ไม่พบผลการค้นหา
'โรม' รับเสียดาย 'คริส' ลั่นทุกคนมีสิทธิ์เลือก ย้ำพรรคเตรียมหาผู้สมัครแทนที่ ไม่หวั่นถูกทิ้งบอมบ์ส่งท้าย ห่วง อภิปราย ม.152 รัฐบาลหนีการตรวจสอบ-ไม่กล้าเผชิญหน้า วอน ปชช.ช่วยลงมติแทนนักการเมือง

สืบเนื่องมาจากกรณี คริส โปตระนันทน์ อดีตว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กทม. เขตจตุจักร - พญาไท ได้ประกาศถอนตัวจากสังกัดเดิมอย่างพรรคก้าวไกล และมีการโพสต์ข้อความบนเฟซบุุ๊ก ทิ้งบอมบ์ว่า พรรคก้าวไกลมีคนนอกครอบงำกระบวนการคัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และไม่เป็นประชาธิปไตยตามคำโฆษณาไว้

วันที่ 9 ก.พ. 2566 ที่อาคารรัฐสภา รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะโฆษกพรรคก้าวไกล ได้กล่าวว่า ถือเป็นเรื่องน่าเสียดายที่ คริส ลาออกจากพรรคตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ซึ่งการลาออกทำให้เขตพญาไท ราชเทวีและจตุจักรต้องเว้นว่างผู้สมัคร ดังนั้นพรรคต้องแก้ปัญหาด้วยการหาผู้สมัครใหม่มาแทนที่ เพราะเขตดังกล่าวถือเป็นพื้นที่สำคัญในสนามการเลือกตั้ง กทม.

ในส่วนของการลาออก ตนอยากให้มองเรื่องปกติเพราะมีความไม่พอใจ ซึ่ง คริส ก็เขียนเอาไว้ในเฟซบุ๊ก หลายเรื่องพรรคคงต้องน้อมรับและนำไปปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น 

ส่วนกรณีการคัดสรรผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชื่อนั้น รังสิมันต์ กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องคำนึงหลายอย่าง เพราะตั้งแต่สมัยพรรคอนาคตใหม่ การที่จะมีผู้สมัครบัญชีรายชื่อ ต้องสะท้อนถึงความหลากหลายของสังคม มีปัจจัยประกอบหลายอย่าง เช่น เพศ เชื้อชาติ และคนพิการ เข้ามาพิจารณา ส่วนนี้จึงอาจเป็นเหตุผลสำคัญ ที่ทำให้คริส เบือกเดินทางในเส้นทางของตนเอง 

"พรรคก้าวไกลคงรู้สึกเสียดายแต่ไม่เป็นไร เราคงต้องเดินหน้าต่อ เราผ่านเรื่องนี้มาหลายรอบแล้ว และพยายามพิสูจน์ตัวเอง ให้สังคมเห็นว่าเราพยายามทำการเมืองที่แตกต่าง และคิดว่าสิ่งที่เราทำในวันนี้เป็นเครื่องยืนยัน ว่าความพยายามของเราอาจถูกใจคนบ้างกลุ่มและอาจไม่ถูกใจคนบางกลุ่ม เป็นเรื่องธรรมดา" รังสิมันต์ กล่าว 

เมื่อถามถึงข้อกล่าวหา ว่าพรรคก้าวไกลเป็นพรรคโปลิตบูโร มีคนนอกเข้ามาครอบคลุมพรรค รังสิมันต์ ตอบว่า คนที่อาจไม่เห็นตรงกันกับพรรคและลาออกไปเขาอาจมีมุมมองส่วนตัว สิ่งที่พรรคทำได้คือการทำตามกระบวนการของกฎหมาย ในการคัดเลือก ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ขั้นตอนสุดท้ายกรรมการบริหารพรรคต้องเข้ามามีบทบาทสำคัญ ส่วนตัวการที่จะมีคนนอกมาควบคุมคิดว่าไม่อาจเป็นไปได้ แม้แต่การเลือกตั้ง กทม. ก็เป็นคนของพรรคที่เข้ามีบทบาท สุดท้ายอยากให้มองว่า เป็นเรื่องความเห็นไม่ตรงกัน ทำให้นายคริสตัดสินใจลาออกไปทำพรรคการเมืองของตัวเอง หรือจะไปร่วมงานกับมครก็เป็นเรื่องของเขา หน้าที่ของเรา คือเดินหน้าต่อสรรหาผู้มีความพร้อมมาลงแข่งขันการเลือกตั้ง ซึ่งเขตนี้เป็นเขตที่พรรรคตั้งใจจะเอาชนะให้ได้

เมื่อถามว่า กังวลหรือไม่กรณีที่ คริส จะพา ส.ก. ในเขตย้ายไปด้วย แล้วจะกระทบกับฐานเสียงหรือไม่ โดยเฉพาะเขตที่มี ส.ก.ในสังกัดนายอยู่ รังสิมันต์ บอกว่า ไม่แน่ใจว่าจะมี ส.ก.ที่ตอบรับไปกับนายคริสกี่คน แต่ยืนยันว่าประชาชนให้ความสำคัญกับพรรคมากกว่าตัวบุคคล พร้อมเชื่อมั่นว่าการเลือกตั้งในพื้นที่กทม. พรรคก้าวไกลไม่เป็น 2 รองใคร 


ห่วงอภิปราย ม.152 รัฐบาลหนีการตรวจสอบ

รังสิมันต์ กล่าวถึงความกังวลในการอภิปราย มาตรา 152 ในวันที่ 15-16 ก.พ.ที่จะถึงนี้ ว่า ตนกังวลจริงๆ เราเห็นบรรยากาศว่าสภามันล่มตลอดเวลา อย่างล่าสุดก็เรื่องรัฐธรรมนูญ เข้าใจว่าวุฒิสภาไม่อยากโหวต เดี๋ยวโหวตแล้วโดนประชาชนด่าอีก ชอกช้ำไปมาก ก็เลยทำให้อาจจะหาทางออกด้วยวิธีนี้ 

“ผมดูจากสัญญาณของรัฐบาลแล้ว เขากลัวการตรวจสอบ ถามว่าผมจับสัญญาณจากอะไร ก็ดูอย่างวันนี้ เราตั้งกระทู้ถามสด ไปที่พรรคการเมือง อย่างภูมิใจไทย ปรากฎว่าไม่มาตอบ หลายๆท่าน คนอื่นๆก็ไม่ได้มาตอบ มันกลายเป็นเทรนด์ไปแล้ว” รังสิมันต์ กล่าว 

รังสิมันต์ กล่าวต่อว่า เราค่อนข้างกังวลว่า ตอนอภิปราย มาตรา 152 ซึ่งเป็นการตรวจสอบครั้งสำคัญ อาจจะมีบางพรรคไม่ยอมมาลงชื่อ เพื่อให้เปิดประชุมสภาฯไม่ได้ หรืออาจจะมีการขอนับองค์เป็นระยะ ตนคงไปห้ามเขาไม่ได้ เป็นกติกา ข้อบังคับที่เขียนเอาไว้ แต่ตนอยากให้พี่น้องประชาชนช่วยกันจับตามอง ช่วยกันดูรายการตรวจสอบครั้งนี้ ดูกันให้ถล่มทลาย เพื่อจะได้ช่วยกันดูว่า นักการเมืองแต่ละคนในวาระสุดท้ายของสภาฯ เขามีพฤติกรรมอย่างไร 

“ถ้าเขาหนีการตรวจสอบ เราอาจจะอนุมานได้ไหม ว่าที่ฝ่ายค้านกล่าวหา อาจจะเป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่า การทุจริตคอรัปชั่นที่พวกผมไปแสวงหาพยานหลักฐานมา มันอาจจะเป็นความจริงที่พวกคุณไม่กล้าเผชิญหน้า และหนีการตรวจสอบ รอบนี้เป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจประเภทที่นักการเมืองในสภาลงมติไม่ได้ อยากให้พี่น้องประชาชนช่วยกันลงมติ” รังสิมันต์ ระบุ