ไม่พบผลการค้นหา
ในการอภิปรายวาระ 1 งบประมาณปี 2566 ทันทีที่พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล อภิปรายเรื่องงบบุคลากรภาครัฐ และงบก้อนใหญ่เกี่ยวกับบำนาญ-สวัสดิการข้าราชการ ก็เป็นเรื่องให้คนเชื่อมโยงโจมตีทางการเมืองทันทีเหมือนกันว่า พรรคสีส้ม "จ้องจะตัด" สวัสดิการของพี่น้องข้าราชการ

อันที่จริง ในแวดวงวิชาการนั้นวิจารณ์กันมานานแล้วว่า รัฐไทยมีจำนวนข้าราชการ 'มากเกินไป' 

แต่นี่เป็นเรื่องเซนสิทีฟทางการเมือง ที่ผ่านมาไม่มีใครกล้าแตะ เพราะข้าราชการคือ ฐานเสียงที่ใหญ่ที่สุดก้อนหนึ่งและทรงพลัง 

พิธาออกมาอธิบายในภายหลังการปล่อยข่าวดังกล่าวว่า ไม่ได้มีแนวคิดจะตัดงบส่วนนี้แต่อย่างใด แต่ต้องการชี้ให้เห็นว่าเป็นงบก้อนใหญ่และจะใหญ่มากใน 10 ปีข้างหน้า หากรัฐบาลยังไม่สามารถเพิ่มจีดีพี เพิ่มรายได้ก็จะอยู่ในสถานการณ์ลำบาก ดังนั้น ถ้าหาเงินได้ จำนวนข้าราชการก็ไม่ใช่ปัญหา 

เช่นกันกับอดีตนายกฯ ที่เคยเปลี่ยนโฉมระบบราชการมาแล้วพักหนึ่งอย่าง 'ทักษิณ ชินวัตร' ก็บอกว่าเรื่องนี้อยูที่ 'หัว' ว่าจะกำกับอย่างไร "ถ้าเราเคาะสนิมไม่ได้ ทำให้ข้าราชการทำงานให้เหมือนภาคเอกชนไม่ได้ก็แก้ปัญหาไม่ทันกิน" ดังนั้น ถ้าเพิ่มประสิทธิภาพได้ จำนวนข้าราชการก็ไม่ใช่ปัญหา

แต่เมื่อหาเงินไม่ได้ และเพิ่ประสิทธิภาพไม่ได้ งบประมาณก้อนที่จะใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ นี้ย่อมน่าพิจารณาว่าจะจัดการอย่างไร และภายใต้รายได้รัฐต่ำ จะแบ่งสรรกับสวัสดิการประชาชนอย่างไร ไม่ถามตอนนี้ ก็ต้องถามกันในวันข้างหน้าอยู่ดี 

ข้อเท็จจริงที่ทิ่มตาอยู่เบื้องหน้าก็คือ งบประมาณแผ่นดิน 3.185 ล้านล้าน 40% ใช้จ่ายไปแล้วกับ 'บุคลากรภาครัฐ'  

หากดูในงบกลาง จะพบงบก้อนใหญ่ของบำนาญและสวัสดิการรักษาพยาบาลของราชการ ดังนี้  

  • 322,790 ล้านบาท คือ เงินเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 12,190 ล้านบาท
  • 76,000 ล้านบาท คือ ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลข้าราชาการ ลูกจ้าง พนักงานของรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนราว 2,000 ล้านบาท
  • 75,980 ล้านบาท คือ เงินสำรอง เงินสมทบ เงินชดเชยของข้าราชการ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 3,610 ล้านบาท

แม้ ก.พ.ไม่ได้เปิดเผยข้อมูลสาธารณะว่าจำนวนข้าราชการเกษียณมีอยู่เท่าไร แต่พิธาระบุว่ามีอยู่ราว 8 แสนคน และในอีก 10 ปีข้างหน้าจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งคาดว่าต้องใช้งบประมาณส่วนนี้ถึงเกือบ 800,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี คำถามปลายเปิดอย่างการจัดโครงสร้างงบประมาณในอนาคต ต้องการการระดมสมองอย่างจริงจัง ในเบื้องต้นเราควรสำรวจข้อเท็จจริงพื้นฐานกันเสียก่อนว่า ประเทศไทยมีข้าราชการและลูกจ้างรัฐเท่าไร? อยู่หน่วยงานไหนมากที่สุด? กระจายหรือกระจุกตัว? เพราะไม่ใช่จะสรุปได้ง่ายๆ ว่า ข้าราชการไม่จำเป็น

ข้อมูลที่หาได้จาก ก.พ.ระบุเพียงส่วนของ ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้างประจำของ 'ฝ่ายพลเรือน' ส่วนตัวเลขของกระทรวงกลาโหมรวมถึงกองทัพต่างๆ นั้นไม่ปรากฏอยู่ในสารระบบที่ประชาชนจะเข้าถึง 

อย่างไรก็ตาม หากดูงบกระทรวงกลาโหมปี 2566 จะพบว่าใช้งบด้านบุคลากร ไป 54% ของงบประมาณทั้งหมดที่กลาโหมได้รับ หรือราว 107,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนราว 2,400 ล้านบาท 

กลับมากันที่กำลังคนของรัฐ 'ฝ่ายพลเรือน' 

สัดส่วนข้าราชการ

รายงานกำลังพลภาครัฐในฝ่ายพลเรือน ปี 2563 ของสำนักงาน ก.พ. ระบุว่า ประเทศไทยมีจำนวนประชากร 66.19 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นกำลังแรงงาน (อายุ 15 ปีขึ้นไป) ราว 39 ล้านคน หรือ 59%

ในจำนวนกำลังลังแรงงาน 39 ล้านคนนี้ เป็นกำลังคนภาครัฐในฝ่ายพลเรือนไปแล้ว 2.12 ล้านคน (5.4%) หรือคิดเป็นกำลังคนภาครัฐในฝ่ายพลเรือน 1 คนต่อประชากรกำลังแรงงาน 31 คน

หากลงในรายละเอียดจะพบว่า 

รัฐไทยมีกำลังคนภาครัฐ รวม 2.12 ล้านคน แบ่งเป็น 

  • ข้าราชการ 1,361,662 คน
  • ลูกจ้างประจำ 119,000 คน
  • ลูกจ้างชั่วคราว 228,543 คน
  • พนักงานราชการ 149,537 คน 
  • พนักงานจ้าง 258,276 คน 

หากดูเฉพาะ 'ข้าราชการ' จำนวน 1.3 ล้านคนเศษ แบ่งเป็น 

  • ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา 427,525 คน 
  • ข้าราชการตำรวจ 213,208 คน 
  • ข้าราชการส่วนท้องถิ่น 250,670 คน
  • ข้าราชการรัฐสภา 3,106 คน
  • ข้าราชการพลเรือนสามัญที่ประจำอยู่กระทรวง ทบวง กรมต่างๆ 421,228 คน 

ในส่วนข้าราชการพลเรือนสามัญตามกระทรวงนั้น ครึ่งหนึ่ง หรือ 56% อยู่ที่กระทรวงสาธารณสุข ส่วนใหญ่คือพยาบาลวิชาชีพที่ต้องกระจายอยู่ตาม รพ.ทั่วประเทศ

ถัดมาคือ ข้าราชการสังกัดกระทรวงมหาดไทย ราว 40,000 คน กระทรวงเกษตรฯ ราว 33,000 คน กระทรวงการคลังราว 30,000 คน

หากดูการกระจายตัว จะพบว่า ข้าราชการพลเรือนสามัญ 67% อยู่ในส่วนภูมิภาค อีก 33% อยู่ส่วนกลาง เรียกว่าอยู่ส่วนกลางกัน 1 ใน 3  

อายุเฉลี่ยของข้าราชการคือ 42 ปี ส่วนข้าราชการที่มีอายุมากกว่า 50 ปีมีอยู่ราว 100,000 คน แปลว่า อีก 10 ปี จะมีข้าราชการเกษียณเพิ่มอีกจำนวนมาก

อัตราการลาออกก็น่าสนใจ ปี 2563 มีข้าราชการลาออก 5,828 คน เป็นคนในกระทรวงสาธารณสุขเสีย 3,096 คน ที่เหลือกระจายตัวตามกระทรวงอื่นๆ หลักร้อย ใช่หรือไม่ว่าเกิดภาวะ 'สมองไหล' ในแวดวงบุคลากรการแพทย์ 

อย่างไรก็ดี ในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2553–2563) ก.พ.ระบุว่า กำลังคนภาครัฐในฝ่ายพลเรือนภาพรวมมีแนวโน้มลดลงเล็กน้อย ร้อยละ 1.68 โดยส่วนลดลงมากที่สุด คือ ลูกจ้างประจำ

รัฐบาลเองก็รู้ดีเกี่ยวกับประเด็นขนาดมหึมาของกำลังคน จะเห็นได้จาก ครม.มีมติเมื่อ 19 มี.ค. 2562 กำหนดให้ส่วนราชการทดแทนอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุด้วยการจ้างงานรูปแบบอื่น (พนักงานราชการ) เพื่อให้สอดคล้องและเป็นไปตามเป้าหมายของแผนการปฏิรูปประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายด้านบุคคลในระยะยาว อย่างไรก็ดี ข้าราชการพลเรือนยังไม่ได้ลดลง และมีแนวโน้มสูงขึ้นเล็กน้อย อันเนื่องมาจากต้องบรรจุหลายตำแหน่งใหม่เพื่อต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโควิด19 

คำถามก็คือ รัฐราชการ ที่ข้าราชการเยอะขนาดนี้ จะไปอย่างไรต่อ รัฐบาลทำให้เรามองเห็นอนาคตแค่ไหน?