ไม่พบผลการค้นหา
กรมการค้าภายใน เชิญโรงพยาบาลเอกชนชี้แจงแนวปฏิบัติเรื่องราคาสินค้าและบริการ ย้ำต้องให้การรักษาเท่าที่จำเป็นไม่เกินจริง คาดสิ้นเดือน ก.ค. 2562 สามารถเผยแพร่ราคายาทั้งหมดให้นำไปเผยแพร่แก่ผู้ป่วยตรวจสอบได้

นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้เชิญโรงพยาบาลเอกชนมาชี้แจงให้ทราบถึงแนวทางการปฏิบัติที่ถูกต้องตรงกัน ตามประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ฉบับที่ 52 พ.ศ.2562 ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 30 พ.ค. 2562 โดยกำหนดให้โรงพยาบาลต้องแจ้งราคาซื้อขายยา, เวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์ให้กรมฯ รับทราบ ซึ่งราคาที่แจ้งนั้นต้องเป็นต้นทุนของยา, เวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์ ที่ไม่รวมค่าใช้จ่ายอื่นๆ ด้วย เช่น ค่าห้อง ค่าแอร์ ค่าเภสัชกร ค่าจ้างพนักงาน ค่าสร้างตึกใหม่ เป็นต้น

พร้อมย้ำกับโรงพยาบาลเอกชนทุกแห่ง ต้องให้การรักษาเท่าที่จำเป็น ห้ามรักษาเกินจริง และจะต้องแจ้งรายละเอียดให้ผู้ป่วยรับทราบด้วยว่าเป็นโรคอะไร ค่ารักษาเท่าไร เหตุการณ์ที่ผู้ป่วยท้องเสีย มีค่าใช้จ่าย 30,000 บาท จะต้องไม่เกิดขึ้นอีก และในใบสั่งยา จะต้องระบุรายละเอียดชื่อ ราคา ให้ชัดเจน เพื่อให้ผู้ป่วยมีทางเลือกสามารถไปซื้อยาภายนอกโรงพยาบาลได้

ด้านราคายา จะต้องแจ้งราคาซื้อและขายยาในกลุ่มบัญชีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิ์ทุกที่ (UCEP) 3,892 รายการ และรายการยาที่มีการจำหน่ายสูงสุด 100 รายการแรก รวม 3,992 รายการ ภายในวันที่ 12 ก.ค. 2562 ส่วนราคาเวชภัณฑ์ 868 รายการ และค่าบริการทางการแพทย์ 5,286 รายการ ให้แจ้งภายในวันที่ 22 ก.ค. 2562

จากนั้นจะนำข้อมูลที่ได้มาตรวจสอบกับบัญชีราคายาของกรมบัญชีกลาง และข้อมูลที่ได้รับมาก่อนหน้านี้ ทั้งจากบริษัทผู้ผลิตยา และผู้นำเข้า เพื่อดูว่าเป็นราคาที่สอดคล้องกับต้นทุนหรือไม่ แล้วจึงจะนำราคาเผยแพร่บนเว็บไซต์ www.dit.go.th และจัดทำ QR Code ยาแต่ละรายการ จัดส่งให้โรงพยาบาลเอกชนไปแสดงไว้เพื่อให้ผู้ป่วยได้ตรวจสอบได้ คาดว่าจะตรวจสอบได้ตั้งแต่วันที่ 29 ก.ค. 2562 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ หลังวันที่ 12 ก.ค. 2562 จะดูว่าราคาแตกต่างกันมากน้อยแค่ไหน ถ้าไม่แตกต่าง ก็จะไม่ยุ่ง แต่ถ้ามีราคาสูงเกินจริง จะเชิญโรงพยาบาลเอกชนรายนั้น มาชี้แจงก่อน ถ้ายังไม่ร่วมมือขายยาให้สอดคล้องกับต้นทุน ก็ต้องใช้อำนาจตามกฎหมายว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 ทั้งๆ ที่ไม่อยากใช้อำนาจตามกฎหมายเลย โดยมาตรการที่จะนำมาใช้ได้ เช่น กำหนดอัตรากำไรที่เหมาะสม แต่ตอนนี้ยังไม่ได้ไปถึงขั้นนั้น เพราะกรมไม่ต้องการใช้ และหลีกเลี่ยงการใช้มาตรการนี้

Photo by Piron Guillaume on Unsplash

ข่าวที่เกี่ยวข้อง