ไม่พบผลการค้นหา
'สมัชชาคนจน' - 'ภาคีsaveบางกลอย' แถลงประนามรัฐ สลายหมู่บ้านทะลุฟ้า จี้ปล่อยตัวผู้ถูกจับกุม

จากกรณีเมื่อช่วงเช้ามืดวันที่ 28 มี.ค. 2564 เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนเข้าสลายการชุมนุม 'หมู่บ้านทะลุฟ้า' บริเวณซอยพระราม 5 เลียบคลองเปรมประชากร เชิงสะพานชมัยมรุเชฐ ข้างทำเนียบรัฐบาล และเจ้าหน้าที่มีการจับกุมตัวผู้ชุมนุมจำนวน 68 คน ในข้อหาความผิดต่อ พ.ร.บ. โรคติดต่อฯ และฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และถูกควบคุมตัวไปที่ควบคุมตัวไปที่ กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดน ภาค ๑ (ตชด.ภาค 1)

แฟนเพจเฟซบุ๊ก 'สมัชชาคนจน' เผยแพร่ แถลงการณ์ประณามการใช้กำลังอันป่าเถื่อนเข้าสลายการชุมนุมหมู่บ้านทะลุฟ้ามีใจความสำคัญว่า

การชุมนุมของหมู่บ้านทะลุฟ้า เริ่มต้นมาตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม 2564 โดยมีข้อเรียกร้อง 4 ข้อ ได้แก่ 1. ปล่อยเพื่อนเรา 2.เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ 3. ประยุทธ์ออกไป 4. ยกเลิก 112 เป็นการใช้สิทธิ เสรีภาพ ในชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ พร้อมทั้งมีการจัดให้ลงทะเบียนและคัดกรองโรคโคโรน่าไวรัสหรือโควิด-19 ตามมาตรการของรัฐบาล

"ไม่เคยปรากฏว่าผู้ชุมนุมในพื้นที่ดังกล่าวมีพฤติกรรมในการใช้ความรุนแรงหรือใช้อาวุธในพื้นที่การชุมนุม ตลอดจนไม่เคยมีข้อเท็จจริงใดที่ระบุว่า มีผู้ติดโรคโควิด-19 จากพื้นที่ชุมนุมดังกล่าว" แถลงการณ์ระบุ

แถลงการณ์ระบุต่อว่า ดังนั้นการใช้กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน เข้าสลายการชุมนุมของหมู่บ้านทะลุฟ้าเวลาเช้ามืด โดยอ้างว่า มีความผิดต่อ พ.ร.บ.โรคติดต่อ และฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็คือการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการกำจัดผู้เห็นต่างทางการเมืองเท่านั้น เพราะตลอดระยะเวลา 1 ปี ที่ผ่านมาของการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

"รัฐบาลไม่สามารถใช้กฎหมายนี้ แก้ไขปัญหาโรคระบาดได้เลย ดังที่ปรากฎข้อเท็จจริงตามสื่อต่างๆ แต่กลับใช้เป็นเครื่องมือในการจับกุมผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวทางเมืองเป็นจำนวนมาก การใช้กฎหมายปิดปากคนเห็นต่างอย่างที่ทำอยู่ในปัจจุบันของรัฐบาล ไม่ได้ทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองหายไปหรือดีขึ้น แต่เป็นเติมเชื้อไฟให้ความขัดแย้งลุกลาม และรุนแรงมากยิ่งขึ้น" แถลงการณ์ระบุ

แถลงการณ์ระบุต่อว่า สมัชชาคนจนจึงขอประณามการใช้กำลังอันป่าเถื่อน ลุแก่อำนาจ เข้าสลายการชุมนุมหมู่บ้านทะลุฟ้า และจับกุมผู้ชุมนุมครั้งนี้ และขอให้ปล่อยตัวผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุมโดยทันที

นอกจากนี้กลุ่มภาคีsaveบางกลอยออกแถลงการณ์ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊กของตัวเองเช่นกัน

แถลงการณ์ระบุว่า ขอประนามการใช้อำนาจรัฐโดยมิชอบในการสลายการชุมนุมโดยสงบ

ในนามภาคึsaveบางกลอย มีความกังวลต่อการใช้อำนาจรัฐในการสลายหมู่บ้านทะลุฟ้า ที่ไม่เป็นตามหลักสากล ไร้หลักการและวิธีการตามสันติวิธี ด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2540 มาตรา 44 วรรคแรก บัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ”

"เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบนี้เป็นรากฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งรัฐธรรมนูญของทุกประเทศได้บัญญัติรับรองไว้มาช้านานแล้ว ดังเช่นประเทศไทยได้เริ่มรับรองเสรีภาพการชุมนุมไว้ในมาตรา 14 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2475 เป็นต้น" แถลงการณ์ระบุ

'หมู่บ้านทะลุฟ้า' ปักหลักบริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ ตั้งแต่วันที่ 13 มี.ค. ที่ผ่านมา ภายใต้ข้อเรียกร้องหลัก 3 ข้อ คือ 1.ปล่อยเพื่อนเรา 2.ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ 3.ยกเลิก ม.112 รวมทั้งเป็นพื้นที่ ในการนำเสนอ เรียกร้อง ถึงปัญหาของพี่น้องประชาชนในด้านต่างๆ รวมถึงเรื่องของพี่น้องชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบางกลอยโดยยึดหลักในเรื่อง การต่อสู้แบบสันติวิธี

"ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานั้นหมู่บ้านทะลุฟ้า ได้ให้ความช่วยเหลือ สนับสนุน ประเด็นของพี่น้องบางกลอยด้วยดีเสมอมา ทั้งยังช่วยดูแลความปลอดภัย การดำเนินกิจกรรมต่างๆ ซึ่งเราขอยืนยันว่าการชุมนุมที่ผ่านมาของพวกเรานั้นเป็นไปอย่างสงบ สันติวิธี และปราศจากอาวุธใดใด" แถลงการณ์ระบุ

แถลการณ์ระบุต่อว่า ในนามภาคี save บางกลอย ขอเรียกร้อง ให้ปล่อยตัวเพื่อนเราทั้งหมด โดยไม่มีเงื่อนไข โดยไม่แจ้งข้อหาเพื่อปิดปากและให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้วิธีการควบคุมตัวตามกระบวนการยุติธรรมที่เป็นหลักสากล