ไม่พบผลการค้นหา
เยอรมันจัดฉลองใหญ่สุดสัปดาห์นี้ เปิดตัวรูปปั้นขนาดยักษ์ดึงนักท่องเที่ยวท่ามกลางคำถามถึงแรงกระเพื่อมและอิทธิพลที่แท้จริงของความคิดมาร์กซิส ขณะที่จีนตอกย้ำมาร์กซิสคือแนวทางที่ถูกต้องสำหรับประเทศ

วันที่ 5 พ.ค.เป็นวันครบรอบวันเกิดปีที่่ 200 ของ 'คาร์ล มาร์กซ์' สื่อรายงานว่าเริ่มตั้งแต่วันเสาร์นี้จะมีการจัดงานรำลึกถึงบิดาแห่งลัทธิมาร์กซิสผู้นี้ โดยในเมือง Trier ที่เป็นบ้านเกิดของเขาจะมีการจัดงานใหญ่ที่ผู้ไปร่วมงานจะได้ดื่มไวน์ 'ดาส คาปิตาล' ฟังการกล่าวสดุดีและเปิดตัวรูปปั้นใหม่ของมาร์กซ์ที่จีนเป็นผู้สร้าง และได้ชมสารคดีที่จีนผลิตชื่อ 'Marx Is Right' อันเป็นสโลแกนที่ผู้นำจีนกำลังพยายามตอกย้ำให้ประชาชนของตนยึดมั่น เพราะว่ามาร์กซิสเป็นแนวทางที่ถูกต้องสำหรับจีน

แอลเอไทมส์รายงานว่า นอกจากงานสุดสัปดาห์นี้แล้ว เยอรมันยังจะจัดงานเกี่ยวกับมาร์กซ์ร่วม 600 งานตลอดปี คาดว่าเมืองเกิดของมาร์กซ์จะคึกคักเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะจากจีนที่แต่ละปี มีไม่น้อยกว่า 150,000 คน ที่ส่วนหนึ่งน่าจะไปเพื่อชมรูปปั้นที่จีนเป็นคนสร้างให้ จีนนั้นกลายเป็นกรณีตัวอย่างอันสำคัญของประเทศที่ยังยึดอุดมการณ์มาร์กซิส ความสนใจจึงมักพุ่งไปที่จีนว่าเป็นเครื่องพิสูจน์ความสำเร็จหรือล้มเหลวของมาร์กซิสกันแน่

แต่ปัญหาใหญ่สำหรับจีนกลายเป็นเรื่องที่ว่า จีนยังคงยึดมั่นในลัทธิมาร์กซิสจริงหรือไม่ รอยเตอร์ชี้ว่า ภาพของจีนที่ปรากฎในความเป็นจริงขัดแย้งกับวาทกรรมที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนกำลังพยายามจะบอกอย่างสิ้นเชิง ดูเหมือนว่าที่จริงแล้วพรรคสนใจการพัฒนาเศรษฐกิจมากกว่า แต่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีนยังคงยืนยันว่า พรรคยังคงยึดมั่นในอุดมการณ์ที่ใช้ในการก่อตั้งตัวเอง รวมทั้งพยายามจะให้กลไกต่างๆ ในประเทศหันกลับไปยึดรากฐานที่เคยดำเนินไว้ในสมัยยุคของเหมา เจ๋อตง

'สี จิ้นผิง' พยายามตอกย้ำว่าแนวทางดังกล่าวว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ซึ่ง 'จูด แบลนเชท' นักวิเคราะห์ของกลุ่มครัมตันกรุ๊ปบอกว่า การที่ฝ่ายนำของจีนรณรงค์ให้ประเทศกลับไปยึดมั่นแนวทางมาร์กซิสนั้น ในแง่หนึ่งก็สะท้อนให้เห็นช่องว่างระหว่างจีนกับโลกตะวันตกโดยเฉพาะในยุคสมัยของสหรัฐฯ ภายใต้การนำของ 'โดนัลด์ ทรัมป์' และโลกหลังยุควิกฤติเศรษฐกิจ 2551 ว่ามีไม่น้อย

นิวยอร์คไทมส์ตั้งคำถามในวาระครบรอบ 200 ปี ว่าแท้ที่จริงแล้วมาร์กซ์ทิ้งอะไรไว้ให้เราบ้าง

'เจสัน เบเคอร์' เขียนไว้ว่า ปัจจุบันมีนักวิชาการหลายคนประเมินงานของมาร์กซ์ไว้แบบไม่ให้คะแนนเลย อย่างไรก็ตาม ยังมีงานเขียนหลายๆ ชิ้นยกให้มาร์กซ์ในเรื่องความถูกต้องในการพยากรณ์เรื่องระบบทุนนิยม สิ่งหนึ่งที่มาร์กซ์พูดเอาไว้คือทุนนิยมมีแนวโน้มจะเกิดวิกฤติ และยิ่งสถาบันในระบบมีความบริสุทธิ์ในเชิงอุดมการณ์ทุนนิ��มมากเท่าไหร่ วิกฤตินั้นก็ยิ่งจะรุนแรงมากขึ้นเท่านั้น

แต่ส่วนของทฤษฎีที่อาจจะไม่ถูกต้องเสมอไป แม้ว่าแรงงานส่วนใหญ่จะถูกเอาเปรียบเพื่อสร้างผลกำไร และเจ้าของทุนจำนวนมากได้ประโยชน์มากมายโดยที่แทบจะไม่ต้องทำอะไรเลย

สิ่งที่น่าสนใจในบทความของเบเคอร์คือ เขาบอกว่า ปัญหาของการอ่านงานของมาร์กซ์ในปัจจุบันคือ มันมีสถานะสูงส่งในสายตาของคนจำนวนหนึ่งที่อ่านงานของเขาราวกับว่าอ่านคำภีร์ตามความเชื่อหรือศาสนา

ส่วนในเยอรมันเอง ประเทศนี้เคยแยกเป็นสองประเทศ เยอรมันตะวันออกที่ยึดระบบคอมมิวนิสต์ และเยอรมันตะวันตกกับระบบทุนนิยม แม้ว่าเยอรมันตะวันออกจะล่มสลาย แต่หลังจากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลกปี 2550 หลายคนที่เคยเติบโตภายใต้แนวคิดมาร์กซิสเริ่มตั้งคำถามกับทุนนิยมอีกครั้งและมีการประเมินคุณค่ามาร์กซิสใหม่เรื่อยๆ แต่พวกเขารู้สึกว่าน่าแปลกที่คนที่นำงานของมาร์กซ์มารำลึกในวันนี้คือคนในเยอรมันตะวันตก

แอลเอไทมส์รายงานว่า สิ่งที่น่าสนใจคือผลการสำรวจความเห็นเมื่อปีที่แล้วโดย Ipsos พบว่า ใน 28 เมืองในเยอรมัน มีจำนวนผู้ที่มีข้อสงสัยกับระบบทุนนิยมและตลาดเสรีค่อนข้างมาก สิ่งที่พวกเขาวิตกคือความเหลื่อมล้ำของฐานะทางเศรษฐกิจกับความยากจนอันเป็นผลพวงของทุนนิยม

แต่ชาวเยอรมันก็มีคำถามหลายอย่างว่าพวกเขาควรจะรับมือกับคาร์ล มาร์กซ์ 200 อย่างไร คำถามมีตั้งแต่ว่า เยอรมันซึ่งเป็นประเทศที่แตกแยกเพราะสงครามเย็นอันเป็นผลพวงความขัดแย้งของคอมมิวนิสต์กับทุนนิยม สมควรไหมที่จะฉลองให้กับบุคคลที่โต้แย้งตลาดเสรีเช่นมาร์กซ์ การแสวงหารายได้จากการท่องเที่ยวในนามของมาร์กซ์เป็นสิ่งที่เหมาะแล้วหรือไม่ และมาร์กซิสจะกลับมาเป็นยารักษาความป่วยจากอาการทุนนิยมในปัจจุบันได้หรือไม่


ที่มา: รอยเตอร์ QUARTZ THE WEEK The Los Angeles Times CNBC