ไม่พบผลการค้นหา
สนทนากับสาวลูกครึ่งญี่ปุ่นร่างเล็ก ‘ริกะ อิชิเกะ’ เจ้าของฉายา ‘ไทนี ดอลล์’ นักกีฬาศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสานระดับอาชีพ เมื่อเธอต้องเผชิญหน้าดราม่า คำดูถูก และอาการปวดประจำเดือนที่หลายๆ คนอาจไม่เคยเข้าใจ

หลังจากตัดสินใจก้าวเข้าสู่เส้นทางนักสู้เมื่อ 4 ปีก่อน และพัฒนาความสามารถจนกลายเป็นนักกีฬาเอ็มเอ็มเอ (Mixed Martial Arts: MMA) ระดับอาชีพของค่ายใหญ่อย่าง ‘วัน แชมเปี้ยนชิป’ (ONE Championship) สาวลูกครึ่งญี่ปุ่น ‘ริกะ อิชิเกะ’ เจ้าของฉายา ‘ไทนี ดอลล์’ (Tiny Doll) ต้องเผชิญหน้ากับการกอดรัดฟัดเหวี่ยง พันนัวเนียกับคู่ชกบนสังเวียนมวยกรงมาแล้วหลายหน

แม้ภาพการแข่งขันเอ็มเอ็มเอจะแลดูเหี้ยมๆ โหดๆ สักหน่อย ทว่าชีวิตจริงของผู้หญิงร่างเล็ก คาแรคเตอร์เด่น การเป็นสาวสายบู๊อยู่ภายใต้กฎกติกาถือเป็นความท้าทาย และการต่อยอดสกิลการเตะต่อย ขณะเดียวกันการปะทะกับเรื่องดราม่า คำดูถูก และอาการปวดประจำเดือน คล้ายจะเป็นการย้ำเตือนความน่ากลัวของการเป็นมนุษย์นักสู้หญิงไปอีกขั้น

rika.jpg

สิ่งที่ทีมงาน Voice On Being รู้เกี่ยวกับริกะก่อนมาสนทนากันในวันสัมภาษณ์ ส่วนใหญ่เป็นข้อมูลทั่วไปที่หลายๆ คนคงทราบกัน เช่น คุณพ่อของเธอเป็นคนญี่ปุ่น สมัยเด็กเธอชื่นชอบเล่นไอกิโด และคาราเต้ เธอเรียนจบจากสถาบันการบินพลเรือน เพราะความเท่ของยูนิฟอร์มล้วนๆ ก่อนจับพลัดจับผลูเข้าทำงานเป็นเลขาฯ ประจำออฟฟิศอยู่สักพักหนึ่ง กระทั่งลาออกมาพัฒนาตัวเองจนสามารถก้าวขึ้นเป็นนักกีฬาอาชีพสำเร็จตามตั้งใจ

“ตอนแรกไม่ได้คิดหรอกค่ะ ว่าต้องมาเป็นนักสู้อาชีพ แค่อยากซ้อมเอาไว้ป้องกันตัว และออกกำลังกาย แต่ฝึกไปเรื่อยๆ ก็อยากรู้ว่า ตัวเองจะไปไกลสักขนาดไหน เลยลองก้าวเข้าสู่การแข่งขันแบบสมัครเล่นก่อน แล้วสามารถทำได้ จึงตัดสินใจลงแข่งขันเป็นอาชีพ จากนั้นก็เป็นนักกีฬาอาชีพมาตลอดเลย” ระกิเล่าความเป็นมา

ปัจจุบันริกะอายุ 29 ปี แม้เธอจะเป็นนักกีฬาอาชีพมาเพียงปีกว่าๆ ทว่าหากนับรวมระยะเวลาการบ่มเพาะฝีมือการชก เธอคลุกคลีกับมวยกรงมานาน 4 ปีแล้ว และเธอยังบอกด้วยว่า การเริ่มต้นฝึกซ้อมกีฬาเอ็มเอ็มเอเปลี่ยนชีวิตของผู้หญิงธรรมดาๆ คนหนึ่งไปตลอดกาล

“จากเดิมริกะเป็นคนขี้เกียจ ไม่มีระเบียบวินัย แต่การเป็นนักกีฬาอาชีพมันแตกต่างจากการซ้อมทั่วๆ ไปมาก เราต้องมีระเบียบวินัยมากขึ้น รักตัวเองมากขึ้น ดูแลตัวเองมากขึ้น และพยายามพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ เพราะถ้าวันนี้ขี้เกียจซ้อม วันชกจริงจะลำบากแน่นอน ริกะคิดว่ายิ่งเสียเหงื่อมากขนาดไหน บนเวทีก็จะเสียเลือดน้อยขนาดนั้น”

rika2.jpg

หากดูจากสถิติการแข่งขัน ริกะไม่เคยบาดเจ็บอะไรหนักๆ ขั้นแตกหักเลยสักครั้ง โดยล่าสุดเมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เธอเพิ่งปรากฎตัวพร้อมชุดเมดแสนหวาน ก่อนเอาชนะน็อค โบเซน่า อันโตนิยาร์ (Bozhena Antoniyar) ดีกรีแชมป์สองสมัยจากเมียนมาร์ไปได้ในยกแรก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น บนสังเวียนการแข่งขันทุกการแพ้ชนะนับเป็นบทเรียนสอนชีวิตเธอเสมอ

“เมื่อเกิดการแข่งขันกันทุกคนต้องอยากชนะอยู่แล้ว สำหรับริกะการชนะเป็นเรื่องดี แต่การพ่ายแพ้ก็เป็นเรื่องดีเช่นกัน มันเป็นเรื่องดีทั้งสองแบบ เพราะหนึ่งคือ ริกะทำเต็มที่แล้ว บางครั้งฝ่ายตรงข้ามอาจทำดีกว่า แล้วสองคือ ริกะเรียนรู้จากการพ่ายแพ้ว่า ตัวเองยังขาดตรงไหน ต้องเพิ่มอะไร เวลาแพ้ริกะไม่มีเวลามานั่งเสียใจ ไม่เคยร้องไห้ เพียงแค่คิดว่า ตัวเองอาจจะทำได้ไม่ดีพอ เอาใหม่ ไม่เป็นไร กลับไปซ้อมใหม่ แล้วก็เริ่มต้นใหม่” เธอเล่าเรื่องราวของตัวเองด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม 

แน่นอนว่า ตั้งแต่เข้ามาคลุกคลีในแวดวงการต่อสู้ ทุกแมตช์การแข่งขันของริกะ เธอมักเปิดตัวพร้อมการแต่งกายคอสเพลน่ารัก ทั้งโกไคพิงค์จากขบวนการโจรสลัดโกไคเจอร์ และชุนลีตัวละครจากสตรีทไฟท์เตอร์ ที่ทำให้หลายคนจดจำ ขณะเดียวกันมันก็กลายเป็นจุดขายของเธอไปแล้ว

rika3.jpg

เมื่อเราทุกคนต้องเจอดราม่า

ถึงตรงนี้ แม้ริกะจะโด่งดังน่าจับตามอง กลายเป็นไอดอลสาวผู้บุกยึดโลกออนไลน์ เห็นเธอถ่ายแบบ ถ่ายโฆษณา และออกรายการโทรทัศน์เยอะขั้นเรื่อยๆ ทว่าเธอเน้นย้ำเสมอว่า รวมๆ แล้วเธอก็ยังเป็นคนเดิม อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่สาวลูกครึ่งญี่ปุ��นเลี่ยงไม่ได้คือ คำวิจารณ์ต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องภาพลักษณ์ภายนอก ที่บรรดาแอนตี้แฟนต่างคอมเมนต์กันว่า ก็แค่สวยไปวันๆ

“ประเด็นดูถูก ดราม่า มีอยู่แล้วค่ะ ทุกคนในโลกต้องเจอ ต่อให้เป็นแชมป์โลก ครองเข็มขัดกี่เส้นก็ตาม ทุกคนต้องโดนดูถูกอยู่แล้ว อย่างของริกะคือ สวยไปวันๆ หรือเปล่า, ชกไม่เห็นดีเลย, เล่นเป็นแต่ท่านอนอย่างเดียว, ปล้ำเป็นอย่างเดียว ก็เป็นธรรมดา ซึ่งริกะไม่ค่อยเก็บมาเครียด แต่เก็บมาเป็นแรงผลักดันมากกว่า ถ้าทำได้ไม่ดีต้องพัฒนาตัวเองให้ดียิ่งขึ้น ท้ายที่สุดพวกเขาก็จะว่าเราไม่ได้ แต่สุดท้ายแล้วคนก็ต้องมีอะไรให้ว่าอยู่ดี 

“ริกะยอมรับว่า บางทีก็อยากให้ทุกคนช่วยมองตรงความสามารถกันบ้างได้ไหม แต่ก็กลับมานั่งคิดอีกด้วยว่า เฮ้ย! หรือเราอาจจะยังทำได้ไม่ดีพอหรือเปล่า ส่วนตัวริกะเชื่อเสมอว่า สักวันหนึ่งถ้าเกิดเราทำได้ดีมากขึ้น เขาจะเลิกมองส่วนของรูปร่าง หรือภาพลักษณ์ภายนอก แล้วกลับมามองที่ความสามารถแท้จริง

“หลายคนอาจจะบอกว่า ริกะมาได้ง่ายๆ แต่จริงๆ แล้วไม่มีอะไรง่ายหรอกค่ะ คือถ้าเราไม่พร้อมคงไม่มีใครหยิบยื่นโอกาสให้ เราต้องทำตัวเราเองให้พร้อมก่อน ริกะคิดว่าตัวเองก็พร้อมระดับหนึ่งในการเข้ามาอยู่จุดนี้” ริกะบอกความในใจพร้อมฉีกยิ้มสังหารของเธออีกครั้ง

ในสังคมไทย คนส่วนใหญ่ยังคงติดอยู่กับมายาคติว่า ผู้หญิงต้องเป็นเพศที่นุ่มนวลอ่อนแอ ดังนั้น เราจึงถามริกะเกี่ยวกับมุมมองเรื่องดังกล่าว ซึ่งส่วนตัวเธอยอมรับว่า มันเป็นเรื่องจริงถ้าผู้หญิงคนนั้นทำตัวอ่อนแอ แต่จริงๆ แล้วมีผู้หญิงเข้มแข็งเยอแยะ คือผู้หญิงบางคนอาจจะไม่ได้เป็นนักสู้ แต่เป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว ดูแลครอบครัวด้วยตัวเองคนเดียว นั่นคือความแข็งแกร่งของผู้หญิงในสายตาริกะ

rika4.jpg

เรื่อง 'ประจำเดือน' ที่หลายคนไม่เข้าใจ

ริกะเปิดใจกับเราว่า บางครั้งการฝึกซ้อมทำให้เธอรู้สึกเหนื่อยมาก ต้องการกำลังใจ แต่เมื่อกำลังใจไม่พออาจเซนซิทีฟบ้าง โดยเฉพาะช่วงเป็นประจำเดือน การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนก็ส่งผลต่อความเซนซิทีฟ ทว่าหลายๆ คนไม่ค่อยเข้าใจ

“เรื่องช่วงนั้นของเดือนเป็นปัญหาใหญ่มากๆ ของริกะปัญหาหนึ่งเลยก็ว่าได้ เพราะผู้หญิงบางคนเวลาเป็นประจำเดือน บางคนจะปวดท้องมาก บางคนปวดท้องน้อย บางคนไม่ปวดเลยสบายๆ แต่สำหรับริกะค่อนข้างจะเป็นหนัก คือจะปวดท้องมาก ถ้าไม่ได้ทานข้าวจะแบบมีอ้วกเป็นลมเลยก็ว่าได้

“ฉะนั้นช่วงที่เป็นประจำเดือนก็ต้องพยายามซ้อมน้อยลงพยายามหากิจกรรมอย่างอื่น หรือพยายามซ้อมอะไรที่มันเบาๆ ไม่สามารถซ้อมหนักเหมือนคนอื่นๆ ได้ ก็เป็นปัญหาหนึ่งเหมือนกันที่แบบโดนโค้ชว่าเหมือนกัน แต่เขาไม่เข้าใจเรา เลย (เน้นเสียง)”

ริกะบอกต่อด้วยว่า วันที่มีการแข่งขันเธอเคยเป็นประจำเดือนถึง 3 ครั้งด้วยกัน แต่ช่วงเวลานั้นเธอพยายามโฟกัสในสิ่งที่ซ้อมมาทั้งหมด ไม่โฟกัสกับร่างกายเท่าไหร่ ซึ่งการเป็นประจำเดิือนส่งผลบ้างเล็กๆ น้อยๆ แต่ไม่ถึงขนากกำหนดว่า แมตช์นั้นจะชนะ หรือแพ้

จากนั้น เมื่อถามเรื่องไลฟ์สไตล์ของริกะบอกว่า ปกติ 1 สัปดาห์ต้องทุ่มเทเวลาให้กับการฝึกซ้อม 6 วัน โดยแบ่งเป็น 2 รอบคือ เช้า และเย็น ทั้งซ้อมเทคนิคใหม่ๆ และลงนวมกัน 2 ครั้ง/สัปดาห์ หรือต่อยกันจริงๆ เลย ต่อด้วยการคอนดิชั่นนิ่งร่างกายประมาณ 2 ครั้ง/สัปดาห์ ชีวิตวนๆ ไปเรื่อยๆ

rika5.jpg

เอ็มเอ็มเอไม่ใช่กีฬาป่าเถื่อน

ตลอดชีวิตการเป็นนักชกอาชีพ เป้าหมายอย่างหนึ่งที่หญิงสาวต้องการเปลี่ยนแปลงคือ ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเอ็มเอ็มเอ เพราะเธอมองว่า จริงๆ แล้วเอ็มเอ็มเอไม่ใช่กีฬาป่าเถื่อน และมันกำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ

“จริงๆ แล้วกีฬาเอ็มเอ็มเอไม่ได้ดูโหดร้าย ป่าเถื่อน ฝึกเอาไว้ป้องกันตัวก็เป็นประโยชน์ อย่างกรณีผู้ชายไม่ได้มีศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวเลย ไม่ได้เล่นกีฬาเลย มันมีโอกาสที่ผู้หญิงไซส์เล็กๆ อย่างริกะจะสามารถล้มเขาได้ อาจจะอยู่รอดปลอดภัยถ้าเกิดเขามาทำร้ายเรา อีกอย่างหนึ่งคือ กีฬาเอ็มเอ็มเอไม่ได้กำหนดอายุ กำหนดเพียงน้ำหนัก เพื่อให้สู้กันอย่างสูสี ซึ่งในรายการวันแชมเปี้ยนชิปเคยมีแชมป์อายุ 40 ปี เขาชนะคนที่อายุ 20-30 ปี เพื่อก้าวมาเป็นแชมป์ได้

“ความฝันในอนาคตของริกะก็อยากจะทำหน้าที่บนเส้นทางนักสู้ให้ดัที่สุด ไปให้ได้ไกลที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ จนกว่าร่างกายจะไม่ไหว หลังจากนั้น อยากสงเสริมให้นักกีฬารุ่นๆ ต่อไป น้องๆ อาจจะเป็นนักมวยไทยผู้หญิง หรือใครที่สนใจอยากจะมาเป็นนักชกเอ็มเอ็มเอ เราอยากจะผลักดันเขา หรือถ้ามีโอกาสก็อยากจะจัดการแข่งขันเอง หรือว่าส่งนักกีฬาไปแข่งขันต่างประเทศ” ริกะทิ้งท้ายก่อนจากกัน

On Being
198Article
0Video
0Blog