ไม่พบผลการค้นหา
นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประกาศปกป้องรัฐธรรมนูญ โต้ผู้มีอำนาจที่หวังแก้รัฐธรรมนูญและยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ ไม่เคารพเสียงประชาชน 16.8 ล้านคนที่ลงประชามติ ส่วนจะสนับสนับ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯต่อหรือไม่ ขึ้นอยู่กับมติพรรค ส่วน 4 รัฐมนตรีพรรคพลังประชารัฐที่ยังไม่ลาออก เพราะกฎหมายไม่ได้กำหนด เตือนอย่าไปเรียกร้องเกินกฎหมาย

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทยและในฐานะประธานคณะทำงานเชิญชวนประชาชนสมัครสมาชิกพรรครวมพลังประชาชาติไทย กล่าวในการประชุมสมัชชาพรรครวมพลังประชาติไทย (รปช.) ถึงอุดมการณ์ 7 ข้อที่สมาชิกพรรคทุกคนต้องมี คือ 1. ยึดมั่นในสถาบันพระมหากษัตริย์ 2. มีธรรมาธิปไตย มีคณะกรรมการวินัยและจริยธรรม 3. เป็นพรรคการเมืองที่ดีของประชาชนโดยประชาชนเพื่อประชาชน 4. สืบสานปณิธานของมวลมหาประชาชนที่ต้องการเปลี่ยนแปลงปฏิริปประเทศไทยให้ดีขึ้น กระจายอำนาจจากส่วนกลางไปจังหวัดต่างๆ แก้ไขความเหลื่อมล้ำและปฏิรูปตำรวจ 5. ยึดถือเศรษฐกิจพอเพียงและศาสตร์พระราชา 6. รักชาติไทยและภูมิใจในขนบธรรมเนียบจารีตประเพณี 7. ร่วมมือสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้ชีวิตคนไทยปลอดภัยอย่างยั่งยืน

นายสุเทพ เปิดเผยว่า ระหว่างที่เดินทางคารวะแผ่นดิน ตนได้รับฟังปัญหาและเห็นความทุกข์ของประชาชน เห็นว่าเศรษฐกิจมีปัญหา พ่อค้าแม่ค้าบอกว่าคนไม่มาซื้อของเพราะผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำมา 7 - 8 ปีแล้ว ที่ผ่านมาไม่มีใครฟังเสียงประชาชนจนประชาชนต้องออกมาชุมนุมปิดถนน สังคมก็จะหันมาฟังสักพักหนึ่ง แล้วก็กลับมาทุกข์ใหม่ จึงเป็นเหตุให้ต้องตั้งพรรคการเมืองของประชาชน

อย่างไรก็ตาม นายสุเทพ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ผู้มีอำนาจ ผู้วิเศษออกมาประกาศจะแก้รัฐธรรมนูญและยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ แต่สำหรับพรรค รปช. เคารพประชาชน 16.8 ล้านคนที่ลงมติรับรองรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นสิ่งที่ประชาชนเห็นแล้วตัดสินใจแล้ว นายสุเทพขอร้องอย่ามาดูถูกคน 16.8 ล้านคน พร้อมทั้งให้เหตุผลว่าฝ่ายตรงข้่ามเคยประกาศคัดค้านรัฐธรรมนูญไปแล้วก่อนลงประชามติ แต่แพ้เสียงข้างมากของประชาชน ผ่านมาเพียงไม่ถึงหนึ่งปี ยังไม่ทันเลือกตั้ง ก็คิดจะมาลบล้างเสียงของประชาชนแล้ว และประกาศว่าพรรค รปช. จะปกป้องรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศเอาอย่างไร พรรคเอาอย่างนั้นไม่เปลี่ยนแปลง การเคารพเสียงของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญในระบอบประชาธิปไตย

ส่วนกรณี คสช. ถูกวิจารณ์ว่าสืบทอดอำนาจและจะทำให้การเลือกตั้งเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยพฤษภาทมิฬ นายสุเทพเห็นว่าคนไทยทั้งประเทศคาดหวังว่าจะให้การเลือกตั้งวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 เป็นการเลือกตั้งที่ดี นำสิ่งดีๆ มาให้บ้านเมือง ใครก็ตามที่พยายามวาดภาพว่าการเลือกตั้งจะเป็นเรื่องเลวร้าย เลือกตั้งแล้วจะเกิดเรื่องร้ายๆ กำลังทำในสิ่งตรงกันข้ามกับความคาดหวังของประชาชน ซึ่งตนเชื่อว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะเรียบร้อย บ้านเมืองดีขึ้น ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ต้องการให้ใครมาทำให้บ้านเมืองวุ่นวายเสียหายอีก จึงเชื่อว่าไม่มีใครกล้ามาทำให้วุ่นวาย อย่างไรก็ดีเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะต้องดูและกำกับควบคุมการเลือกตั้งให้เรียบร้อยและบริสุทธิ์ยุติธรรม และผลเลือกตั้งจะบอกเราว่าประชาชนกำหนดทิศทางอนาคตประเทศอย่างไร 

ส่วนกรณีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. รวมถึง 4 รัฐมนตรีสังกัดพรรคพลังประชารัฐ ยังไม่ยอมลาออกจากตำแหน่งนั้น นายสุเทพ เห็นว่ากฏหมายบัญญัติอย่างไรก็ต้องปฏิบัติตาม อย่าไปเรียกร้องให้มากกว่านั้น หากเขาปฏิบัติตามกฎหมาย แล้วยังบอกว่าไม่พอ ต้องทำอย่างนู้นอย่างนี้มันก็ไม่มีที่สิ้นสุด นอกจากนี้ตนไม่คิดว่าเป็นการเอาเปรียบพรรคการเมืองอื่นๆ เพราะประชาชนติดตามสถานการณ์ ใครทำอะไรไม่ถูกใจประชาชน ประชาชนเขาตัดสินเอง หากมองถึงการเลือกตั้งปกติจะมีรัฐบาลรักษาการ ยังต้องปฏิบัติหน้าที่เช่นกัน ดังนั้นตนคิดว่าอย่าพูดให้เกินจริง แต่ทั้งนี้หากเขาทำผิดกฎหมายตนก็ไม่ยอม 

นายสุเทพ ยังยืนยันว่าไม่ได้สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ ซึ่งก่อนหน้านี้ที่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์เต็มตัว เพราะต้องการให้พลเอกประยุทธ์บริหารราชการแผ่นดินในช่วงรอยต่อให้เรียบร้อย ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศชาติ แต่การเลือกตั้งทั่วไปที่จะเกิดขึ้นครั้งนี้ พรรครวมพลังประชาชาชาติไทย เป็นพรรคที่เกิดขึ้นจากประชาชน เราก็จะฟังเสียงประชาชน ข้อสำคัญพรรคมีอุดมการณ์และมีเป้าหมายชัดเจนในการทำงานการเมือง คือ การปฏิรูปต่างๆ ฉะนั้นใครจะมาเป็นนายกรัฐมนตรีและชวนพรรครวมพลังประชาชาติไทยไปร่วมด้วย ก็ต้องคุยกันว่าเอาตามอุดมการณ์ของพรรค หรือพร้อมที่จะสนับสนุนให้พรรคได้ทำตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในเรื่องการปฏิรูปหรือไม่ หากไม่ตรงพรรคก็ไม่ร่วมด้วย

รวมพลังประชาชาติไทย รปช.jpg

ส่วนผลการประชุมสามัญของพรรค รปช. ครั้งที่ 2/2561 มีสมาชิกที่เข้าร่วมกว่าพันคน และมีการประชุมผ่านวีดีโอคอนเฟอเรนซ์ จาก 17 จุดทั่วประเทศ โดย นายอเนก เหล่าธรรมทัศน์ ได้เสนอให้คงคณะกรรมการบริหารชุดเดิมไว้ ต่อมานางสุเนตตา แซ่โก๊ะ และนายวีระชัย คล้ายทอง ได้ขอถอนตัวจากการเป็นกรรมการบริหาร และที่ประชุมได้เสนอชื่อ นายเอนก, นายสำราญ รอดเพชร และนายจักษ์ พันธ์ชูเพชร มาแทนตำแหน่งที่ว่างลง ขณะที่นายสำราญ ได้ขอถอนตัวทันทีที่ถูกสมาชิกเสนอชื่อทันที ซึ่งพร้อมกับสมาชิกกำลังลงคะแนนเลือกโดยใช้วิธีการกาบัตรพร้อมกับอีก 16 จุดทั่วประเทศ

นายทวีศักดิ์ ณ ตะกั่วทุ่ง เลขาธิการพรรค ได้ประกาศผลการลงคะแนน โดย นายอเนก เหล่าธรรมทัศน์ และนายจักษ์ พันธ์ชูเพชร ได้รับเลือกจากสมาชิกพรรค รปช. ให้เป็นกรรมการบริหารพรรคแทนกรรมการ 2 คนที่ขอถอนตัวไป ด้วยคะแนน 7,225 เสียง และ 7,155 เสียงตามลำดับ ทำให้รายชื่อคณะกรรมการบริหารพรรครวมพลังประชาชาติไทยชุดใหม่ มีดังนี้

1.จัตุมงคล โสณกุล หัวหน้าพรรค

2.นายทวีศักดิ์ ณ.ตะกั่วทุ่ง เลขาธิการพรรค

3.นางสาว จุฑาฑัตต เหล่าธรรมทัศน์ เหรัญญิกพรรค

4.พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ กรรมการบริหารพรรค

5. ร.ต.อ. จอมเดช ตรีเมฆ นายทะเบียนสมาชิกพรรค

6.นายอเนก เหล่าธรรมทัศน์ กรรมการบริหารพรรค

7.นายจักษ์ พันธ์ชูเพชร กรรมการบริหารพรรค


รายชื่อคณะกรรมการจริยธรรมและวินัย

1.นายสมศักดิ์ บุญยืน

2.พล.ท.หญิง ดวงกมล สุคนธทรัพย์

3.นายสมบูรณ์เกียรติ เกษมสุวรรณ

4.พลตำรวจตรีพิกัด ตันติวงษ์

5.นายสุนนท์ คชพลายุกต์


รายชื่อคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง 11 คน 

(7 คน มาจากการสรรหา 4 คน มาจากการคัดเลือกของคณะกรรมการบริหารพรรค)

1.นายสมบูรณ์ สุวรรณฝ่าย

2.นายบรรเจิด เหล่าปิยะสกุล

3.นายสมพร วัชรภูษิต

4.นางสาวไพลิน กอวัฒนา

5.นางสาวเอมอร ตันเถียร

6.นายจรงค์ รุ่งช่วง

7.นายบวร ศรีเปารยะ

อีก 4 คน มาจากคณะกรรมการบริหารพรรคโดยตำแหน่ง ยังไม่มีการเลือก