ไม่พบผลการค้นหา
นักร้องหญิงเสียงห้าว 'อุ๊-หฤทัย ม่วงบุญศรี' ใช้เวลานาน 3 ปี พยายามแกะรอยต้นต่อภาพวาด 'ต้นไม้' (Tree of Winter) ที่ตนเองครอบครอง สันนิษฐานอาจเป็นภาพเขียนอีกชิ้นหนึ่งของศิลปินเอกชื่อก้องโลก 'วินเซนต์ แวน โก๊ะ' (Vincent Van Gogh)

หลังจาก 'อุ๊-หฤทัย ม่วงบุญศรี' นักร้องแถวหน้าของเมืองไทย พยายามแกะรอยจิตรกรรมสีน้ำมันชื่อ 'ต้นไม้' ด้วยหนทางต่างๆ มาเป็นเวลานานมากกว่า 3 ปี

ล่าสุด เมื่อวานนี้ (28 พ.ค.) บนเวทีเสวนา 'ไขปริศนาภาพ วินเซนต์ แวน โก๊ะ' ของสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ เผยความคืบหน้าของการนำเทคโนโลยีนิวเคลียร์มาช่วยไขปริศนาภาพวาดที่นักร้องเสียงห้าวเป็นผู้ครองครอง

ดร. ศศิพันธุ์ คะวีรัตน์ นักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ชำนาญพิเศษ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ กล่าวว่า ทางสถาบันฯ ได้นำเทคโนโลยีนิวเคลียร์มาช่วยคำนวณหาอายุของภาพวาด

"ด้วยความที่การพิสูจน์อายุด้วยเทคโนโลยีนิวเคลียร์ของสถาบันฯ ต้องใช้ตัวอย่างปริมาณมาก ประกอบกับคุณอุ๊ เชิญศาสตราจารย์คิลเลียน อันเฮาเซอร์ มาจากสถาบันความเชี่ยวชาญวิจิตรศิลป์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อมาเก็บตัวอย่างผลงานไปวิเคราะห์ ซึ่งใช้แค่เส้นด้ายจากผืนผ้าใบของภาพวาดเพียงเส้นเดียว ความยาวประมาณ 17 เซนติเมตร ก็สามารถวิเคราะห์อายุของวัตถุออกมาได้" ดร. ศศิพันธุ์ กล่าว

โดยผลการวิเคราะห์เส้นด้ายบนผ้าใบได้สรุปว่า "มันเป็นของเก่าที่สร้างสรรค์ขึ้นช่วงปี ค.ศ. 1700-1900"

อย่างไรก็ตาม เกิดข้อถกเถียงโต้แย้งตามด้วยว่า แม้เส้นด้ายจะอายุเก่าแก่ แต่ตัวศิลปินลงฝีแปรงเมื่อไหร่ต้องพิสูจน์ต่อไป ซึ่งกระบวนการดังกล่าวเป็นการวิเคราะห์เม็ดสี โดยใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์ ซึ่งเป็นเทคนิคการวาวของรังสีเอกซ์ และเทคนิคการกระเจิงของรังสีเอกซ์ เพื่อหาองค์ประกอบของสีต่างๆ ว่าผสมด้วยธาตุอะไรบ้าง

"หลังจากได้ธาตุจากเม็ดสีออกมา เราก็นำมาเทียบกับข้อมูลสีที่มีการศึกษาเอาไว้แล้วว่า สีแดง สีน้ำเงิน ในช่วงปี ค.ศ. 1700-1900 มีลักษณะแบบไหนบ้าง ซึ่งผลการวิเคราะห์แสดงให้ว่า ไม่มีสีสมัยใหม่อยู่บนภาพ"

นอกจากนั้น เมื่อสกิดผงสีออกมาส่องขยายดูจะเห็นเลยเยอร์ของสีที่เปลี่ยนแปลงไปตามเวลา คือข้างนอกมองเห็นเป็นสีน้ำตาล แต่ข้างในจริงๆ เป็นสีเหลือง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้ต่องเป็นภาพเก่าเท่านั้น


"เบื้องต้นได้วิเคราะห์หาธาตุไททาเนียมที่เป็นส่วนผสมของสีขาวใหม่ที่เริ่มใช้เมื่อปี ค.ศ.1910 แต่ยังไม่พบ จึงเชื่อได้ว่าเป็นภาพเก่าจริง" ดร. ศศิพันธุ์ กล่าว


ด้านอุ๊-หฤทัย เผยความรู้สึกหลังทราบผลวิเคราะห์ว่า เหตุผลที่ทำให้เชื่อมั่นว่าเป็นภาพของวินเซนต์ แวน โก๊ะ เพราะตลอด 3 ปีผ่านมา มีการตรวจสอบหลายด้าน ไม่ใช่เฉพาะเรื่องเม็ดสีเท่านั้น แต่ได้ตรวจสอบเรื่องรูปแบบการวาด ลักษณะฝีแปรงที่วางลงเทียบกันแบบบาร์โค้ด เหมือนกับการหาวิถีกระสุนปืนตามหลักนิติวิทยาศาสตร์

อีกทั้ง โลกปัจจุบันเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ทุกคนสามารถเข้าไปค้นคว้าหาข้อมูล และตรวจสอบทุกอย่างได้ อย่างโครงการอาร์ต โปรเจ็คท์ (Art Project) ของกูเกิล ที่ถ่ายภาพของศิลปินเอกระดับโลกไว้เป็นจำนวนมาก และของวินเซนต์ แวน โก๊ะ ก็มีอยู่หลายร้อยชิ้น

ที่สำคัญคือ โครงการอาร์ต โปรเจ็คท์ สามารถซูมเข้าไปดูสามารถขยายได้ร้อยเท่า ทำให้เห็นกระทั่งรอยแตก และรายละเอียดของภาพอย่างลึกซึ้งแบบดูด้วยตาเปล่าไม่เห็นด้วยซ้ำ

"ขั้นตอนแรก อุ๊นำผลงานขยายขึ้นบนจอโทรทัศน์ให้เท่าขนาดจริง แล้วทำการวัดหน้ากว้างฝีแปรงของวินเซนต์ แวน โก๊ะ ต่อด้วยการวัดฝีแปรงของภาพวาดต้นไม้ ซึ่งผลที่ออกมาเป็นความลงตัวที่มหัศจรรย์มาก" อุ๊-หฤทัย ระบุ

หลังจากทุ่มเทไขความจริงอย่างหนักอุ๊-หฤทัยค้นพบว่า ร่องฝีแปรงของภาพวาดต้นไม้ รวมทั้งทิศทาง และหน้ากว้างของพู่กัน สามารถวางลงตรงกันกับภาพอื่นๆ ของวินเซนต์ แวน โก๊ะ ได้แบบไม่มีที่จุดสิ้นสุด แต่ด้วยการพิสูจน์จากอาร์ต โปรเจ็คท์ ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อนบนโลก จึงต้องรอการตรวจสอบจากพิพิธภัณฑ์แวน โก๊ะ (Van Gogh Museum)

หากผลการพิสูจน์ปรากฏออกมาว่า เป็นผลงานของวินเซนต์ แวน โก๊ะ จริง งานชิ้นนี้จะมีมูลค่าสูงถึงประมาณ 80-100 ล้านดอลล่าสหรัฐฯ หรือประมาณ 2,500-3,200 ล้านบาท

ข่าวเกี่ยวข้อง :