ไม่พบผลการค้นหา
เลขาฯ อีอีซี เผย EHIA รันเวย์ 2 อู่ตะเภา เสร็จแล้ว เตรียมเสนอ สผ. ไม่เกิน 2 สัปดาห์ เปิดประมูลคู่ขนาน มั่นใจตอกเสาเข็มปีหน้า

คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าโครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ในส่วนของรันเวย์ที่ 2 ระยะทาง 3,500 เมตร มูลค่า 17,000 ล้านบาท ขณะนี้กองทัพเรือได้จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ครบถ้วนแล้ว

ภายใน 2 สัปดาห์จะนำส่งให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณา คาดว่าจะใช้ระยะเวลา 4-6 เดือน โดยระหว่างนี้จะมีการเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณารายละเอียดการเปิดประมูลเพื่อหาเอกชนดำเนินการก่อสร้างไปแบบคู่ขนานซึ่งจะใช้ระยะเวลา 3-4 เดือน ซึ่งหาก EHIA ผ่านแล้วจะมีการลงนามในสัญญาทันที คาดว่ากลางปีหรือไม่เกินปลายปี 2564 จะดำเนินการก่อสร้างได้

“จะเห็นการก่อสร้างทั้งในส่วนของสนามบินอู่ตะเภาและรถไฟความเร็วสูง จะเริ่มตอกเสาเข็มได้อย่างเร็วสุดคือในช่วงกลางปีหน้า ยืนยันว่าทุกโครงการสามารถเดินหน้าได้ตามแผนที่วางไว้” คณิศ กล่าว

ส่วนความคืบหน้าโครงการศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา (MRO) ในส่วนของการบินไทย 200 ไร่ เบื้องต้นได้มีการพูดคุยกับการบินไทยแล้วว่าจะนำการพัฒนา MRO เข้าไปอยู่ในแผนฟื้นที่กิจการที่จะมีการเสนอต่อศาลล้มละลายกลางในเดือน ม.ค.-ก.พ. 2564 ส่วนจะใช้แนวทางการร่วมลงทุนกับแอร์บัส ลงทุนเองแต่ใช้เทคโนโลยีของแอร์บัส หรือ ลงทุนเองแต่ใช้เทคโนโลยีของบริษัทอื่นขณะนี้ยังไม่ได้มีการสรุป

ส่วนพื้นที่ที่เหลืออีกประมาณ 300 ไร่ ขณะนี้อยู่ระหว่างเจราจากับเอกชนอีกหลายหลาย เช่น แอร์เอเชีย บางกอกแอร์เวยส์ รวมถึงบริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุน ซึ่งยืนยันว่าหลายบริษัทยังสนใจ เพียงแต่รอประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และการกลับมาของธุรกิจการบินอยู่ ซึ่งในการลงทุนโครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกส่วนแรกนอกเหนือจากที่จะต้องมีการก่อสร้างในส่วนอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 คาร์โก ศูนย์การขนส่งภาคพื้น หลุมจอด จะต้องมี MRO รวมอยู่ด้วย

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกระหว่างปี 2561-2566 ยังคงตั้งเป้าการลงทุนอยู่ที่ 1.7 ล้านล้านบาท ซึ่งรวมทั้งในส่วนของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและการลงทุนอุตสาหกรรม แม้ในส่วนของการลงทุนอุตสาหกรรมและการลงทุนด้านการท่องเที่ยวจะดีเลย์ประมาณ 6 เดือน แต่เชื่อว่าในอนาคตจะมีการลงทุนอยู่แน่นอน โดยในปี 2563 เฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 3 โครงการ คือ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) โครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก และโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด จะมีเงินลงทุนรวมประมาณ 9,000 ล้านบาท และจะเพิ่มเป็น 1 แสนล้านบาทในปี 2564 ซึ่งเฉพาะ 3 โครงการนี้จะมีเงินลงทุนรวมประมาณ 9 แสนล้านบาทแล้ว

อีอีซี.jpg