ไม่พบผลการค้นหา
'ศรีสุวรรณ' จี้ 'ประยุทธ์' ปลด รักษาการผู้ว่า รฟท.ที่กำหนดTOR ยกที่ดินมักกะสันเอื้อเอกชนทำรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน ทำรัฐเสียหาย 8.4 หมื่นล้าน

นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยและสมาชิกสหภาพรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้เข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผ่านศูนย์รับเรื่องร้องเรียน สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้นายกฯ สั่งการให้มีการทบทวนและแก้ไขทีโออาร์โครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ที่ส่อมีการทุจริตและประพฤติมิชอบ และสั่งการให้มีการตั้งคณะกรรมการสอบวินัยและสั่งปลดรักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นการเร่งด่วนด้วย

โดยเหตุผลของการเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการสอบวินัยและสั่งปลดรักษาการผู้ว่า รฟท. ก็ด้วยเพราะเงื่อนไขในประกาศเชิญชวนการคัดเลือกเอกชนเพื่อเข้าร่วมการลงทุนในกิจการของรัฐ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน เมื่อ 18 มิถุนายน - 9 กรกฎาคม 2561 ที่ผ่านมา มีลักษณะส่อไปในทางเอื้อประโยชน์ให้เอกชน อันเป็นการใช้อำนาจในทางปกครอง เพื่อกระทำที่ส่อไปในทางทุจริตผิดกฎหมาย และเป็นการประพฤติมิชอบ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 56 ประกอบมาตรา 164(1)(3) อย่างชัดแจ้ง

นอกจากนั้น ยังถือได้ว่าจงใจที่จะประเมินราคาที่ดินบริเวณมักกะสันให้ต่ำกว่าความเป็นจริงถึง 3-4 เท่า เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชน ซึ่งรักษาการผู้ว่าฯ รฟท.ได้เคยแถลงว่าราคาที่ดินมักกะสันตีราคาเพียง 6 แสนบาท/ตรว. แต่ทว่าราคาที่ดินบริเวณใกล้เคียง เช่น ที่ดิน รร.ปาร์คนายเลิศกลับมีการซื้อขายกันถึง ตรว.ละ 1.8 ล้านบาท ที่ดินสถานทูตอังกฤษมีการซื้อขายกัน ตรว.ละ 2 ล้านบาท

หากคำนวณมูลค่าที่ดินของ รฟท.ที่ต้องแบ่งให้โครงการนี้ไป 150 ไร่ หากคิดในราคา ตรว.ละ 2 ล้านบาท จะได้ไร่ละ 800 ล้านบาทมีมูลค่า = 150 x 800 = 120,000 ล้านบาท (หนึ่งแสนสองหมื่นล้านบาท) แต่หากคิดคำนวณในราคาที่ดินตามที่รักษาการผู้ว่า รฟท.เสนอมาในราคาที่ 6 แสนบาท/ตรว. นั้นจะมีมูลค่าที่ดินเพียงไร่ละ 240 ล้านบาท (240 x 150 = 36,000 ล้านบาท) ทำให้รัฐเสียประโยชน์ด้านมูลค่าที่ดินไปมากกว่า 84,000 ล้านบาท (แปดหมื่นสี่พันล้านบาทถ้วน)

ดังนั้นการกำหนด TOR ในกรณีดังกล่าวจะเห็นได้ว่า รัฐจะเกิดความเสียหายเป็นอย่างมาก จนมิอาจยอมรับได้ นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุดฝ่ายบริหาร เมื่อทราบข้อมูลดังกล่าวแล้ว ควรที่จะพิจารณาสั่งให้มีการทบทวน แก้ไขเงื่อนไขการประมูลดังกล่าวเสียโดยเร็ว และขอให้ตั้งคณะกรรมการสอบวินัยและปลด รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในการเขียนหรือกำกับการเขียน TOR ที่ทำให้รัฐเสียหายดังกล่าวเสีย

อย่างไรก็ตามหากนายกฯยังเพิกเฉย สมาคมฯ จะนำความขึ้นร้องต่อ “ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ” และศาลปกครอง เพื่อหาข้อยุติที่เป็นธรรมต่อการรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติต่อไป แม้ในอนาคตท่านจะหมดอำนาจไปแล้วหรือไม่