ไม่พบผลการค้นหา
เครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง อ่านแถลงการณ์ คืนอำนาจการจัดการน้ำให้ชุมชนหยุดนโยบายผันน้ำ ด้านกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายเชียงเพ็ง เผาหุ่น อ่านแถลงการณ์จี้รัฐยุตินโยบายโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลในภาคอีสาน

กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายเชียงเพ็ง ประมาณกว่า 100 คน ได้จัดเวทีเสวนา ครบรอบ 4 ปี “กระบวนกาเคลื่อนไหวคัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล” และ ได้ร่วมกันแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในการเผาหุ่น เผาพริกเผาเกลือ เพื่อสาปแช่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและโรงงานน้ำตาลโรงไฟฟ้าชีวมวล

ด้าน สิริศักดิ์ สะดวก อายุ 41 ปี ที่ปรึกษากลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายเชียงเพ็ง กล่าวว่า ชาวบ้านได้ร่วมกันคัดค้านตั้งแต่กระบวนการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 เนื่องจากชาวบ้านในพื้นที่ไม่เคยรับรู้ข้อมูลข่าวสารมาก่อนเลย ถึงแม้ว่าปัจจุบันโรงงานได้สร้างเสร็จแล้วและเริ่มดำเนินการมาได้ประมาณ 2 ปี จากการเก็บข้อมูลสะท้อนให้ถึงเห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะ ด้านเสียง ด้านกลิ่น ด้านฝุ่น ด้านการจราจร


เตรียมบุกทำเนียบฯ

ซึ่งทางกลุ่มชาวบ้านอนุรักษ์ลำน้ำเซบายยังยืนยันคัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล และต่อไปข้างจะร่วมกับทางคณะกรรมการประชาชนคัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล (คปน.ภาคอีสาน) เพื่อเดินทางเข้าทำเนียบรัฐบาลเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกมติ ครม.ปี 58 ประเด็นเรื่องการดำเนินการของโคงการโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล

ทั้งนี้อนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ได้อ่านแถลงการณ์โดยมีเนื้อหาดังนี้ “หยุดนโยบายคุกคามแผ่นดินอีสาน หยุดนโยบายโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล”

ภายหลังการยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาล คสช. เข้าบริหารประเทศ 17 สิงหาคม 2558 กระทรวงอุตสาหกรรมได้ออกประกาศ เรื่องการให้ตั้งหรือขยายโรงงานน้ำตาลในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร พ.ศ. 2558 โดยนิยามจากเดิมคำว่า “ตั้งโรงงานน้ำตาล” หมายความว่า ตั้งโรงงานน้ำตาลขึ้นใหม่เท่านั้น แต่ประกาศกระทรวงในครั้งนี้ให้หมายความรวมถึง “การขยายโรงงาน” และ “การย้ายโรงงานน้ำตาล” ไปตั้งยังพื้นที่อื่นได้ด้วย เป็นการปลดล็อคให้ผู้ประกอบการสามารถขออนุญาตตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่ และขอขยายหรือย้ายโรงงานน้ำตาลไปยังพื้นที่อื่นโดยมีระยะห่างระหว่างโรงงานเดิมกับโรงงานใหม่ไม่น้อยกว่า 50 กิโลเมตร

​ปลายปี 2558 สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ได้ออกใบอนุญาตให้ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลซึ่งผูกขาดด้วยผู้ประกอบการรายใหญ่ 6 กลุ่มสามารถตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่ หรือย้าย หรือขยายกำลังผลิตไปตั้งยังที่แห่งใหม่ รวมกับโรงงานที่ได้รับอนุญาตตามมติ ครม. ปี 2554 ในภาคอีสานจะมีไบโอฮับเป็นศูนย์กลางในพื้นที่ฐานการผลิต และจะมีโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลเพิ่มขึ้น 29 โรงงาน ในพื้นที่ภาคอีสาน ความชัดเจนเริ่มปรากฏชัดเมื่อแนวนโยบายด้านเศรษฐกิจต่างๆ ทั้งในระดับประเทศและระดับท้องถิ่นถูกกำหนดและผูกขาดด้วยทุนขนาดใหญ่

รวมถึงกระบวนการในการแก้ไขกฏหมายและระเบียบของภาครัฐเอื้อต่อการลงทุน เพิ่มกลไกให้กลุ่มทุนขยายอำนาจลงสู่ท้องถิ่นในรูปแบบของพลังประชารัฐ และสามารถวางกรอบนโยบายไว้ในแผนพัฒนายุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อมุ่งสู่เศรษฐกิจชีวภาพ ผ่านการลักดันของคณะกรรมการภาครัฐและเอกชนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ คือคณะทำงานด้านการพัฒนาเกษตรสมัยใหม่

ดังนั้นนับตั้งแต่อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ได้ขยายฐานการผลิตจากภาคกลางมายังอีสานกว่า 15 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยในประเทศไทยส่วนใหญ่อยู่ในภาคอีสานซึ่งมีพื้นที่ปลูกอ้อยมากกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศ

​เป็นเวลา 4 ปีแล้วที่กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายตำบลเชียงเพ็งได้ยืนหยัดคัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่ตั้งในพื้นที่ตำบลน้ำปลีก ในขณะที่โรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีมวลได้ดำเนินการมาปีนี้เป็นปีที่ 2 แล้ว เรารับรู้ได้ถึงมลภาวะที่เกิดจากเสียงดังรบกวนวิถีชีวิตปกติสุขของชุมชน การจราจร และกลิ่น เป็นต้น การเคลื่อนไหวของกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบายเพื่อคัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล เรามีจุดยืนที่ชัดเจนในการปกป้องวิถีชีวิตบ้านเกิด ปกป้องทรัพยากร แต่รัฐบาลไม่เคยที่จะฟังเสียงของชาวบ้าน ในทางกลับกันยังเปิดช่องทางเอื้อให้กับทุน ตลอดจนการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของประเทศในครั้งนี้


ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

ซึ่งจะทำให้ภาคอีสานมีนิคมอุตสาหกรรมชีวภาพ หรือศูนย์กลางอุตสาหกรรมชีวภาพ มีกลุ่มโรงงานน้ำตาล โรงไฟฟ้าชีวมวล และโรงงานซึ่งเกิดจากอุตสาหกรรมต่อเนื่องอีกหลายประเภทภายในพื้นที่เดียวกันในพื้นที่ 13 จังหวัดของภาคอีสาน นับเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงพื้นที่ขนาดใหญ่จากนโยบายรัฐ ซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพพื้นที่และสภาพแวดล้อมอย่างกว้างขวาง สิ่งสำคัญจะต้องมีการประเมินผลกระทบจะต้องมีการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ก่อน

ไม่ใช่แค่การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเป็นรายโครงการเหมือนที่ผ่านมา รวมถึงการกำหนดนโยบายที่ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับรู้ข้อมูลข่าวสาร และเมื่อประชาชนในแต่ละพื้นที่ติดตามข้อมูลโดยยื่นหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแสดงความกังวลในเรื่องผังเมือง พื้นที่เปราะบางหรือพื้นที่ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ ผลกระทบต่อวิถีชีวิต ความมั่นคงทางอาหาร และผลกระทบต่อสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ

​ดังนั้นทางกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย จึงเรียกร้องไปยังรัฐบาลให้ยุติดำเนินนโยบายโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลในภาคอีสาน และให้ประเมินยุทธศาสตร์ทางด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ชาวบ้านในพื้นที่เข้าไปมีส่วนร่วม หลังจากนั้นชาวบ้านได้ร่วมกันเผาหุ่น และเผาพริกเผาเกลือ เพื่อสาปแช่งหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องและโรงงานน้ำตาลและรงไฟฟ้าชีวมวล ก่อนแยกย้ายกันกลับบ้าน


คืนอำนาจการจัดการน้ำให้ชุมชน

เครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง จังหวัดยโสธร ราว 100 คน ร่วมกันจัดกิจกรรม “บุญกุ้มข้าวใหญ่ ข้าวใหม่ปลามัน” ณ บริเวณลานวัดบ้านบุ่งหวาย อ.คำเขื่อนแก้ว จ.ยโสธร ขณะเดียวกัน นิมิต หาระพันธ์ กรรมการเครือข่ายชาวบ้านฯ ได้ร่วมกันอ่านแถลงการณ์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

S__11157520.jpg

“คืนอำนาจการจัดการน้ำให้ชุมชนหยุดนโยบายผันน้ำโขง เลย ชี มูลรัฐจะต้องจริงใจเร่งแก้ไขปัญหาเขื่อนในลุ่มน้ำชี” ด้วยทางเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง จังหวัดยโสธร เป็นกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายโครงการโขง ชี มูลเดิม โดยการสร้างเขื่อนกันน้ำชี โดยเฉพาะเขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร และเขื่อนธาตุน้อย ลุ่มน้ำชี ส่งผลให้ชาวบ้านลุ่มน้ำชีได้รับผลกระทบดังนี้ 1.พื้นที่ทำการเกษตรถูกน้ำท่วมผิดปกตินาน 1-3 เดือน ทำให้ต้นข้าวเน่าตายต่อเนื่องกันกว่า 10 ปี ก่อปัญหาด้านสภาพเศรษฐกิจทั้งภายในครัวเรือนและชุมชน 2.ระบบนิเวศเกิดการเปลี่ยนแปลง 3.เกิดการอพยพโยกย้ายแรงงานเข้าสู่ภาคเมืองมากขึ้น 4.เกิดการเปลี่ยนแปลงทางประเพณีและวัฒนธรรม เป็นต้น

ตลอดระยะเวลากว่า 11 ปี เครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีตอนล่าง จ.ร้อยเอ็ด ได้เคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิมาโดยตลอดเพื่อให้รัฐบาลดำเนินการแก้ไขมาแล้วหลายรัฐบาล โดยมีข้อเรียกร้องคือ 1.ให้เยียวยาชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน 2.ให้จัดทำแผนฟื้นฟูฐานทรัพยากรชุมชนเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร และกระบวนการก็กำลังดำเนินการแก้ไขปัญหาตามกระบวนการ

จากบทเรียนในการจัดการทรัพยากรน้ำ โดยเฉพาะการสร้างเขื่อนที่รัฐมักอ้างว่าแก้ไขปัญหาน้ำท่วม และน้ำแล้ง แต่การดำเนินการที่ผ่านมองให้เห็นว่าเขื่อนไม่ได้ช่วยในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง แต่กลับสร้างปัญหาผลกระทบต่อวิถีชีวิตชุมชนและระบบนิเวศ ซึ่งการจัดการน้ำรัฐพยายามรวมศูนย์อำนาจ

ดังนั้นจากบทเรียนที่ผ่านมาในประเด็นเรื่องการจัดการน้ำ ทางเครือข่ายลุ่มน้ำชีตอนล่าง จังหวัดยโสธร จึงมีข้อเสนอดังนี้

1.รัฐจะต้องสรุปบทเรียนการจัดการน้ำที่ล้มเหลวที่ผ่านมา โดยเฉพาะโครงการโขง ชี มูล เดิมที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนและระบบนิเวศ

2.รัฐจะต้องประเมินความคุ้มค่าของนโยบายการจัดการน้ำที่ผ่านมา

3.รัฐจะต้องคืนอำนาจการจัดการน้ำให้กับชุมชน

4.รัฐจะต้องยุติโครงการผันน้ำ โขง เลย ชี มูล