ไม่พบผลการค้นหา
'จาตุรนต์' ชี้หากสภาฯ รับหลักการ 2 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญตามวิปรัฐบาล เท่ากับปิดโอกาสแก้ขัดแย้ง ด้าน 'ภูมิธรรม' หวังเห็นทุกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถูกนำไปพิจารณา ไม่ถูกกีดกันตีตกไป

จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการประชุมร่วมรัฐสภา นัดพิเศษ เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 17-18 พ.ย. 2563 ว่า การพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในสองวันนี้ เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของสังคมไทย หากรัฐสภารับหลักการเพียงสองร่างอย่างที่วิปรัฐบาลมีมติไป ก็เท่ากับปิดโอกาสที่จะใช้รัฐสภาเป็นเวทีหาทางออกจากวิกฤตความขัดแย้งทางการเมืองอย่างน่าเสียดาย

ทั้งนี้ การไม่แก้มาตรา 272 เสียก่อน ทำให้ประเทศมีความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตความขัดแย้งมากยิ่งขึ้น เพราะหากนายกฯ ลาออกหรือยุบสภา ปัญหาก็จะกลับมาที่เดิม คือจะได้นายกฯ ที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้เลือกมา แต่ถูกกำหนดโดย ส.ว. 

จาตุรนต์ ระบุว่า การไม่รับร่างของประชาชน ฉบับไอลอว์ จะปิดโอกาสการนำข้อเสนอของประชาชนเข้าสู่กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งในรัฐสภา และใน ส.ส.ร. เท่ากับรัฐสภาไม่สนใจใยดีข้อเสนอของประชาชน ทั้ง ๆ ที่ตอนร่างรัฐธรรมนูญ 2560 อวดอ้างกันว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เปิดให้ประชาชนเสนอร่างแก้ไขเองได้ การรับร่างเพียง 2 ร่าง อาจหมายถึงปิดประตูข้อเสนอของนักศึกษาและประชาชน 

"การพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในสองวันนี้ เป็นโอกาสดีที่รัฐสภาจะเปิดทางให้ความพยายามแก้ปัญหาประเทศที่เคลื่อนไหวอยู่นอกสภา มาบรรจบพบกันกับความพยายามของสมาชิกรัฐสภา หาไม่แล้ว การเคลื่อนไหวนอกสภาของนักศึกษาและประชาชนกับการทำหน้าที่ของรัฐสภา ก็จะกลายเป็นเส้นขนานสองเส้นที่ไม่อาจมาพบกันอีกเลย" จาตุรนต์ ระบุ


'ภูมิธรรม' หวังเห็นทุกร่างรธน.ถูกพิจารณา

ภูมิธรรม เวชยชัย ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ระบุว่า มาถึงวันนี้ผู้แทนราษฎร ชึ่งเป็นผู้แทนประชาชนต้องยอมรับว่ารัฐธรรมนูญ'60 ฉบับนี้ ร่างขึ้นมาเพื่อประโยชน์ของฝ่ายยึดอำนาจในการสืบทอด ต่อท่ออำนาจ มีเนื้อหาหลายประเด็นที่ริดรอนสิทธิประชาชนและ เอื้อประโยชน์ประโยชน์ ให้กลุ่มผู้มีอำนาจในปัจจุบัน

วันนี้ ได้เวลาที่ทุกภาคส่วนทั้งในสภาและนอกสภา จะร่วมมือกันเพื่อแก้ไขรธน. ให้บรรลุผลสำเร็จ โดยเฉพาะต้องยืนยันสนับสนุน ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ของพรรคร่วมฝ่ายค้านและร่างของภาคประชาชน ด้วยเหตุผลดังนี้

1.)รธน.ฉบับปัจจุบัน มีปัญหา มีรากฐาน มาจากการรัฐประหาร ควรมีการแก้ไข ให้มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ฉะนั้นการเสนอร่างแก้ไขทุกร่างที่มีการยื่นเสนอผ่านเข้ามาควรได้รับการพิจารณารับหลักการทุกร่างโดยเฉพาะร่างของพรรคร่วมฝ่ายค้านและร่างของภาคประชาชน

2.)ร่างแก้ไขรธน.ครั้งนี้ ต้องยึดหลัก 'การมีส่วนร่วมของประชาชน' ให้ประชาชน เป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตย เข้ามามีส่วนร่วมเพื่อกำหนดอนาคตประเทศ จึงไม่ควรกีดกันประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการสถาปนากติกาของประเทศ

3.)การแก้ไขรธน.ฉบับนี้ เลือกการแก้ไข ที่มอบอำนาจให้ประชาชน เข้ามาแก้ไข โดยการเลือกตั้ง ส.ส.ร. ที่เลือกมาจากประชาชน.

"ผมหวังว่าจะได้เห็นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกร่างถูกนำไปร่วมกันเพื่อพิจารณา โดยไม่มีฉบับใด ถูกกีดกันตีตกไป" ภูมิธรรม กล่าว