม่ได้มีอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์สูงแต่กลับเข้าถึงแหล่งเงินทุนมาก ขณะกลุ่มบริษัทขนาดกลางที่มีผลตอบแทนจากการลงทุนสูง กลับเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนมากเท่าที่ควร จึงไม่มีเม็ดเงินสนับสนุนในการขยายกิจการเพื่อพัฒนาคุณภาพสินค้าหรือบริการ ซ้ำร้าย ในช่วงวิกฤตปัจจุบันผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก หรือ เอสเอ็มอี ยังไม่สามารถเข้าถึงการช่วยเหลือของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในโครงการซอฟต์โลน วงเงิน 5 แสนล้านบาท ได้มากเท่าที่ควรจะเป็นด้วยซ้ำ

ปัญหาต่างๆ ข้างต้น ส่งผลให้ 'พลวัตธุรกิจไทย' หรืออัตราการเข้าสู่ตลาดของบริษัทใหม่และอัตราการออกจากตลาดของบริษัทเก่าในรอบ 10 ปี ที่ผ่านมา มีแนวโน้มลดลง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวล เนื่องจากการหมุนเวียนของบริษัทเป็นกลไกสำคัญในการยกระดับผลิตภาพการผลิตผ่านการบีบให้บริษัทเก่าที่มีผลิตภาพต่ำออกจากตลาดและเปิดทางให้บริษัทที่มีศักยภาพสูงแทน 

เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจไทยที่ปล่อยให้มีการผูกขาดและกระจุกตัวของกลุ่มทุน ทำให้บริษัทหน้าใหม่ที่อาจมีเทคโนโลยีดีกว่า มีความสามารถมากกว่าไม่สามารถมีที่ว่างพอจะแทรกตัวเข้ามาได้ ยังไม่นับว่าบริษัทใหม่เหล่านี้ต้องเผชิญหน้ากับความยากลำบากในการเข้าถึงแหล่งทุนมากแค่ไหน 

นี่จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจประเทศโดยรวมคงที่ ไม่มีลูกเล่นอะไรใหม่ ไม่มีความสามารถแข่งขันกับต่างประเทศ ทั้งยังไม่มีอะไรดึงดูดต่างชาติให้เข้ามาลงทุนเช่นกัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง;