ไม่พบผลการค้นหา
ลุ้นศาลปกครอง ตัดสินคดี We Walk ฟ้องตำรวจ 28 ก.ย.นี้ โดยแกนนำชี้ พิสูจน์รัฐธรรมนูญคุ้มครองคนไทยหรืออยู่ใต้ คำสั่ง คสช.

ศาลปกครอง นัดฟังการพิจารณาคดี ที่กลุ่ม People Go Network ยื่นฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรคลองหลวง ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปทุมธานีและ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย กรณีใช้อำนาจปิดกั้นการชุมนุม อันมีลักษณะเป็นการขัดขวาง คุกคาม ข่มขู่ และทำให้หวาดกลัวต่อการใช้เสรีภาพในการทำกิจกรรม “We Walk เดินมิตรภาพ” จาก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ไป จังหวัดขอนแก่นในช่วงต้นปีที่ผ่านมา เพื่อให้คู่ความได้แถลงต่อศาลด้วยวาจาและรับฟังความเห็นของตุลาการผู้แถลงคดีเพื่อประกอบการทำคำพิพากษา 

โดยกลุ่ม People Go Network ยื่นฟ้องเมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา รวมทั้งเรียกร้องให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ชดใช้ค่าเสียหายต่อการละเมิดเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญจำนวน 100,000 (หนึ่งแสน)บาท ซึ่งศาลปกครองได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษาตั้งแต่เดือนม.ค. จนกิจกรรมเสร็จสิ้น กระทั่งนำสู่การพิจารณาคดีนัดแรกวันนี้ และหลังจากทั้ง 2 ฝ่ายให้การ ซึ่งศาลจะพิจารณาทั้งอำนาจฟ้อง ข้อเท็จจริงการชุมนุมและการขัดขวางของเจ้าหน้าที่ รวมถึง ความเสียหายที่เกิดขึ้นตามคำฟ้องหรือไม่ โดยนัดฟังคำพิพากษาอีกครั้ง วันที่ 28 ก.ย. นี้

ด้านนายสุรชัย ตรงงาม เลขาธิการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม หรือ Enlaw ในฐานะทนายความ กล่าวว่า ทางกลุ่มยืนยันถึงการชุมนุมโดยสงบตามกรอบกฎหมายและรัฐธรรมนูญต่อศาล ซึ่งต้องอยู่เหนือคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.ที่ฝ่ายตำรวจอ้างในการขัดขวางการชุมนุม และเชื่อว่าศาลจะให้ความเป็นธรรม และต้องรอผลพิพากษา ก่อนตัดสินใจอีกครั้งว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อ ส่วนคดีที่ คสช.ฟ้องแกนนำ We walk นั้น อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องแล้ว

ขณะที่นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ แกนนำกลุ่มและหนึ่งในผู้ฟ้องคดี มั่นใจว่า ศาลจะรับว่าประชาชนมีอำนาจฟ้องตำรวจในกรณีนี้ และคดีนี้จะพิสูจน์ว่า ประชาชนจะมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญหรือต้องอยู่ใต้คำสั่ง คสช.กันแน่ พร้อมย้ำว่า การชุมนุมนอกจากเป็นสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญแล้ว ยังเป็นเครื่องมือสำคัญของประชาชนในการแสดงออกและนำเสนอปัญหาด้วย ซึ่งคำสั่ง คสช.ต้องไม่อยู่เหนือรัฐธรรมนูญและความสำคัญในเรื่องนี้