ไม่พบผลการค้นหา
นายกรัฐมนตรี ประชุม คกก.ขับเคลื่อนการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ตั้งอนุกรรมการ 4 ชุดขับเคลื่อนการบริการประชาชน ,การบริหารราชการแผ่นดิน ,การบริหารจัดการข้อมูล และความมั่นคงปลอดภัย พร้อมขีดเส้น 6 เดือนหน่วยงานรัฐยกเลิกการเรียกสำเนาเอกสารจากประชาชน

วานนี้ (9 มี.ค.61) ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล โดยให้แนวทางขับเคลื่อนประเทศ ทั้งที่เป็นส่วนราชการ ภาคธุรกิจ ประชาชน ด้วยเครื่องมือและเทคโนโลยีดิจิทัลผ่านการบูรณาการ การทำงานและมีการเชื่อมโยงข้อมูลซึ่งกันและกัน และต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ โดย กำหนดโรดแมปที่ชัดเจนในแต่ละขั้น การใช้ดิจิทัลจะเป็นเครื่องมือที่ดีในการตรวจสอบและสร้างความโปร่งใสในการบริหารราชการที่รวดเร็ว อำนวยความสะดวก และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชน และภาคส่วนต่างๆ มากขึ้น

 โดยที่ประชุมเห็นชอบให้มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการ 4 ชุด ได้แก่

1. อนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลด้านการบริการประชาชน เพื่อพัฒนาระบบการให้บริการประชาชนด้วยดิจิทัล ให้เกิดเป็นบริการแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว (One Stop Service)

2. อนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลด้านการบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อพัฒนาระบบบริหารทรัพยากรภายในองค์กรภาครัฐ

3. อนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลด้านการบริหารจัดการข้อมูล เพื่อการตัดสินใจอย่างมีคุณภาพ พัฒนาระบบข้อมูลที่ใช้ในการวางแผนและตัดสินใจของผู้กำหนดนโยบายประเทศ รวมทั้งติดตามประเมินผลการดำเนินงานทุกระดับและทุกมิติ

4. อนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลด้านความมั่นคงปลอดภัย ในโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลภาครัฐ เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลภาครัฐที่มีความมั่นคงปลอดภัย

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมไดักำหนดมาตรการเร่งด่วนที่ดำเนินการได้ทันทีและจะเห็นผลใน 3 เดือน โดยจะต้องมีระบบที่สามารถวิเคราะห์และแสดงความสัมพันธ์และความซ้ำซ้อนของนโยบายต่างๆ และใน 6 เดือน หน่วยงานภาครัฐจะต้องยกเลิกเรียกการเรียกสำเนาเอกสารจากประชาชนในเวลาที่มีการติดต่อหน่วยงานรัฐ เพื่อลดภาระประชาชน และในระยะ 1 ปี จะต้องมีระบบบริหารทรัพยากรภายในองค์กรภาครัฐให้มีการเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานรัฐทั้งประเทศ

อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรี ขอให้คณะกรรมการชุดนี้ เป็นคณะกรรมการกลางในการเชื่อมโยงและบูรณาการข้อมูลที่ไม่ใช่ชั้นความลับ หรือข้อมูลขนาดใหญ่ รวมทั้งจำแนกรูปแบบการทำงานที่สร้างความโปร่งใสอย่างแท้จริง เพื่อมุ่งลดภาระทั้งในแง่ของค่าใช้จ่ายและระยะเวลาของประชาชนด้วยระบบดิจิทัลเป็นหลัก