ไม่พบผลการค้นหา
'บรรยง พงษ์พานิช' เชื่อหลังเลือกตั้ง 'เศรษฐกิจไทย' ติดกับดักแผนยุทธศาสตร์ชาติ ผ่านการออกแบบโดยไม่รอบคอบ กลายเป็นโซ่ตรวนผูกมัดประเทศนาน 20 ปี

นายบรรยง พงษ์พานิช อดีตคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือ ซูเปอร์บอร์ด กล่าวในงานเสวนาเลือกตั้ง 62 จุดเปลี่ยนการเมืองไทย โดยระบุว่า ก่อนเลือกตั้งเศรษฐกิจจะมีความคึกคัก ผู้มีอำนาจเก่าก็จะมีการปิดโปรเจกต์ผ่านโครงการรัฐต่างๆ อย่างไรก็ตาม หลังเลือกตั้งนั้น ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ประเทศก็จะติดกับดัก และเป็น 'คนป่วยของเอเชีย' ต่อไป รวมถึงมี 3 ลักษณะ คือเศรษฐกิจแบบ 'แข็งนอกอ่อนใน' 'แข็งบนอ่อนล่าง' ที่ยังมีความเหลื่อมล้ำ และ 'แข็งไม่ถาวร' ที่ไม่มีความยั่งยืน 

เพราะนับตั้งแต่ประเทศไทยมีแผนพัฒนา ในปี 2503 คือการขยายรัฐหลังเกิดวิกฤต มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมโหฬาร แต่ประชาชนยังไม่ตระหนักเท่าที่ควร ขณะเดียวกันในปัจจุบันประเทศไทยกำลังเข้าสู่การหดหายไปของกำลังแรงงานและการประสบภาวะเศรษฐกิจ แต่เราทุ่มไปกับการขยายในภาครัฐ โดยหวังว่าจะแก้ได้แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือประเทศกลับอ่อนแอลง

ส่วนแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ยิ่งน่ากังวลเนื่องจากในแบบแผนมีแนวทางในการขยายรัฐในระยะยาว ซึ่งแผนยุทธศาสตร์นั้นต้องไม่ใช่กฎหมาย โดยส่วนตัวได้ทักท้วงตั้งแต่ร่าง รธน.แล้ว เพราะมีการระบุว่าต้องมีการบังคับใช้แผนดังกล่าว อีกทั้งรัฐบาลใหม่ต้องดำเนินการตามแผนนี้ ซึ่งมีความเป็นไปได้ยาก เนื่องจากไม่มีความยืดหยุ่นเลย


"การออกกฏหมายลูกออกมา ได้ระบุเวลาว่าต้องมีแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ก็เขียนออกมาโดยไม่คิดให้รอบคอบว่าจะสามารถทำได้หรือไม่ " บรรยง พงษ์พานิช กล่าว


ขณะที่ 'ปูลิตบูโร' หรือกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ที่ประกอบไปด้วยนายพลและผู้ได้รับการแต่งตั้งจากหลายสาขา ถือเป็นมายาคติของสังคมไทยที่เชื่อว่ากลุ่มเหล่านี้จะแก้ปัญหาได้ ซึ่งกรรมการเหล่านี้ถือว่ามีอำนาจมาก ที่สามารถส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หากรัฐบาลหลังการเลือกตั้งไม่ปฏิบัติตามแผนที่ถูกร่างไว้ ดังนั้นยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ถ้าไม่แก้ ก็จะกลายเป็นการล็อกชาติไว้