ไม่พบผลการค้นหา
ย้อนดูปมปัญหา 'ประยุทธ์' ถวายสัตย์ไม่ครบถ้วน ตามมาตรา 161 ตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา ก่อนนำไปสู่การเปิด 'อภิปรายทั่วไป' ตามมาตรา 152 ในวันที่ 18 ก.ย.นี้ ตามที่ 214 ส.ส.ฝ่ายค้านเข้าชื่อ เสนอญัตติ หลังใช้กลไกรัฐสภาตรวจสอบไม่ได้ เหตุนายกฯ หนีสภา 3 ครั้ง ที่ผ่านมามีการยื่นฟ้องรวมทั้งหมด 4 องค์กร ทั้ง 'ผู้ตรวจการแผ่นดิน-ศาล รธน.-อสส.-ป.ป.ช.'

นับเป็นครั้งที่ 2 ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ที่จะเข้าสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 18 มิ.ย.นี้ เพื่อรับผิดชอบต่อการตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดิน ตามที่ 214 ส.ส.ฝ่ายค้าน ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป ตามมาตรา 152 ซักถามถึง การถวายสัตย์ปฏิญาณตนไม่ครบถ้วน ตามมาตรา 161 และการแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยไม่มีชี้แจงที่มารายได้ ตามมาตรา 162 

'วอยซ์ ออนไลน์' ขอสรุปทบทวนไทม์ไลน์ ปมปัญหาคาราคาซังของ 'รัฐบาลประยุทธ์ 2/1' จนกลายเป็นที่ถกเถียงและส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการบริหารประเทศ ตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา และยังความรับผิดชอบในการหาทางออก ดังนี้ 

ขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว - ไม่ลาออก 

วันที่ 16 ก.ค. - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม นำครม. ถวายสัตย์ปฏิญาณตนไม่ครบถ้วน ตามมาตรา 161 

วันที่ 25 ก.ค. - นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ขอหารือในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ก่อนที่ครม.ประยุทธ์ 2/1 จะแถลงนโยบายว่า พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถ้อยคำถวายสัตย์ไม่ครบประโยค ตามมาตรา 161 ขาดถ้อยคำว่า "ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ" 

แต่ไม่เกิดผลในทางปฏิบัติแต่อย่างใดตามมา นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เพียงยอมรับว่า เป็นเรื่องอันตราย ส่วนพล.อ.ประยุทธ์กล่าวตอนหนึ่งของการแถลงนโยบายวันที่ 26 ก.ค.ว่า "การถวายสัตย์เสร็จสิ้นด้วยความเรียบร้อย จะไม่กล่าวถึงอีก" 

จากนั้นบรรดา 7 แกนนำพรรคฝ่ายค้าน ต่างให้ความเห็นเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการแก้ไขให้เรียบร้อย เพื่อหลีกเลี่ยงการตีความว่าอาจทำให้การบริหารงานของรัฐบาลเป็นโมฆะ 

วันที่ 1 ส.ค. นายชัยเกษม นิติสิริ อดีตรมว.ยุติธรรม แกนนำพรรคเพื่อไทย ให้ความเห็นเสนอแนะ พล.อ.ประยุทธ์ให้ขอพระราชทานาอภัยโทษ และเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณใหม่ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาอื่นตามมา 

ด้าน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ฝ่ายกฎหมาย ระบุว่า "ไม่ขอตอบเรื่องนี้แล้ว ไม่ตอบอะไรทั้งสิ้น แล้ววันหนึ่งจะรู้เองว่าทำไมถึงไม่ควรพูด" 

วันที่ 2 ส.ค. นายวิษณุ อธิบายเพิ่มเติมเมื่อถูกถามถึงความกระจ่างว่า "เขาก็ทำงานได้ 1.ได้เข้าสู่การถวายสัตย์แล้ว 2.ได้พระราชทานพรแล้ว 3.แถลงนโยบายแล้ว 4.ทำงานกันไปแล้ว ถือว่าจบ" 

ด้านนายปิยบุตร โพสต์ข้อความในหนังสือ 'หลังม่านการเมือง' ที่นายวิษณุเขียนหลายช่วงถึงการถวายสัตย์ เช่น "จะพูดน้อยหรือยาวกว่านี้ไม่ได้" หรือ "ขืนท่องจำผิดๆ ถูกๆ ตกคำว่าและหรือคำว่าหรือไป ก็อาจต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความได้ว่า ถวายสัตย์ครบถ้วนหรือยัง จะยุ่งเป่าๆ"

วันที่ 5 ส.ค. พล.อ.ประยุทธ์ยังยืนยันว่า "ทุกอย่างเป็นไปตามรัฐธรรมนูญทุกประการ ข้อความต่างๆ ที่พูดไปถึอว่าครอบคลุมทั้งหมด ผมว่าเรื่องนี้จบดีกว่า อย่าให้บานปลาย ถ้าจะดีหรือไม่อย่างไร ก็ไปรอเลือกตั้งคราวหน้า" 

1ถวายสัตย์.jpg

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ ตอบโต้ว่า "ถือเป็นการพูดแแบบไม่รับผิดชอบในสิ่งที่ได้กระทำไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ใช้อำนาจตามอำเภอใจอยู่เหนือรัฐธรรมนูญและกฎหมาย" 

จากนั้นสุ้มเสียงของ พล.อ.ประยุทธ์ เริ่มเปลี่ยนไป มีท่าทียอมรับประเด็นปัญหามากขึ้นในวันที่ 6 ส.ค. ยอมรับว่า "กำลังพยายามแก้ปัญหาอยู่ เรื่องนี้จะทำของผมเอง" วันที่ 7 ส.ค. "เดี๋ยวคงเรียบร้อย ผมไม่ได้มีเจตนาที่จะทำผิด ให้ดูกันที่เจตนา" และวันที่ 8 ส.ค. ระบุว่า "ผมขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว" หลายครั้ง พร้อมกล่าวขอโทษ ครม. จนเกิดกระแสข่าวลือนายกฯ จะลาออกเพื่อรับผิดชอบ ก่อนดับลือชัดในวันที่ 9 ส.ค.ว่า "จะเป็นนายกฯ ตรงนี้ไม่ไปไหน" 

ยื่น 4 องค์กรตรวจสอบ 'ผู้ตรวจการแผ่นดิน-ศาลรธน.-อสส.-ป.ป.ช.'

ฟากองค์กรอิสระก็มีผู้ไปร้องเรียนเช่นเดียวกัน โดยวันที่ 20 ส.ค. นายภาณุพงศ์ ชูรักษ์ นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ฐานเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และขัดต่อสิทธิเสรีภาพของผู้ร้องเรียนในฐานะประชาชนคนหนึ่ง 

วันที่ 22 ส.ค. พล.อ.ประยุทธ์ส่งหนังสือชี้แจงถึงประธานผูุ้ตรวจการแผ่นดิน แต่ไม่ได้มีการเปิดรายละเอียดต่อสาธารณะ 

วันที่ 27 ส.ค. ผู้ตรวจการแผ่นดิน มีมติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ขณะเดียวกันที่ทำเนียบรัฐบาล ห้องรับรองชั้น 5 ตึกบัญชาการ 1 พล.อ.ประยุทธ์ นำ ครม.เข้ารับพระราชดำรัส พร้อมลายพระราชหัตถ์ หน้าพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 10 พร้อมแถลงว่า "หลังจากวันที่ 16 ก็ทำเรื่องขอไป มีพระราชดำรัสและลงสำเนาให้ ครม." 

พระราชดำรัส-ประยุทธ์-ถวายสัตย์

ด้านนายปิยบุตร กล่าวยืนยันตามนายวิษณุว่าไม่ใช่การถวายสัตย์ปฏิญาณใหม่ จึงต้องพิจารณาการถวายสัตย์เมื่อวันที่ 16 ก.ค.ที่ผ่านมาว่า ครบถ้วนสมบูรณ์หรือไม่ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ยังไม่เคยชี้แจงอย่างชัดเจน ยังต้องรอการวินิจฉัยต่อไป 

"เราเพียงต้องการความแน่นอนชัดเจนเพื่อให้คณะรัฐมนตรีรับหน้าที่โดยสมบูรณ์แบบตามรัฐธรรมนูญ จะได้ชัดเจนว่ามาตรการหรือมติต่างๆ ที่ออกมาเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ จะมีความชัดเจนสมบูรณ์ ไม่เสี่ยงที่จะโมฆะ" เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่กล่าว 

วันที่ 11 ก.ย. ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ 'ไม่รับคำร้อง' ของผู้ตรวจการแผ่นดิน เรื่องการถวายสัตย์ไว้พิจารณา การเข้าเฝ้าถวายสัตย์เป็นความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับพระมหากษัตริย์ และเป็นการกระทำทางการเมือง (Political Issue) อยู่ในความหมายของการกระทำของรัฐบาล (Act of Government) ตามมาตรา 47 ของ พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561  

วันที่ 13 ก.ย. นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ นักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ อธิบายว่า แม้ศาลไม่รับพิจารณา แต่ในทางนิติบัญญัติก็ต้องเดินหน้าต่อไป โดยระบุว่า ในทางการเมืองก็ต้องมีการอภิปรายซักถามได้ เพราะถือว่า ไม่ทำไม่ครบตามรัฐธรรมนูญ สภาสามารถเปิดอภิปรายได้อยู่แล้ว ไม่เกี่ยวด้วยว่า จะมีคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่แล้ว เป็นคนละประเด็นกัน ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบทางกฎหมาย ว่า เรื่องที่เกิดขึ้นจะรับพิจารณาได้หรือไม่ ซึ่งเขาไม่รับ แต่ว่าสภาตรวจสอบทางการเมืองอภิปรายทั่วไปตามมาตรา 152 เพื่อซักถามปัญหา 

ศรีสุวรรณ

นอกจากนี้ ยังมีการไปร้องเรียนต่อองค์กรตรวจสอบอื่นๆ ด้วย เช่น นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย ไปร้องเรียนยังอัยการสูงสุด เพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ยกเลิกการกระทำ ตามมาตรา 49 วรรคหนึ่งของรัฐธรรมนูญ 2560 เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 

ด้านนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นร้องต่อ ป.ป.ช. ขอให้ดำเนินการไต่สวนขอเท็จจริงถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ว่าเข้าข่ายจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้อยแรงหรือไม่ เมื่อวันที่ 13 ส.ค. 

อ้างติดภารกิจ หนีสภา 3 ครั้ง 'ทุเรียนตำ-ร้องธรณีกรรแสง-ออกทะเล' 

สำหรับการตรวจสอบในสภา 7 พรรคฝ่ายค้าน นำโดยนายปิยบุตร ได้พยายามใช้กลไกของรัฐสภาผ่านการตั้งกระทู้ถามสดในประเด็นดังกล่าว แต่นายกฯ กลับไม่มาตอบคำถามที่สภาอ้างว่าติดภารกิจอื่นๆ 3 สัปดาห์ซ้อน คือ 1. วันที่ 7 ส.ค. ในการประชุมครั้งที่ 13 ติดภารกิจที่ จ.ยะลา โชว์หิ้วทุเรียนโดยไม่สวมถุงมือ ถูกหนามตำเลือดออก พร้อมกล่าวว่า "ไม่เจ็บ ไกลหัวใจเยอะ ไม่เป็นไร" 

2. วันที่ 14 ส.ค. ในการประชุมครั้งที่ 15 ติดภารกิจ กิจกรรมจิตอาสาช่วยเหลือผู้พิการทางสายตา ที่มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย พล.อ.ประยุทธ์ทำกิจกรรมอย่างอารมณ์ดี ยิ้มแย้มแจ่มใสร้องรำทำเพลงกับเด็ๆ พร้อมบอกกับทีมงานว่า สมัยก่อนเล่นดนตรีและ "ร้องเพลงธรณีกรรแสง" 

ประยุทธ์ เตะบอล 633000000.jpg

และ3.วันที่ 21 ส.ค. ในการประชุมครั้งที่ 17 ติดภารกิจ จ.ระยอง เป็นประธานพิธีปิดการฝึกปฏิบัติทางทะเลของศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) ให้สัมภาษณ์ว่า "เรื่องการเมืองไม่ตอบ วันนี้เป็นเรื่องงานการทหารเรือ"

เมื่อนายกฯ ไม่แสดงความรับผิดชอบต่อสภา ในวันที่ 16 ส.ค. นายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน นำรายชื่อ 214 ส.ส. จากพรรคฝ่ายค้านยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปตามมาตรา 152 ให้ พล.อ.ประยุทธ์เข้ามาชี้แจงกรณีการถวายสัตย์ไม่ครบถ้วนตามมาตรา 161 และไม่ชี้แจงที่มารายได้ของนโยบายรัฐบาลตามมาตรา 162 

ใช้วันสุดท้ายสมัยประชุม หวังชงถกลับปิดปากฝ่ายค้าน - 'วิป รบ.' ไม่เล่นด้วย 

ซึ่งทางรัฐบาลสะท้อนความไม่มั่นใจออกมา ในการเรียกร้องขอให้เปิดประชุมลับ วันที่ 30 ส.ค. นายวิษณุ ระบุว่า กรณีเช่นนี้สามารถขอประชุมลับได้ หากเห็นว่าเป็นประเด็นที่ไม่สมควรจะถูกเปิดเผยออกไป ซึ่งการขอเปิดประชุมลับนั้น ครม. และ ส.ส. ตามจำนวนที่กำหนด จะเป็นผู้ขอได้ โดยสามารถขอให้ประชุมลับ ตั้งแต่ต้นจนจบก็ได้ หรือ ขอประชุมลับ ในบางช่วงบางตอน 

"การเปิดอภิปรายตาม ม.152 อยู่ๆ จะให้เป็นประชุมลับ ก็คงเร็วเกินไป เหมือนตีตนไปก่อนไข้ เพราะเรายังไม่รู้ว่าเขาจะถามอะไร แล้วเราจะตอบอะไร แล้วจะไปคิดก่อนได้อย่างไรว่าจะมีความไม่เหมาะสมเกิดขึ้น แต่เมื่อประชุมไปถึงจุดหนึ่งอาจจะรู้ ซึ่งเมื่อรู้ ครม.หรือ ส.ส. อาจจะขอเป็นประชุมลับก็ได้" รองนายกฯ ฝ่ายกฎหมายระบุ 

สมพงษ์-วิรัช เพื่อไทย สภา

ต่างจากความมั่นใจของพรรคฝ่ายค้าน ที่ยืนยันว่า จำเป็นต้องเป็นการประชุมโดยเปิดเผย การพาดพิงถึงสถาบันหลักนั้นถูกควบคุมไว้โดยข้อบังคับการประชุมสภาอยู่แล้ว หากประชุมลับเดี๋ยวก็จะมี ส.ส.มาเปิดเผยต่อสื่ออยู่ดี หากทำให้ชัดเจนไปทีเดียวจะได้ไม่มีปัญหาตามมา เช่นเดียวกับทาง "วิปรัฐบาล" นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิป ที่เห็นคล้อยกับทางวิปฝ่ายค้าน ซึ่งยืนยันหลังการประชุมวันที่ 2 ก.ย. ว่า ไม่จำเป็นต้องมีประชุมลับ หากฝ่ายค้านเกินเลย ก็ต้องรับผิดชอบเอง 

ทั้งนี้ การอภิปรายทั่วไปในวันที่ 18 ก.ย.นี้ ถือเป็นการประชุมในวันสุดท้ายของสมัยประชุมสามัญทั่วไป ทำให้มีเวลาการอภิปรายได้อย่างมากที่สุดถึงเวลาเที่ยงคืนของวันเดียวกันเท่านั้น ทางวิปรัฐบาลไม่ได้มีการกำหนดกรอบเวลาแต่อย่างใด ให้ฝ่ายค้านบริหารจัดการเวลาการอภิปรายกันเอง ปมปัญหานับจากวันที่ 16 ก.ค.ที่ผ่านมา หรือนับเป็น 2 เดือนแห่งความวุ่นวายไร้ทางออก กำลังจะได้รับคำตอบ ส่วนเนื้อหาการอภิปรายจะเป็นไปอย่างไร ยังต้องติดตามรอชมด้วยใจระทึก